สังคมภิวัตน์ : โดย ชลนภา อนุกูล

เกือบสามสิบปีที่แล้ว ธนาคารโลกให้ทุนแก่การเคหะฯ สำหรับปรับปรุงที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ เมื่อเจ้าหน้าที่การเคหะเข้าไปในชุมชนบ้านครัว แจ้งว่าจะทำทางระบายน้ำ โดยอธิบายว่าเป็นการใช้เงินที่กู้มาจากธนาคารโลก จึงจะขอให้ชุมชนช่วยกันชดใช้เงินคืน ชาวบ้านคนหนึ่งจึงลุกขึ้นยืนถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมรัฐจึงไปสร้างทางระบายน้ำที่สุขุมวิทซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกินโดยไม่คิดเงิน แต่ในชุมชนที่ยากจนรัฐกลับจะคิด

เรื่องเล่าด้านบนนั้นมาจากบทความกึ่งวิชาการ “ชาวบ้าน ชาวเมือง : ชุมชนแออัดกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง” ของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ผู้บุกเบิกงานมานุษยวิทยาในประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ซึ่งมีพื้นฐานจากวิธีคิดของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ทั้งยังแสดงให้เห็นประเด็นถกเถียง 3 ประการ ได้แก่ (หนึ่ง) รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการเรื่องอะไรบ้าง? (สอง) ประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร? และ (สาม) อะไรที่รัฐกับประชาชนต้องทำร่วมกัน?

ประเด็นถกเถียงดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีผู้เสนอว่าประชาชนต้องร่วมจ่าย โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนมีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเองไม่ให้ป่วยเช่นกัน ภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็แย้งว่า บริการสุขภาพเป็นหน้าที่ของรัฐ และความเจ็บป่วยมิได้เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากยังมีปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ในระดับต่างๆ อีกมาก ส่งผลให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ โดยผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มประชากรชายขอบต่างๆ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เช่นเดียวกับแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีลาภลอย นั่นคือ เมื่อรัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดังเช่นระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า รถใต้ดิน ฯลฯ และมีผู้ได้รับประโยชน์ เป็นต้นว่า ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม เจ้าของที่ดิน ฯลฯ ที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว ก็มีประเด็นต้องถกเถียงอีกว่า กลุ่มที่เสียผลประโยชน์อย่างเช่นเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ที่ต้องทิ้งร้างระหว่างการก่อสร้างโครงการ บ้านเรือนที่ต้องเผชิญกับมลพิษมากขึ้น ทั้งฝุ่นและเสียงจากสภาพจราจรที่ติดขัดหนาแน่น จะต้องได้รับการชดเชยเยียวยาด้วยหรือไม่

Advertisement

ข้อถกเถียงในสองประเด็นแรกนั้นย่อมหาข้อสรุปไม่ได้เลย หากไม่มีความเห็นร่วมกันในข้อท้ายที่เรียกร้องการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน..

งานบางอย่างรัฐไม่อาจใช้กระบวนทัศน์แบบกำหนดควบคุมกระทำการให้สำเร็จลุล่วงได้ฝ่ายเดียว ด้วยข้อจำกัดของกำลังคน ทักษะความรู้ และทรัพยากร เป็นต้นว่า แทนที่จะผลิตสินค้าขายหรือจ้างคนทำงานเอง รัฐก็ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำธุรกิจ ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน ขณะเดียวกันงานที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างผลกำไร ในประเทศไทยก็อย่างเช่น การแก้ไขปัญหาสลัมหรือชุมชนแออัด การสร้างความเสมอภาคทางเพศ การทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและอาชีพ การทำให้คนทำงานได้รับความคุ้มครองจากการทำงานและเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมจากการทำงาน ฯลฯ เมื่อมองไปที่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าเกิดจากการทำงานผลักดันของภาคประชาสังคมทั้งสิ้น เพราะเป็นงานที่ภาคเอกชนไม่ได้ให้ความสนใจ และเป็นงานที่อยู่นอกเหนือจากภาระงานของข้าราชการในภาครัฐ

ภาคประชาสังคมในประเทศไทยประกอบด้วยพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว หลังจากการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยมาสู่ประชาธิปไตยเต็มตัวในช่วงต้นปี พ.ศ.2520 พลเมืองที่กระตือรือร้นเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา ถูกเรียกว่าเอ็นจีโอ และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ไม่หวังผลกำไร (Non Profit Organization) โดยมีเป้าหมายหลักในการทำงานก็คือ การสร้างสังคมอารยะ (Civil Society) หรือภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เพราะสังคมภิวัตน์หรือสังคมที่เจริญ ย่อมต้องประกอบด้วยพลเมืองที่กระตือรือร้นจำนวนมากที่จะรู้ว่าหน้าที่ของตนคืออะไร สามารถทำงานสำคัญและจำเป็นบางอย่างที่ภาคเอกชนและภาครัฐทำไม่ได้หรือไม่ถนัดได้

