‘ผอ.สำนักการโยธา’ เผยแก้กฎหมายตึกสูง ยังไม่ตกผลึก

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่สำนักการโยธา นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีกทม.เร่งแก้กฎหมายสร้างตึกสูง โดยให้นับช่องจราจรแทนความกว้างเขตทาง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการอนุญาตทำการก่อสร้าง ว่า ตามที่กทม.ได้เสนอให้ปรับแก้กฎกระทรวงที่กำหนดเขตทางไม่น้อยกว่า 10 เมตร (ม.) และเพิ่มเติมข้อกฎหมายการอนุญาตการก่อสร้างเป็นการติดถนนสาธารณะที่มีช่องจราจรขึ้นไป ไม่รวมทางเท้าสาธารณะ แต่หากเป็นพื้นที่นั้นๆ ไม่มีทางเท้าสาธารณะ การก่อสร้างอาคารสูงจะต้องมี 4 ช่องจราจรขึ้นไป ปัจจุบันกำหนดที่ขนาด 2.60-3ม.ต่อหนึ่งช่องจราจรนั้น ทางสำนักการโยธาได้นำเสนอเรื่องไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย (มท.) จริง เพื่อช่วยให้การทำงานอนุญาตก่อสร้างอาคารและควบคุมอาคารเกิดความสะดวก ชัดเจนในข้อกฎหมายมากยิ่งขึ้นนั้น ทั้งนี้ ส่วนที่นำข้อกฎหมายเสนอไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง สืบเนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่อย่างยากลำบาก ต่อมาเพื่อให้เกิดความสะดวกและสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน จึงนำเสนอเรื่องนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ได้เสนอข้อกฎหมายนี้เข้าไป แต่ตนยังมองต่อไปอีกว่า น่าจะเกิดปัญหาตามมาอีก ซึ่งก็ต้องไปถกกันอีกหลายครั้งในสำนักงานคณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง

“ทุกวันนี้ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่าอาคารที่ติดถนน ไม่ต่ำกว่า 10 เมตรถึงจะสามารถสร้างอาคารตึกสูงได้ แต่ปรากฎว่าส่วนใหญ่แนวถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนรุกล้ำพื้นที่เข้ามาทำให้เหลือเพียง 9 เมตรกว่าๆ ก็กำลังจะหารือกับกรมโยธาธิการว่าจะแก้กฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยยึดกับปัญหาการจราจรเป็นสำคัญและขอยืนยันว่าปัจจุบันนี้ ยังคงดำเนินการตามแนวทางเดิมไปก่อน” นายณัฏฐ์กล่าว

เมื่อถามว่าประชาชนเกรงว่าบางโครงการที่ไม่ได้อนุมัติให้ก่อสร้างในอดีต หากข้อกฎหมายนี้ผ่านจะทำให้หลายโครงการกลับมาก่อสร้างได้อีกครั้ง จะชี้แจงประชาชนอย่างไร นายณัฏฐ์ กล่าวว่า ข้อกฎหมายดังกล่าวยังไม่ตกผลึกอย่างชัดเจน เพราะต้องอภิปรายและแสดงความคิดเห็นกันอีกหลายครั้ง ส่วนข้อกังวลที่ประชาชนเกรงว่าจะกลับมาก่อสร้างได้อีก ส่วนนั้นหากโครงการมีคดีความเกิดขึ้นมาแล้ว กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง หรือแม้แต่กฎหมายจะตกผลึกแล้วก็ต้องมาว่ากันไปตามกฎหมายใหม่ แต่อย่างไรก็ตามต้องย้ำอีกครั้งว่า ยังไม่ตกผลึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image