‘อีคิว’ ส่วนผสมความสำเร็จในชีวิต แนะวิธีกระตุ้นเด็กอารมณ์ดี

ผลวิจัยจาก Pennsylvania State University และ Duke University ชี้ตรงกันว่าหากเด็กคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในอนาคต นอกจากความความฉลาดทางสติปัญญา (ไอคิว) แล้ว ต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ด้วย โดยค้นพบว่เด็กที่มีความสามารถในการเข้าสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ช่วยเหลือผู้อื่นเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง มีแนวโน้มที่จะเรียนจบระดับปริญญาและมีงานประจำภายในอายุ 25 ปี มากกว่าเด็กที่มีความสามารถทางสังคมจำกัด

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า การที่คนเราจะมีลูกที่อารมณ์ดี สมองดี และมีความเฉลียวฉลาด มีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ กรรมพันธุ์ โภชนาการแม่ขณะตั้งครรภ์และของลูกภายหลังคลอด และสิ่งแวดล้อม ขณะที่พ่อแม่สามารถกระตุ้นอีคิวของลูกด้วยการปฏิบัติง่ายๆ อาทิ

วัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ต้องตอบรับกับสิ่งที่ลูกต้องการให้ทันท่วงที เช่น หากรู้ว่าลูกร้องไห้หิวนม ก็ต้องให้นม หรือร้องเพราะตกใจ ต้องได้รับการปลอบประโลม นอกจากนี้ให้หมั่นพูดคุยกับลูก ให้ลูกรู้จักสื่อสารโต้ตอบ และสร้างความอุ่นใจให้ลูก

วัย 6 เดือนถึง 1 ปี ส่งเสริมให้เด็กรู้จักอดทนรอคอย มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง เช่น เมื่อลูกร้องหิวอาจยังไม่ต้องให้นมทันที แต่ให้อดทนรอได้เล็กน้อยระหว่างคุณแม่เตรียมตัวให้นม หรือเรียนรู้การคงอยู่ของสิ่งต่างๆรอบตัว ผ่านการเล่นจ๊ะเอ๋ หรือเล่นซ่อนแอบหลังผ้า เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้หายไป แต่จะกลับคืนมา อีกทั้ง เมื่อเด็กได้ยิ้มได้หัวเราะ ก็เป็นการสร้างอารมณ์ที่ดี และพัฒนาสร้างความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพ่อและแม่

Advertisement

วัย 1 ปีขึ้นไป เด็กเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เด็กสามารถเดิน ทรงตัว กิน และควมคุมตัวเองได้มากขึ้น ควรให้เด็กได้พัฒนาตัวเองผ่านความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง เพราะเป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้เรียนรู้และพัฒนาต่อยอดไปยังทักษะที่ยากขึ้น

และวัยอายุ 3 ปีขึ้นไป เริ่มเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสังคมอื่นนอกจากผู้คนคุ้นเคยในบ้าน การให้เขาได้มีโอกาสเล่น ทำกิจกรรม ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นทุกเพศทุกวัย เป็นการส่งเสริมและต่อยอดทักษะทางด้านสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านให้กับเด็กๆ การส่งเสริมพัฒนาการเหล่านี้ จะทำให้เด็กมีความสามารถที่มากขึ้น มีสมาธิจดจ่อนานขึ้น ควบคุมตัวเองได้ดีไม่ก้าวร้าว และมีอารมณ์ดี ไม่ห่วงกังวลกับการเข้าสังคม

เริ่มต้นเพื่อความสำเร็จ

Advertisement

 

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image