Advertisement

เวลาพ่อแม่เลี้ยงลูกก็มุ่งหวังให้ลูกได้เติบโต เผชิญอุปสรรคปัญหาอะไรก็สามารถมีสติปัญญาและกำลังฝ่าฟันแก้ไขไปได้ แม้ล้มเหลวพ่ายแพ้ก็ไม่ย่อท้อละความพากเพียร และเรียนรู้พัฒนาตนจากความผิดพลาดนั้น การทำงานของภาคประชาสังคมก็เป็นเช่นนั้น นั่นคือ การเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประสบปัญหา ดึงเอาพลังความเชื่อมั่นในตัวของผู้คนกลับมา และสร้างพลังกลุ่มเพื่อคิดและทำร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวเราคนเดียว

การสร้างภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจึงมิได้เกิดจากการที่เอ็นจีโอหรือรัฐเข้าไปทำงานแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประสบปัญหาเดือดร้อน หากต้องช่วยให้ผู้ประสบปัญหาสามารถลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้เอง สามารถตัดสินใจกำหนดชีวิตของตนได้เอง ..

เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ลงไปทำงานสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มคนไร้บ้าน สนับสนุนการรวมกลุ่มรวมตัวจนเกิดเป็นเครือข่ายคนไร้บ้านที่ศูนย์สุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ออกแบบการทำงานหนุนเสริมการรวมกลุ่มและเครือข่ายของแรงงานนอกระบบในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องสิทธิประกันสังคมและอาชีวอนามัยในการทำงาน เจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) หนุนเสริมการทำงานของแกนนำแรงงานข้ามชาติ

เพื่อทำให้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นช่วยพัฒนาเครือข่ายแรงงานข้ามชาติที่สามารถคุ้มครองสิทธิในฐานะคนทำงานได้-เหล่านี้ เป็นงานสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม เป็นงานฐานรากที่สร้างความมั่นคงและยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม..

ในประเทศพัฒนาแล้วดังเช่นยุโรปและอเมริกา ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งมาก ตำรวจทำงานน้อยมาก เพราะมีพลเมืองช่วยเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับเพื่อนบ้านและชุมชน มีองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ทำให้มีสินค้าปลอดภัย มีคุณภาพ ไม่เอารัดเอาเปรียบคนทำงาน และไม่รังแกสิ่งแวดล้อมที่พูดไม่ได้วางขายในท้องตลาด มีสหภาพแรงงานเข้มแข็งที่ปกป้องสิทธิคนทำงานทุกคนให้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในเยอรมนีถึงกับมีแนวโน้มว่าภาคเอกชนจะต้องสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่ทำงานซีเอสอาร์เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ หรือพาพนักงานไปทำงานจิตอาสาชั่วครั้งชั่วคราว ดังเช่นมูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ก่อตั้งโดยไรน์ฮาร์ด โมห์น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 ผู้บริหารบริษัทแบร์เทลส์มันน์
ซึ่งเป็นบรรษัทด้านสื่อมวลชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ใช้ผลกำไรจากบริษัทมาสนับสนุนให้ทุนทำงานต่อภาคประชาสังคม

โดยนัยยะนี้ ภาคเอกชนที่เข้าใจเรื่องสังคมอารยะจะมองเห็นได้ว่า การคืนกำไรส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (economic surplus) เป็นหน้าที่ของตน

การจะมีสังคมอารยะหรือสังคมภิวัตน์ได้ ก็ต้องมีกระบวนทัศน์องค์รวมยอมรับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างของภาคส่วนต่างๆ ยอมรับว่าภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ งานในภาคประชาสังคมไม่ใช่งานฟรีหรือจิตอาสา หากต้องการคนทำงานมืออาชีพและโครงสร้างการทำงานที่ต่อเนื่องเช่นเดียวกับในภาครัฐและภาคเอกชน งานภาคประชาสังคมบางส่วน แม้อาจจะพัฒนาเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทุกงาน

งานสำคัญและจำเป็นในสังคมที่ไม่สามารถสร้างผลกำไรได้เหล่านั้น จำต้องมีการสนับสนุน (subsidization) เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้รับจากรัฐผ่านนโยบายต่างๆ นั่นเอง..
ชลนภา อนุกูล
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image