สุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี

บริเวณวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย ถิ่นกำเนิดสุนทรภู่ ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช (ภาพถ่ายจากสะพานปิ่นเกล้า วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560)

เนื้อความปรับปรุงจากบางส่วนของแผ่นป้ายประวัติศาสตร์

บริเวณรอบกำแพงแก้ว พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

“สุนทรภู่ อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี” แผ่นป้ายประวัติศาสตร์เล่าประวัติย่อสุนทรภู่ ตั้งอยู่ริมกำแพงแก้ว ปากคลองบางกอกน้อย
ปากคลองบางกอกน้อย ตรงวังหลัง (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราช)

พระสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อเดิม “ภู่” ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า

ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329

Advertisement

มารดาของสุนทรภู่เป็น “พระนม” ของพระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมกำแพงวังหลังด้านเหนือ ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลศิริราชต่อเนื่องถึงย่านสถานีธนบุรี

สุนทรภู่จึงเติบโตในวังหลัง เข้าเรียนเขียนอ่านที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ซึ่งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ดังที่เขียนไว้ในนิราศสุพรรณว่า

ส่วนจัดแสดงผลงานสุนทรภู่ ในอาคารหลังที่ 3 ของพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

“๏ วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า                  เจ้าเอย

Advertisement

เคยอยู่ชูชื่นเชย                             ค่ำเช้า

ยามนี้ที่เคยเลย                             ลืมภัก(1) พี่แฮ

ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า                       คลาศแคล้วแล้วหนอ ฯ”

“๏ เลี้ยวทางบางกอกน้อย                ลอยแล

บ้านเก่าเย่า(2) เรือนแพ                   พวกพ้อง

เงียบเหงาเปล่าอกแด                    ดูแปลก แรกเอย

ลำฦก(3) นึกรักร้อง                        เรียกน้องในใจ ฯ”

“๏ วัดปขาวคราวรุ่นรู้                      เรียนเขียน

ทำสุรท(4) สอนเสมียน                    สมุท(5) น้อย

เดินรวางรวังเวียน                           หว่างวัด ปขาวเอย

เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย                     สวาดิห้างกลางสวน ฯ”

“๏ สวรหลวง(6) แลสว่างล้วน             พฤกษา

เคยเสดจ(7)วังหลังมา                       เมื่อน้อย

ข้าหลวงเล่นปิดตา                           ต้องอยู่ โยงเอย

เหน(8) แต่พลับกับสร้อย                   ซ่อนซุ้มคลุมโปง ฯ”

(1) ภัก = พักตร์ (2) เย่า = เหย้า (3) ลำฦก = รำลึก (4) สุรท = สูตร (5) สมุท = สมุด (6) สวรหลวง = สวนหลวง (7) เสดจ = เสด็จ (8) เหน = เห็น

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สุนทรภู่เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ดังที่สุนทรภู่ได้รำลึกไว้ในกลอนนิราศหลายที่

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

(กรมพระราชวังหลัง)

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง ประสูติเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล พ.ศ. 2289 พระนามเดิม “ทองอิน”

เป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบิดาคือ พระอินทรรักษา (หม่อมเสม) เจ้ากรมพระตำรวจซ้าย สังกัดวังหน้าสมัยอยุธยา

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อท่านสาพาบุตรธิดามายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่สวนมังคุด ตำบลบ้านปูน ให้เป็นที่อยู่อาศัย

ท่านทองอินได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กตำแหน่งหลวงฤทธิ์นายเวร ถึงพุทธศักราช 2323 ได้เลื่อนเป็นที่พระยาสุริยอภัย ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา เมืองนครราชสีมานี้มีความสำคัญทั้งด้านกำลังคนและด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

จลาจลกรุงธนบุรี

ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2325 เกิดเหตุจลาจลในกรุงธนบุรี พระยาสุริยอภัยยกทัพจากเมืองนครราชสีมาเข้าควบคุมสถานการณ์และรักษาเมืองธนบุรีไว้ได้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกรีธาทัพจากเขมรกลับถึงพระนครในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 บรรดาข้าราชการและราษฎรทั้งปวงได้อัญเชิญให้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

แผ่นป้ายประวัติศาสตร์ บอกประวัติวังหลัง ตั้งอยู่ริมกำแพงแก้ว ปากคลองบางกอกน้อย

ครั้งนั้นทรงสถาปนาพระยาสุริยอภัยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์

ต่อมาทรงพระราชดำริว่าในครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมอนุรักษ์เทเวศร์รักษาบ้านเมืองไว้นั้น เป็นความดีความชอบยิ่งกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และพระราชทานที่สวนลิ้นจี่ติดวัดบางว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) ให้เป็นพระราชวังหลัง

สงคราม 9 ทัพ

กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาได้เพียง 3 ปี ก็เกิดสงครามใหญ่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2328 คือสงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปตั้งรับข้าศึกด้านเหนือที่เมืองนครสวรรค์ เมื่อทัพข้าศึกยกผ่านสวรรคโลกเข้าตั้งค่ายที่ปากพิงตะวันออก กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขยกทัพเข้าตีค่ายที่ปากพิงจนข้าศึกแตกพ่าย สูญเสียรี้พลและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

ชัยชนะของกองทัพไทยในสงครามครั้งแรกที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระโสมนัสอย่างยิ่ง

รบพม่าท่าดินแดง

พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงยกกองทัพเตรียมรบครั้งใหญ่อีกวาระหนึ่ง ให้ตั้งค่ายใหญ่ที่ท่าดินแดงเตรียมการสะสมเสบียง เมื่อข่าวสงครามไปถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นทัพหลวงพร้อมด้วยกรมพระราชวังสถานบวรพิมุขตามเสด็จ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นทัพหน้า ทัพหลวงโจมตีค่ายท่าดินแดง ส่วนทัพหน้าเข้าโจมตีค่ายสามสบพร้อมกัน กองทัพพม่าแตกยับเยิน กองทัพไทยไล่ติดตามข้าศึกไปถึงค่ายหลวงทัพพม่าที่ลำน้ำแม่กษัตริย์ เก็บรวบรวมอาวุธต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเผายุ้งฉางตัดกำลังเสบียงหมดสิ้นแล้วก็เคลื่อนทัพกลับพระนคร

ในสงครามครั้งต่อมา เมื่อเตรียมการยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขกราบบังคมทูลขออาสาเสด็จฯ ขึ้นไปด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชดำรัสว่า เธอชรามากแล้ว อย่าไปเลย ให้เจ้านายหนุ่มๆ เขาไปกันบ้าง

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงประชวรพระโรค ทิวงคตในรัชกาลที่ 1 เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1168 ตรงกับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2349 พระชนมายุได้ 61 พรรษา

“ณ บริเวณนี้” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช อดีตเป็นพระราชวังของกรมพระราชวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข พระองค์ทรงออกรบเผชิญศึกหลายครั้งคราว เพื่อปกป้องบ้านเมืองให้มีเอกราช พระหัตถ์นั้นจับกระชับดาบอยู่ท่ามกลางสมรภูมิเกือบตลอดพระชนมชีพ พระองค์คือวีรชนของชาติ


ข้อมูลทั้งหมดนี้ ด้วยความอนุเคราะห์จาก รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง ตุ้มทิพย์ แสงรุจิ หัวหน้าหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

และขอบคุณ นางสาวโชติรส พิพัฒน์ผล ภัณฑารักษ์

คลิกอ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : สุนทรภู่กลับบ้านเกิด หลังถูกบังคับให้อยู่เมืองแกลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image