หลักคำนวณสุดซับซ้อนของการจัดอันดับกอล์ฟโลก

ต่อจากวันวานตามที่ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าเราจะมาลงลึกในรายละเอียดของการคิดคะแนนทัวร์นาเมนต์กอล์ฟอาชีพเพื่อใช้ในการคำนวณอันดับโลก

ก่อนอื่นขอทบทวนเรื่องหลักการคำนวณอันดับโลกของนักกอล์ฟอาชีพกันสักเล็กน้อยว่า กอล์ฟนั้นต่างกับกีฬาอื่นๆ ตรงที่จะใช้ “คะแนนเฉลี่ย” ในการจัดอันดับ ไม่ใช่ “คะแนนสะสม” เหมือนกีฬาอาชีพประเภทบุคคลอื่นๆ อาทิ เทนนิส หรือแบดมินตัน อีกทั้งยังใช้วงรอบการคำนวณคะแนน 104 สัปดาห์ หรือ 2 ปี ไม่ใช่ 1 ปีเหมือนอย่าง 2 กีฬาดังกล่าว

ยกตัวอย่างการจัดอันดับโลกล่าสุดของ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟสาวมือ 2 ของโลก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน สาวไทยลงแข่งขันรวม 57 รายการในรอบ 2 ปี มีคะแนนสะสม 476.38 คะแนน เมื่อนำ 57 ไปหาร จึงได้คะแนนเฉลี่ย 8.36 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของการจัดอันดับกอล์ฟโลกไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ต้องทำความเข้าใจอีกมากมาย ประการแรกสุดเรื่อง “ตัวหาร” นั้น ในส่วนของฝ่ายชายกำหนดว่า นักกอล์ฟที่แข่งขันเกิน 40 รายการในระยะเวลา 2 ปี ให้ใช้จำนวนทัวร์นาเมนต์รวมเป็นตัวหาร แต่ถ้าแข่งไม่ถึง 40 รายการ ก็ต้องใช้เลข 40 เป็นตัวเลขขั้นต่ำในการหาร ขณะที่ฝ่ายหญิงใช้ตัวเลขขั้นต่ำ 35 รายการ

Advertisement

ประเด็นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกที่แข่งขันน้อยจนเกินไปได้อันดับโลกดีๆ ยกตัวอย่างเมื่อปี 2006 ซึ่ง มิเชล วี โปรสาวสวยชาวอเมริกัน ขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลกทั้งที่ลงแข่งขันเพียง 16 รายการเท่านั้น

ส่วนรายละเอียดสำคัญประการต่อมา คือ การให้น้ำหนักกับผลงานในห้วงเวลาปัจจุบันมากที่สุด โดยจะคิดคะแนนเต็มจำนวนในผลงานช่วง 13 สัปดาห์หลังสุด ส่วนรายการตั้งแต่สัปดาห์ที่ 14 เมื่อนับถอยหลังจากปัจจุบันไปจนถึงสัปดาห์ที่ 104 จะค่อยๆ ลดหลั่นลงสัปดาห์ละ 1 ส่วน 92 หรือประมาณ 1.09 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่้งเหลือ 0 ในสัปดาห์ที่ 105 หรือไม่นำมาคิดเป็นคะแนนนั่นเอง

ส่วนคะแนนที่จะเอามารวมกันเป็นคะแนนสะสมนั้นจะมาจากคะแนนที่ได้จากรายการหลัก โดยวงการกอล์ฟชายจะยึดคะแนนจากรายการระดับเมเจอร์ และ 6 ทัวร์ใหญ่เป็นหลัก ได้แก่ พีจีเอทัวร์, ยูโรเปี้ยนทัวร์, เอเชี่ยนทัวร์, พีจีเอทัวร์ออฟออสเตรเลีย, เจแปนกอล์ฟทัวร์ และ ซันไชน์ทัวร์ (ของแอฟริกาใต้) ส่วนทัวร์ย่อยๆ อื่นๆ ต้องทำผลงานดีเยี่ยมเท่านั้นถึงจะพอมีคะแนนสะสมได้

