‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ กางโรดแมป ‘ปชป.-กปปส.’ รับศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

หมายเหตุ – นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ มติชน ถึงประเด็นที่อดีตคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลับเข้าพรรค รวมทั้งทิศทางของพรรค ภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป

– แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นการปฏิรูป

หลังการเข้าหารือกับ กปปส.แล้วเรื่องหลักคือ เราต้องดูทิศทางอนาคตของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่า คสช.จะทำงานปฏิรูปหรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่นั้นไม่ใช่การปฏิรูปในเชิงหลักการนามธรรมเพียงอย่างเดียว แต่มันต้องเป็นการปฏิรูปเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร เรื่องใหญ่ 2 เรื่องที่เป้าหมายการปฏิรูปไปให้ถึงคือ 1.การแก้ปัญหา

ทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และ 2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นที่ไม่สามารถแก้ได้โดยนโยบายลด แลก แจก แถม แต่ต้องเป็นการปรับโครงสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เราเชื่อว่า เมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย จะมีโอกาสแก้ไขได้ง่ายขึ้น เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องการเรื่องความโปร่งใส สิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้คือเรื่องใหญ่กว่าเรื่องอื่นๆ

Advertisement

ทุกวันนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะในชนบท และผู้มีรายได้น้อย คนยากจน ขณะเดียวกันตัวโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเองที่รัฐบาลพูดถึงนโยบาย 4.0 ก็เป็นการยอมรับว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างกันครั้งใหญ่ แต่ในขณะที่รัฐบาลมี นโยบายดังกล่าว ยังมีหลายเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเป้าหมายที่จะให้ไปถึง 4.0 เพราะเราจะไปถึง 4.0 ได้ ต้องกระจายอำนาจ มีแนวทางในการช่วยธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ปรับระบบเกี่ยวกับเรื่องของการระดมทุนให้กับธุรกิจ ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ เนื่องจากธุรกิจสมัยใหม่หลายธุรกิจขณะนี้ยังผิดกฎหมายอยู่

ที่บอกว่าจะเป็นโอกาสในอนาคตหลังการเข้าสู่การมีประชาธิปไตย มองเรื่องสูตรการจัดตั้งรัฐบาลกับรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นไปในทิศทางใด

ยืนยันว่า การพูดถึงสูตรการจัดตั้งรัฐบาลโดยยังไม่ดูผลการเลือกตั้ง และยังไม่ได้ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เราต้องดูก่อนว่าประชาชนจะแสดงเจตนารมณ์อย่างไรในการเลือกตั้ง วันนี้ยังไม่ทราบได้ว่าใครจะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง และใครได้คะแนนนิยมเท่าไหร่ ยังไม่ทราบว่าใครหาเสียงว่าอย่างไร และจะให้มาบอกว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลด้วยสูตรต่างๆ ผมว่ามันขัดกันกับเจตนารมณ์ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

Advertisement

ทั้งนี้ เรายังมีปัญหาเรื่องที่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอว่า ในสภาผู้แทนราษฎรหากใครรวบรวมเสียงข้างมากได้เกินกว่า 250 เสียง ผมคิดว่าต้องเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพเจตนารมณ์นั้น เพราะว่าถ้าสภาผู้แทนฯรวบรวมเสียงได้เกิน 250 แต่ ส.ว.จะไปฝืนเจตนารมณ์ หรือจะพยายามไม่ให้เสียงถึง 375 เสียง เพื่อที่จะไม่ให้เจตนารมณ์ในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ ผมคิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จะขัดกับเป้าหมายของการปรองดอง เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า การจัดตั้งรัฐบาลต้องมาจากการรวบรวมเสียง 250 เสียงในสภาผู้แทนฯ

– การจะทำให้สภาผู้แทนฯได้เสียงถึง 250 เสียง พรรคการเมืองจะต้องมีการจับมือกันหรือไม่

