สงครามเกาหลี..มีอีกไหม : โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้บีบคั้นเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่ยังใช้ระบบคอมมิวนิสต์อย่างเคร่งครัดในการปกครองประเทศ บวกกับระบบการสืบทอดอำนาจตามสายเลือดเหมือนกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งน่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบ “ทรราช” ที่หลงเหลืออยู่แห่งเดียวในโลก เพราะประเทศคิวบาก็ได้ผ่อนคลายความเคร่งครัดของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ลงไปมาก

การที่เกาหลีเหนือละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ห้ามประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรี มีและทดลองระเบิดปรมาณู แต่เกาหลีเหนือไม่ฟังเสียง ได้มีการทดลองระเบิดปรมาณู ซึ่งทำความเดือดร้อนเคียดแค้นให้กับสหรัฐเป็นอันมาก

ความจริงแล้วถ้าจะให้ยุติธรรม ประเทศที่มิใช่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ก็มีหลายประเทศที่มีและเคยทดลองระเบิดนิวเคลียร์ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ยูเครน รวมทั้งอิหร่าน แต่อเมริกาก็ใช้นโยบายนิ่มนวล ไม่แข็งกร้าวอย่างที่ใช้กับเกาหลีเหนือ เป็นการใช้ 2 มาตรฐานในเรื่องนี้ของสหประชาชาติ

หลายฝ่ายใจไม่ดีเกรงว่าวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีจะนำไปสู่สงครามโลก หรืออย่างน้อยก็เป็นสนามประลองกำลังรบระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐในนามของสหประชาชาติ เหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1953 หรือปี 2496 ซึ่งกองทัพไทยก็เข้าร่วมรบอยู่ด้วย มีชื่อเสียงในความกล้าหาญเป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชม จนมีเพลงรักเกิดขึ้นหลายเพลงระหว่างทหารไทยกับสาวเกาหลี

Advertisement

ไม่มีใครรู้ได้ว่าสงครามเกาหลีรอบ 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วจะนำไปสู่สงครามโลกหรือไม่ จะหวังพึ่งสหประชาชาติก็คาดหวังอะไรไม่ได้มาก เพราะสหประชาชาติเคยล้มเหลวมาแล้วในกรณีนี้ ดังนั้น ก็ต้องลองใช้วิชารัฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าสงครามในโลกสมัยใหม่นี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่

โลกเราเคยหวังว่าสงครามจะไม่เกิดถ้าโลกมี “ดุลแห่งอำนาจ” หรือ “balance of power” ถ้าคู่ขัดแย้งสามารถสร้างสมอำนาจทางทหาร ซึ่งสนับสนุนกองกำลังทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยพลังทางเศรษฐกิจแล้วสงครามก็จะไม่เกิด เพราะแต่ละฝ่ายไม่มั่นใจว่าตนเองจะเป็นฝ่ายชนะสงครามหรือไม่ ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่แน่ใจว่าตนเองจะชนะสงคราม ทฤษฎีความเชื่ออันนี้ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามสะสมอาวุธ พัฒนาอาวุธเพื่อให้ทัดเทียมกัน อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นฝ่ายหนึ่ง กับเยอรมนีและอิตาลีอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในที่สุดสงครามโลกก็เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็นึกเอาว่าตนมีอำนาจสูงกว่าอีกฝ่ายและสามารถจะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามได้สร้างมหาอำนาจเป็นพันธมิตรกันคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และรวบรวมยุโรปตะวันตกทั้งหมดเป็นฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่มีสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน พอเกิดสงครามเกาหลีเมื่อปี 1953 เกาหลีเหนือซึ่งมีจีนหนุนหลังได้เข้าตีเกาหลีใต้ เข้าถึงเมืองปูซานและจวนจะตีได้หมดทั้งคาบสมุทรเกาหลี จนสหรัฐต้องส่งกองทัพเรือที่ 7 โดยนายพลแม็ก อาเธอร์ นำกองทัพสหรัฐตีโต้กลับและจะตีข้ามแม่น้ำยาลูเข้าไปในจีน ซึ่งเป็นการขัดคำสั่งประธานาธิบดีทรูแมนของสหรัฐ ประธานาธิบดีสหรัฐจึงสั่งปลดแม่ทัพอเมริกันซึ่งชนะสงครามเกาหลี เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องยืนยันระบอบการปกครองของสหรัฐอีกครั้งหนึ่งว่า กองทัพสหรัฐต้องอยู่ใต้การบังคับบัญชาของประธานาธิบดี จะขัดขืนประธานาธิบดีไม่ได้ แม้ว่าในขณะนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ก็ตาม แต่จีนก็มีทหารที่สามารถเกณฑ์ได้เป็นจำนวนหลายล้านคน ซึ่งอเมริกายังต้องคิดหนักแม้ว่าตนจะมีระเบิดนิวเคลียร์ แต่จีนมีทหารเกณฑ์เป็นจำนวนมาก ประธานาธิบดีจึงสั่งให้ถอยและนำไปสู่การเจรจาแบ่งเกาหลีเป็น 2 ประเทศ โดยขีดเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่ง