Advertisement

ส่วนฝ่ายหญิงซึ่งเริ่มจัดอันดับโลกในปี 2006 หลังวงการกอล์ฟชาย 10 ปี จะพิจารณาผลงานจากศึกเมเจอร์และ 8 ทัวร์หลัก ได้แก่ แอลพีจีเอทัวร์, เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์, แอลพีจีเอ ออฟ เจแปนทัวร์, แอลพีจีเอ ออฟ โคเรียทัวร์, ออสเตรเลียน แอลพีจีเอทัวร์, ไชน่า แอลพีจีเอทัวร์, ไซเมทราทัวร์ (ทัวร์ระดับรองของแอลพีจีเอ) และ เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยน แอคเซส ซีรีส์ (รายการระดับรองของเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์)

แน่นอนว่ายิ่งจบอันดับดีเท่าไรยิ่งได้คะแนนมากเท่านั้น แต่คะแนนที่จะได้จากแต่ละรายการนั้น ต่างจากเทนนิสและแบดมินตันตรงที่ไม่ได้มีคะแนนตายตัวตามจำนวนนักกีฬาซึ่งร่วมแข่งขันหรือเงินรางวัล แต่เป็น “เรตติ้ง” ของผู้เข้าแข่งขันแทน

คำว่า “เรตติ้ง” ในที่นี้หมายถึงระดับความเก่งของนักกอล์ฟที่ร่วมแข่งขัน ยึดจากอันดับโลกในปัจจุบันเพื่อตีค่าเป็นเรตติ้ง โดยมือ 1 ของโลกมีค่าเรตติ้ง 45, มือ 2 ของโลกมีเรตติ้ง 37, มือ 3 โลก เรตติ้ง 32 และลดหลั่นลงเรื่อยๆ จนถึงอันดับ 101-200 จะมีค่าเรตติ้งคนละ 1 ส่วนอันดับหลังจาก 200 ไปแล้วไม่มีค่าเรตติ้ง

ทั้งนี้ ถ้านักกอล์ฟมือ 1-200 ของโลกร่วมแข่งขันพร้อมกันหมดในรายการเดียว ทัวร์นาเมนต์นั้นจะมีเรตติ้งรวมสูงสุด 925 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อได้ค่าเรตติ้งมาแล้ว เวลานักกอล์ฟได้อันดับเท่าไรในทัวร์นาเมนต์นั้นๆ ก็จะนำมาคำนวณจากเรตติ้งที่กำหนดไว้ กลายเป็นคะแนนสะสมเพื่อเอาไปคิดอันดับโลกต่อไป

ทั้งนี้ ยกเว้นรายการระดับเมเจอร์หรือรายการของทัวร์เล็กๆ บางทัวร์ที่จะกำหนดคะแนนสะสมของอันดับต่างๆ ไว้ตายตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดคำนวณค่าเรตติ้งให้เสียเวลา

ด้วยหลักการที่แสนสลับซับซ้อนดังกล่าวทำให้หลายคนมองว่า กอล์ฟเป็นกีฬาที่มีวิธีคิดคำนวณอันดับโลกแบบเชื่อถือได้และค่อนข้างจะรอบคอบที่สุด เพราะให้ความสำคัญกับผลงานโดยภาพรวม และขณะเดียวกันก็ให้น้ำหนักกับผลงานในช่วงปัจจุบันมากที่สุด

กระนั้น การจัดอันดับกอล์ฟโลกหลายครั้งก็ไม่วายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในวงการ เช่นฝั่งกอล์ฟชายเคยมีดราม่าเรื่องมือ 1 โลกไม่เคยคว้าแชมป์เมเจอร์อย่าง ลี เวสต์วู้ด หรือ ลุก โดนัลด์ สองโปรเมืองผู้ดี ขณะที่ฝ่ายหญิงก็มี ไอ มิยาซาโตะ ของญี่ปุ่น แถมยังโดนวิจารณ์ด้วยว่าให้ความสำคัญกับบางทัวร์เพราะกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนตายตัวสูงเกินไป เรียกว่าต่อให้พยายามอุดช่องโหว่ขนาดไหนก็ไม่พ้นต้องโดนจับจุดมาเป็นเป้าวิจารณ์อยู่ดี

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า หลักการคิดคะแนนจัดอันดับโลกเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นต่อการจัดอันดับหรือกำหนดสายแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ

เพราะไม่งั้นฝ่ายจัดหรือแฟนๆ คงต้องมานั่งมโนหรือถกเถียงว่านักกีฬาคนไหนเก่งกว่ากันให้วุ่นวายไปอีก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image