ไม่ทราบว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จะพูดล่วงหน้าไม่ได้ เรื่องตัวเลขเป็นเรื่องที่ประชาชนจะให้มา ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดการณ์ในแต่ละพรรค โดยที่ไม่รู้ว่าประชาชนจะว่าอย่างไร แบบนี้เป็นไปไม่ได้ ส่วนการจับมือ 250 เสียง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น การจะจับมือกับใคร ต้องดูว่าอุดมการณ์กับนโยบายตรงกันหรือไม่ การจะไปบอกล่วงหน้าว่าพรรคการเมืองจะไปจับมือกันโดยยังไม่ทราบผลการเลือกตั้ง จะยิ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องผลประโยชน์ ผมคิดว่าประชาชนไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนี้

– แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย (พท.) เห็นได้ชัดว่าอุดมการณ์ไม่ตรงกัน

ที่ผ่านมาพรรค พท. มีปัญหาในเรื่องที่ว่า เป็นพรรคการเมืองที่ถูกครอบงำโดยผลประโยชน์ของครอบครัวหนึ่ง ถ้าพรรค พท. สลัดตรงนี้ไม่พ้น ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่พรรค ปชป.จะไปจับมือ

– การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคจะหมดวาระภายในสิ้นปีนี้ พรรค ปชป.จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คาดว่ากฎหมายพรรคการเมืองจะต้องออกมาเร็วๆ นี้ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปแน่นอน ซึ่งผลการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็ต้องว่ากันไปตามข้อบังคับพรรค ปชป.เป็นพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะไปปิดกั้นไม่ให้มีการแข่งขันกันเรื่องการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค


– ถ้าการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคมีคนเสนอชื่อคนอื่นมาเป็นหัวหน้าพรรค แล้วมติพรรคสนับสนุน

คนนั้นก็ต้องเป็นหัวหน้าพรรค ผมก็ต้องยอมรับกติกา แต่ขณะนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีใครเสนอตัว และที่สำคัญสมาชิกหลายๆ ท่านก็ยังยืนยันสนับสนุนให้ผมทำงานต่อ ยกตัวอย่าง ในการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรครั้งก่อน ก็ไม่มีใครบอกผลได้จนนาทีสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ในด้านหนึ่งทุกคนตระหนักดีว่า 3 ปี หลังการรัฐประหาร พรรคการเมืองต่างๆ ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าถูกดิสเครดิต ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงมาจากความล้มเหลวของการเมืองในอดีต ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็โดยผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะทำงานให้กับประเทศ และมาติดขัด หรือติดหล่มกันอยู่แต่เรื่องภายใน ผมว่าพลังในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและส่วนรวมก็จะไม่มี สมาชิกพรรคทุกคนต้องการเห็นความแข็งแกร่งของพรรคในการลงสนามเลือกตั้งมากกว่า ถ้าพูดกันตรงๆ เรื่องที่เป็นเรื่องภายในของนักการเมืองในวันนี้ ผมคิดว่าประชาชนมองว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง แต่ประชาชนเขาอยากให้การเมืองสนใจในเรื่องของเขามากกว่า วันนี้ที่เราเตรียมตัวคือ ไปแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด

– ปัญหาเรื่องความแข็งแกร่งภายในพรรคและหอกข้างแคร่กับ กปปส.วันนี้จบหรือยัง

ผมไม่เคยรู้สึกว่าเป็นประเด็นรุนแรงอะไร เพราะว่าผมเติบโตมากับพรรคที่มีความหลากหลายในความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็คิดว่า 70 กว่าปีของพรรคมีบทเรียนมาเยอะ และสังเกตว่าอย่างน้อยที่สุดช่วงที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคมา 12 ปี แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่ท้าทายพรรคมากๆ และมีเรื่องยากๆ ให้ต้องตัดสินใจ รวมทั้งการที่มีคนเห็นไม่ตรงกัน แต่ในที่สุดทุกคนเคารพกติกาและความเป็นสถาบันของพรรค ผมก็ย้ำเสมอว่า หัวหน้าพรรคจะเป็นใคร คณะกรรมการบริหารพรรคจะเป็นใคร อย่างไรก็ตาม แต่อุดมการณ์ของพรรคจะต้องเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไม่มีปัญหาภายในอะไรที่จะจัดการไม่ได้ ทุกอย่างจัดการได้ เพราะมีกฎกติกา มีความเป็นสถาบันที่จะจัดการ

– ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์แพ้จะรับผิดชอบอย่างไร จะลาออกหรือไม่

ผมลาออกทุกครั้งที่แพ้เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทุกครั้งเรามีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน ก็เหมือนกับทุกองค์กรที่มีการกำหนดเป้าหมาย ถ้าผู้นำองค์กรไม่สามารถนำองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ ก็ต้องรับผิดชอบ อย่างในปี 2554 ผมก็บอกว่าถ้าพรรคได้ ส.ส.น้อยลง ผมต้องรับผิดชอบ พอได้น้อยลงผมก็รับผิดชอบ นอกจากนั้นในปี 2550 พอแพ้การเลือกตั้งก็มีการมาหารือกันภายในพรรค มาปรับโครงสร้างพรรคและเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรค และในปี 2554 ก็ลาออกเลย ผมบอกว่าผมจะไม่เข้ามาทำงานที่พรรคเลย 7 วัน แต่ให้สมาชิกพรรคเขาไปคิดกันว่าจะเอาอย่างไร แต่สุดท้ายสมาชิกพรรคเขาก็บอกว่า ยังสนับสนุนผมให้ทำงานอยู่ แต่ก็ยังแปลกใจที่บางคนมาบอกว่า แพ้เลือกตั้งมาแต่ทำไมยังไม่ลาออก แสดงว่าเขาไม่ได้ดูประวัติศาสตร์

แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าผมไม่ทราบว่าจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะผมไม่ได้คิดเรื่องแพ้ แต่คิดถึงเรื่องชนะ เพราะเรื่องชนะเป็นเรื่องภาระใหญ่กว่าเยอะ ต้องแบกความรับผิดชอบในการบริหารบ้านเมือง

ยืนยันว่าวันนี้ได้บอกกับสมาชิกพรรคชัดเจนว่า เป้าหมายก็คือ เดินเข้าหาประชาชน พิสูจน์ให้เห็นว่าเราเป็นที่พึ่งที่หวังในการแก้ปัญหาของเขาได้ เพื่อให้เขามาสนับสนุนเราให้มากที่สุดในการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องคิดเรื่องอื่นเลย

พรรค ปชป.มีแนวทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว คือถ้าพรรค ปชป.ได้เป็นรัฐบาลจะไม่ทำให้เกิดการใช้อำนาจที่มิชอบ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขัดแย้งในบ้านเมืองอีก เรามีประสบการณ์เรียนรู้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

– อย่างนั้นบอกได้หรือไม่ว่า ถ้าพรรค ปชป.ได้เป็นรัฐบาลแล้วประเทศไทยจะไม่มีการรัฐประหาร

ผมคิดว่าเราจะมีภูมิคุ้มกัน คำว่าภูมิคุ้มกันไม่ใช่แค่ประชาธิปัตย์ แต่เราจะไม่ทำให้ตัวระบบการบริหารประเทศมันรวน อย่างครั้งที่แล้วผมพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า ถ้าไม่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่มีรัฐประหาร พรรค ปชป.ได้เป็นรัฐบาล จะไม่มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร ทุกวันนี้พรรคก็นั่งทบทวนทั้งความล้มเหลว และความสำเร็จในอดีต ว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งก็มีจุดอ่อนในอดีต แต่เราก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอดีต ผมก็อยากให้พรรค พท.ไปทบทวนจุดแข็งและจุดอ่อนของเขาด้วย ซึ่งจุดแข็งเขามีอยู่แล้วคือ การชนะการเลือกตั้ง แต่จุดอ่อนของเขาคือ เมื่อเขาชนะการเลือกตั้งแล้วทำไมจึงไปใช้อำนาจในทางที่มิชอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image