Future Perfect : เรื่องตลกที่ดันไม่ตลก : ที่ไหนๆ บนอินเตอร์เน็ตก็ไม่ใช่ที่ ‘ส่วนตัว’ : โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

เรื่องตลกก็คือ ถึงแม้คุณจะเป็นคนชอบฟังเรื่องตลก และก็รู้ดีอยู่ว่าเรื่องตลกนั้นตลกได้ก็เพราะมันมี “ความกล้า” ที่จะแหกขนบบางอย่าง แต่ก็คงมีเรื่องตลกบางประเภทที่คุณคิดว่า “ล้ำเส้น” เกินไป

เส้นที่ว่านี้เป็นเส้นที่ไม่มีใครขีดไว้ชัดว่า – พอถึงตรงนี้ละก็ ถือว่าเล่นตลกไม่ได้แล้วนะ – มันเป็นเส้นที่คุณต้องหาเอาเองผ่านทางการลองผิดลองถูก ทั้งหาจากการพูดมุขตลกออกไป แล้วไม่มีใครขำแถมยังโดนด่า และหาจากการฟังมุขตลกของคนอื่น แล้วตัดสินในใจว่านั่นเป็นมุขตลกที่มี, หรือไร้รสนิยม

แต่ก็ดูเหมือนว่าสังคมโลกจะมีการตกลงเส้นนี้ไว้บางๆ จางๆ ในบางระดับ – เป็นระดับที่ ถ้าคุณเล่นมุขเหล่านี้แล้วจะถือว่า “ผิด” “ไร้รสนิยม” หรือ “ไม่ให้เกียรติ”

เส้นเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้บ้าง เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่าสังคมจะ “เข้มงวด” กับมุขตลกบางประเภทลดลง เช่น มุขเหยียดผิว ที่เมื่อชาวผิวสี (หรือชาวผิวใดก็ตามที่เคยโดนเหยียด) ออกมาเล่นตลกกับตัวเอง สังคมก็ดูจะผ่อนคลายขึ้น และเริ่มเล่นมุขตลกในแบบเดียวกันได้บ้าง (หากเป็นไปด้วยเจตนาที่ไม่คุกคาม)

Advertisement

แต่ก็มีมุขตลกบางประเภทที่ยังถือว่าอยู่ในเขตหวงห้าม มุขตลกที่เกี่ยวกับการข่มขืน, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว, เหตุวินาศกรรมสะเทือนขวัญต่างๆ หรือการตายของเด็ก – มุขเหล่านี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแสดงมันออกมาในที่สาธารณะ ก็จะไม่พ้นโดนประณามหยามเหยียด และถูกไล่ให้กลับไปทบทวนจุดยืนของตัวเองดูใหม่

เป็นมุขทำให้หลายคนต้องชั่งน้ำหนักว่า คำว่า “เสรีภาพในการพูด” นี่จริงๆ แล้วมันควรจะ “เสรีภาพ” สักแค่ไหน

ปัญหาในยุคปัจจุบันก็คือ – คุณไม่อาจมั่นใจได้ว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ส่วนตัว และตรงไหนเป็นพื้นที่สาธารณะ – โดยเฉพาะบนอินเตอร์เน็ต

Advertisement

ไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์ที่เตือนให้เรารำลึกถึงความพร่ามัวของพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ และมิติของมุขที่ “เล่นได้” กับสิ่งที่ถือเป็น “ข้อห้าม” (taboo) อีกครั้ง เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด “ตัดสิทธิ” ว่าที่นักศึกษาปี 2021 สิบคน เมื่อพบว่าพวกเขาตั้งกรุ๊ปแชตเฟซบุ๊กเพื่อแลกเปลี่ยนมีมตลกขบขันห่ามๆ กัน กรุ๊ปแชตดังกล่าวมีชื่อว่า “มุขมีมฮาร์วาร์ดสำหรับเด็กหื่น” (Harvard memes for horny bourgeois teens)

ต้องหมายเหตุไว้หนักๆ ด้วยว่า กรุ๊ปแชตดังกล่าวเป็นกรุ๊ปแชตส่วนตัว ไม่ใช่ใครก็เข้าไปดูได้ แต่ต้องได้รับเชิญจากสมาชิกเท่านั้น (แต่ก่อนที่จะเกิดเรื่อง กรุ๊ปนี้ก็เติบโตจนมีสมาชิกมากกว่า 100 คน)