Advertisement

มาถึงยุคนี้เกาหลีเหนือคงจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปพอสมควร สหรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย จึงสนับสนุนให้เกาหลีเหนือเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เท่ากับรับรองว่าเกาหลีมี 2 ประเทศ ซึ่งไม่ใช่จีนหรือเวียดนามที่ประกาศมีประเทศเดียว

ระยะหลังเป็นที่ยอมรับกันว่าเกาหลีเหนือมีศักยภาพเพียงพอในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าเข้าสู่ความขัดแย้งของยุคนิวเคลียร์ สงครามก็อาจจะไม่เกิดตามทฤษฎีดุลแห่งความกลัว หรือ “balance of terror” ของศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ Henry Kissinger ที่เชื่อว่าสงครามโลกระหว่างมหาอำนาจจะไม่เกิด เพราะแต่ละฝ่ายมีความเกรงกลัวอีกฝ่ายหนึ่งจะสร้างความเสียหายบาดเจ็บล้มตายกับฝ่ายตนอย่างมหาศาล สหรัฐซึ่งเป็นชาติที่ขี้ขลาดที่สุด จึงพยายามทำสงครามนอกประเทศเสมอมา เช่น ในตะวันออกกลาง ในยุโรปหรือเอเชีย จะไม่ยอมทำสงครามในประเทศตนเป็นอันขาด อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างว่าญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ก่อน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมาถึง 70 ปี ศักยภาพของการทำลายล้างโดยอาวุธนิวเคลียร์แพร่กระจายออกไป สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทุกประเทศมีระเบิดนิวเคลียร์ ประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกถาวรของสหประชาชาติ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ยูเครน อิหร่าน รวมทั้งเกาหลีเหนือก็มี เกาหลีใต้ก็พยายามจะมี แม้ทฤษฎีที่ว่าสงครามไม่เกิดเพราะทุกฝ่ายก็เกรงกลัวความหายนะถ้าหากสงครามโลกเกิดขึ้น ตามที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดเอาไว้ว่า ถ้าเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 อันเป็นสงครามนิวเคลียร์ อารยธรรมของโลกคงถูกทำลายหมด มนุษย์ก็คงสร้างอารยธรรมกันใหม่ สงครามโลกครั้งที่ 4 มนุษย์ต้องใช้ก้อนหินรบกัน

แสนยานุภาพทางทหารที่ปิดล้อมคาบสมุทรเกาหลี เราเห็นแต่ภาพที่สหรัฐนำออกมาแสดง ส่วนภาพจรวดที่เกาหลีเหนือทำการทดลองก็เป็นภาพที่สหรัฐนำออกมาแสดง ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ อาจเป็นข่าวเท็จที่สหรัฐสร้างขึ้น เช่นที่ว่าอิรักมีอาวุธทำลายล้างที่รุนแรง ทั้งๆ ที่ไม่จริงก็ได้ แต่อิรักก็แหลกลาญไปแล้วโดยน้ำมือของสหรัฐ

แต่ดุลแห่งความกลัวมิได้เกิดจากเกาหลีเหนือฝ่ายหนึ่งกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เท่านั้น แต่เกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นที่ต้องอยู่ฝ่ายเกาหลีเหนือแน่นอนถ้าสหรัฐบุกเกาหลีเหนือ เพราะเกาหลีเหนือเป็นรัฐกันชนและมีความสำคัญกับจีนมาก เช่นเดียวกับคิวบาที่มีความสำคัญกับสหรัฐ ทฤษฎีรัฐศาสตร์ยังกล่าวไปถึงการรวมกลุ่มเพื่อความมั่นคงร่วมกัน หรือ collective security ซึ่งมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย เพราะมีการลดภาษีระหว่างกันเพื่อกีดกันประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม

การรวมกลุ่มอาจจะรวมกันด้วยพื้นที่ เช่น การรวมกลุ่มของประเทศอเมริกาเหนือ อันได้แก่ สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มของประเทศในยุโรปตะวันตก อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะอ้างว่าเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาไปสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจ แต่บทบาทสำคัญของอาเซียนก็เป็นเรื่องการรวมกลุ่มทางการเมืองซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมกลุ่ม การรวมกลุ่มของภูมิภาคเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันทางการค้าและการลงทุนของประเทศในกลุ่ม เป็นการเสริมสร้างดุลแห่งความกลัวและดุลแห่งอำนาจในระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น การเกิดกลุ่มต่างๆ ในโลก การมีสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกัน การมีความมั่นคงร่วมกัน ล้วนเป็นการสร้างดุลแห่งอำนาจและดุลแห่งความกลัวรวมๆ กันไปจนยุ่งกันไปหมด เพราะประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย อย่างประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา นอกจากจะเข้ารวมกลุ่มเป็นพันธมิตรแล้ว ยังมีสนธิสัญญาแบบทวิภาคีที่จะรับรองเอกราชระหว่างกันและกันด้วย

ในระหว่างสงครามเย็นตั้งแต่ปี 1945-1975 เป็นช่วงที่โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจน คือค่ายเสรีประชาธิปไตยและค่ายสังคมคอมมิวนิสต์ ความแตกแยกเกิดจาก “ความกลัว” หลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนเป็นฝ่ายชนะฝ่ายเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ทางฝ่ายสหรัฐก็สร้างทฤษฎีโดมิโนขึ้นมาว่า ต่อไปชาติต่างๆ ในอาเซียนจะต้องล้มให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็มีความเกรงกลัวว่าฝ่ายอเมริกาจะขัดขวางการเรียกร้องเอกราชที่สมบูรณ์แก่ตน จึงไปดึงเอามหาอำนาจฝ่ายคอมมิวนิสต์อันได้แก่จีนและสหภาพสังคมนิยมโซเวียตเข้ามาร่วม เพื่อไม่ให้ดุลแห่งความกลัวเสียไป เมื่อเกิดดุลแห่งความกลัวสหรัฐจึงประกาศว่าสงครามเวียดนามเป็นสงครามมีขอบเขต หรือ limited war เพราะไม่ต้องการให้สงครามขยายไปเป็นสงครามโลกเพราะความกลัว

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีบ้าเลือดของสหรัฐ กำลังย้อนศร กำลังจะพาให้ดุลแห่งความกลัวเสียไป เพราะไม่เชื่อทฤษฎีรัฐศาสตร์ดังกล่าว คำสั่งทำลายการรวมกลุ่มกำลังทำลายความกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์ จึงกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก

ความบ้าบิ่นและไม่มีเหตุผลของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำลายความเป็นผู้นำของโลกโดยประธานาธิบดีสหรัฐเอง โดยมีอังกฤษสมุนผู้ซื่อสัตย์ของอเมริกาคอยเป็นขุนพลอยพยัก ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนโดดเด่นขึ้น กลายเป็นว่าจีนจะเป็นผู้นำทางจริยธรรม ประกาศที่เมืองดาวอส บนเวทีการค้าโลกว่า จีนสนับสนุนการค้าเสรี โดยผู้นำคอมมิวนิสต์ประกาศสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งโลกร้อน ตามความตกลงร่วมกัน Paris Accord ที่จะมีการลงนามเดือนมกราคมนี้

ประธานาธิบดีมาครง แห่งฝรั่งเศส ประกาศ “ผิดหวัง” ต่อประธานาธิบดีสหรัฐเป็นอันมากที่ประกาศไม่ร่วมกับสนธิสัญญานี้ ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศ คือ นิการากัว ซีเรีย และสหรัฐ ที่เหลือทั้งหมดในโลกเห็นชอบที่จะลงนาม เป็นครั้งแรกที่สหรัฐจะเป็น “หมาหัวเน่า” ของโลกแทนที่จะเป็นผู้นำของโลก อยู่เฉยๆ สี จิ้นผิง ก็ผงาดขึ้นมาสนับสนุนหลักการของโลกเสรีโดยตนเองเป็นคอมมิวนิสต์ กล่าวคือจะสนับสนุนหลักการค้าเสรีและดำเนินการเพื่อให้มีการทำสนธิสัญญาป้องกันโลกร้อน

จะคอยดูว่าทฤษฎี “ดุลแห่งความกลัว” จะยังคงทำงานอยู่หรือไม่

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image