“กยท.ถก5เสือ”สกัดราคายางฮวบคาดหลังจากนี้ราคาจะขยับเล็งทำหนังสือถึงอินโดฯ-มาเลฯหารือ

พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยภายหลังจากหารือกับผู้ส่งออกยางพารา 5 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท ไทยฮั้วรับเบอร์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัทเซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด และบริษัท ไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป จำกัด เนื่องจากมีข้อร้องเรียกจากเกษตรกรว่า 5 บริษัทได้ทำการทุ่มราคาในตลาดจนทำให้ราคายางลดลงกว่า 20% ว่า ได้ทำความเข้าใจกับผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย และได้รับการยืนยันว่าไม่ได้กดราคา แต่สาเหตุที่ราคายางลดลงนั้นน่าจะมาจากหลายสาเหตุทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน และเชื่อว่าหลังจากนี้ราคายางน่าจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เพราะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายอมรับว่าราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้ลดลงผิดปกติ โดยหลังจากนี้หากราคายางยังลดลอีกก็จะเชิญหาเสือมาหารืออีกครั้ง

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้ส่งออกทั้ง 5 ราย เห็นตรงกันว่า การที่ราคายางพาราร่วงลงอย่างหนักประมาณ 10–12 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีลักษณะที่ผิดปกติ ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจากข้อมูลผลิตยางพาราที่ออกสู่ตลาด ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2560 มีเพียง 38,000 ตันท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง ก็คาดการณ์ว่า ผลผลิตทั้งปีอาจจะลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ 4.4 ล้านตัน ถึง 5–20 % เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในปีนี้ที่ไม่เอื้ออำนวย มีฝนตกชุกมากกว่าปีก่อน สวนทางกับความต้องการใช้ยางของตลาดโลกที่ยังมีอยู่มาก แต่ราคากลับไม่สามารถดันสูงขึ้นได้

“เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กยท. ก็เห็นตรงกันกับผู้ประกอบการว่า จะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาร่วงในครั้งนี้ ตั้งแต่การสร้างความเข้าที่ถูกต้องด้านการข่าวว่า ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ผลผลิตและความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเป็นอย่างไร ให้แก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า รวมถึงเกษตรกร ให้ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันความสับสนในตลาด หรือการปล่อยข่าวลือจากผู้ที่ไม่หวังดีต้องการทุบราคาในตลาดเพื่อช้อนซื้อยางในราคาถูก นอกจากนี้กยท.เตรียมเชิญผู้ผลิตอีก 2 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อรวมกับไทยแล้ว จะเป็นผู้ผลิตยางสัดส่วนมากกว่า 90% มาหารือร่วมกันภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยอาจมีมาตรการชะลอการขายยางพร้อมกันทั้ง 3 ประเทศเพื่อดันราคายางในตลาดให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามทางกยท.ยังมีมาตรการอื่นๆอีกจำนวนมาก แต่จะไม่ขอลงรายละเอียดในมาตรการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อราคายางในตลาดได้”นายธีธัชกล่าว

นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการยางพาราไทยทั้ง 5 ราย เห็นตรงกันว่า ราคายางที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องผิดปกติเพราะปริมาณที่ออกมาในช่วงนี้ก็ไม่ได้มาก รวมทั้งความต้องการใช้ของทั้งโลกก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากข้อมูลของหลานสำนักก็ชี้ตรงกันว่า ผลผลิตยางทั่วโลกในปีนี้ก็อาจจะไม่ได้มากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีความเป็นได้ว่า การที่ราคายางร่วงครั้งนี้ เกิดจากการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าพร้อมกันทั้ง 3 ตลาด คือ ตลาดเซี่ยงไฮ้ ตลาดสิงคโปร์ และตลาดโตเกียว ดังนั้นมาตรการหนึ่งที่อาจทำได้ คือการเอาชนะราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เพื่อดันราคายางให้สูงขึ้นได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image