ในกรุ๊ปแชตนี้ ก็คล้ายกับแชตของวัยรุ่นห่ามๆ ทั่วไปนั่นแหละครับ – พวกเขาส่งมุขตลกขบขันโต้ตอบกันไปมา บางครั้งมุขตลกพวกนี้ก็ไปแตะเรื่องที่สังคมเห็นว่าไม่ควรแตะอย่างที่บอกไปก่อนหน้า เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว เรื่องเด็กตาย ข่มขืน ฯลฯ มุขตลกหนึ่งที่ร้ายกาจหน่อย เป็นภาพการ์ตูนเด็กชาวเม็กซิกันถูกแขวนคอ แล้วสมาชิกกลุ่มแชตก็เล่นมุข (ที่พวกเขาคิดว่าตลก) ว่า “piñata time” (หมายถึงตุ๊กตาเทศกาลที่แขวนไว้สูงๆ ให้ผู้เข้าร่วมใช้ไม้ตีจนแตก แล้วจะมีลูกอม ขนมต่างๆ ออกมา)

เมื่อองค์กรนักศึกษาของฮาร์วาร์ดรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มแชตนี้ หลังจากสืบสวนโดยการให้ว่าที่นักศึกษาแต่ละคนส่งหลักฐานมาว่า ตนเองส่งมีมไหนเข้ากรุ๊ป และส่งเข้าไปเพราะอะไรบ้างแล้ว พวกเขาก็เห็นว่าว่าที่นักศึกษาในกลุ่มแชต “ไม่คู่ควร” กับการเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด และตัดสิทธิเข้าเรียนของพวกเขาไป โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าการตัดสินใจนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด

การตัดสินใจครั้งนี้ของฮาร์วาร์ดเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้จากทั้งสองฝั่ง ฝั่งที่เห็นด้วยก็บอกว่าเป็นการสมควรแล้วที่จะตัดสิทธิว่าที่นักศึกษาพวกนี้ทิ้ง เพราะพวกเขาดูจะ “ไม่รู้ดีรู้ชั่ว” เอาเสียเลย การเล่นมุขเหล่านี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเข็มทิศคุณธรรม (moral character) ของพวกเขามันบิดเบี้ยว และพวกเขายังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ (หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะได้เรียนที่ฮาร์วาร์ด)

ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ยกสถานะความเป็นส่วนตัวของกรุ๊ปแชตขึ้นมา ว่าพวกเขาไม่ได้เล่นมุขในที่สาธารณะ แต่เป็นกรุ๊ปแชตปิดที่ต้องรับเชิญก่อนถึงจะเข้าไปได้ (ไม่ได้โพสต์บนวอลล์ บนเพจ) และอีกอย่างคือ พวกเขาคิดว่านี่ไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงถึงขนาดต้องตัดสิทธิเข้าเรียนต่อ มันเป็นเพียงการเล่นโง่ๆ ของวัยรุ่นเท่านั้น

ปัญหาของเรื่องนี้นั้นมีหลากหลายมุมให้มอง- คุณอาจมองมันในฐานะคู่ตรงข้ามของความเป็นสาธารณะ-ความเป็นส่วนตัว หรือมองมันในฐานะการทำร้ายด้วยคำพูด-เสรีภาพในการพูด คุณอาจ

มองมันด้วยการเชื่อมโยงว่าการกระทำหนึ่งที่ทำให้เห็นทัศนคติลึกๆ ของคนคนนั้น (เช่น การส่งมีมที่ก้าวร้าว) อาจนำไปสู่การกระทำที่ก้าวร้าวจริงๆ ด้วยตนเองในภายหลัง (ซึ่งก็ต้องเป็นที่พิสูจน์กันต่อไป) หรือคุณอาจมองข่าวนี้ว่าฮาร์วาร์ดก็เป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ต้อง “รักษาหน้า” ของตนเองก็ได้

ถึงแม้สังคมจะไม่เคยให้คำตอบที่ตรงเผงกับทุกขั้วคำถาม แต่อย่างน้อย ข่าวนี้ของฮาร์วาร์ดก็อาจเป็นข้อควรระวังส่วนตัว ให้เราคิดต่อทุกๆ ข้อความที่อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต ก่อนที่เราจะกดเอ็นเตอร์และส่งมันขึ้นไป

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image