ตามรอย “จันทบูร Shining moon” สุจิตต์ ร่วมแจม ไขปริศนา จันทบุรี มาจากไหน?

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน มติชนอคาเดมีจัดโปรแกรม “จันทบูร Shining Moon” ที่ จ.จันทบุรี มี นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ ร่วมเป็นวิทยากร โดยโปรแกรมแรกเป็นการเข้าชมพิพิธภัณฑ์โบราณสถานเมืองเพนียด วัดทองทั่ว ภายในมีทับหลังแบบถาลาบริวัต หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อกันว่าเป็นทับหลังที่เก่าแก่ที่สุดในอารยธรรมขอมโบราณ แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมขอมได้เข้ามามีบทบาทเหนือพื้นที่บริเวณดังกล่าว อีกทั้งบริเวณใกล้วัดทองทั่วยังมีโบราณสถานเมืองเพนียด เมืองโบราณเก่าแก่ของจันทบุรีที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมเขมรและจาม

นายศิริพจน์ กล่าวว่า จารึกหลักหนึ่งที่พบในวัดทองทั่วก็เช่นกัน หลายครั้งถูกเรียกว่าจารึกทองทั่ว แต่เรียกเป็นทางการคือ จารึกจันทบูร กล่าวถึงการที่พระเจ้าอีศานวรมันทรงอุทิศถวายข้าทาส วัวควาย ให้กับเทวสถาน ดูเป็นหลักฐานที่สอดคล้องพอดีกันกับทับหลังแบบถาลาบริวัตจากวัดทองทั่ว

“ทับหลัง หรือทับหลังประดับกรอบประตู มีความหมายแบบเดียวกัน ซึ่งทับหลังแบบถาลาบริวัตชิ้นนี้พบภายในเมืองเพนียด คาดว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.1150 บนทับหลังสร้างเป็นลวดลาย ตรงกลางเป็นพญาครุฑ ด้านล่างคือผ้าริบบิ้น ส่วนด้านซ้ายคือมกร อ่านว่ามะกร แต่อินเดียเรียกมะกะระ หมายถึงผู้สำรอก แต่สำรอกความเจริญรุ่งเรืองออกมา โดยเชื่อว่าผู้คนที่เดินลอดซุ้มทับหลังจะได้รับพร รับความเจริญ” อ.ศิริพจน์กล่าว

Advertisement

จากนั้นคณะเดินชมโบราณสถานเมืองเพนียด สระน้ำของปราสาทขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมาที่เมืองเพนียด โดย อ.ศิริพจน์บรรยายประกอบว่า เราจำเป็นต้องนำสระน้ำนี้ไปเทียบกับที่อื่น ถามว่าที่อื่นมีไหม มี เป็นอาคารรูปตัวโอบ้าง เป็นรูปตัวไอบ้าง พูดง่ายๆ ว่ามีอาคารยาวๆ มีพื้นที่ตรงกลางแบบนี้ ที่พนมรุ้งเองสันนิษฐานว่าเป็นโรงช้างเผือก ส่วนปราสาทหินพิมายเชื่อว่าเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่อง

Advertisement

ต่อมาเวลาประมาณ 13.40 น. มีกิจกรรเข้าชมแกลเลอรี่พลอย ไพลินดิบจากแหล่งต่างๆ รวมถึงวิธีการเจียระไนพลอย ที่เวิลด์ แซฟไฟร์ แกลเลอรี่ โดยมี นายเมธี จึงสงวนสิทธิ์ ผู้เขียนหนังสือ “จันทบูร Shining Moon” เป็นวิทยากร

นายเมธีกล่าวว่าแกลเลอรี่นี้เกิดแรงบันดาลใจจากเมื่อคราวไปพิพิธภัณฑ์ที่เยอรมนี ขณะที่จันทบุรีเองเป็นเมืองพลอย ซึ่งมีพลอยเยอะมาก ราวปี พ.ศ.2525-2535 ผมคิดว่าเมืองจันทบุรีผลิตพลอยแต่ละอาทิตย์ได้มากกว่า 10 ปี๊บ ยุคนั้นโรงงานพลอยมีกว่าพันโรง แต่ขณะนี้ ปี พ.ศ.2560 เราเหลือโรงงานผลิตพลอยจริงๆ ประมาณ 100-200 โรงเท่านั้น เนื่องจากสถานที่ที่ไปขุดพลอยไม่มีพลอยใหม่เกิดขึ้น

“สิ่งที่เปลี่ยนไปจากที่ควรจะเป็นคือ จันทบุรีไม่ได้เป็นเมืองแรกที่มีพลอย อินเดียเองมีทั้งพลอยและเพชรมาเป็นพันปีแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยมาจากคุณสามเมือง แก้วแหวน โดยคุณสามเมืองมีความคิดที่ไม่เหมือนใคร ในขณะที่มีพลอยเยอะๆ ท่านคิดว่าพลอยที่ใช้ไม่ได้ให้เก็บไว้ เอาที่ใสๆ มาเจียระไน อีกทั้งพยายามคิดเรื่องเผาพลอย แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนเกิดเคราะห์ร้ายในปี พ.ศ.2511 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในจันทบุรีกว่าครึ่งเมือง รวมถึงบ้านพ่อค้าพลอยด้วย ภายหลังเพลิงสงบ คุณสามเมืองพบว่าพลอยขุ่นที่ถูกความร้อนเผาไหม้ครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนสี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ทราบว่าต้องใช้ความร้อนเท่านี้จึงจะเปลี่ยนสีพลอยได้” นายเมธีกล่าว

นายเมธีกล่าวต่อว่า ผมคิดว่าเมืองจันทบุรีมีทรัพยากรหลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยว สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์โบราณ ความเป็นอยู่อาศัย อาหารพื้นถิ่น จากประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก นอกจากไปซื้อพลอยแล้ว ผมยังสะสมหนังสือ และมองว่าจันทบุรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ น่าที่จะอวดโฉมให้คนทั่วประเทศ ทั่วโลก รู้ว่าเรามีอะไรดีๆ เลยมารวมตัวคุยกับทีมงานน้องๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ช่างที่เป็นมืออาชีพ เก็บรูปภาพมากกว่า 2 ปี ได้รูปภาพหลายพันภาพ คัดรูปที่ดีที่สุด แล้วมาพิมพ์เป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวจันทบุรี

“มติชนมองเห็นว่าเราทำงานให้กับสังคมโดยไม่หวังผลกำไร เพราะรายได้ทั้งหมดที่เปิดตัวหนังสือวันก่อนหน้านี้ เป็นรายได้ทั้งหมดที่ไม่หักค่าใช้จ่าย เรามอบให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี” นายเมธีกล่าวปิดท้าย

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. คณะเข้าชมโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาธอลิก จำลองแบบจากโบสถ์น็อตเตอร์ดามของประเทศฝรั่งเศส แหล่งรวมจิตใจชาวชุมชนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มาจนปัจจุบัน จากนั้นคณะเดินชมชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรีด้านตะวันตก เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนและญวนอพยพตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากนั้นเวลา 17.00 น. ที่โรงแรมบลูแรบบิท ชมการสาธิตและชิมเมนูอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น โดยเชฟสุรศักดิ์ คงสวัสดิ์ จากโรงแรมดุสิตธานี

จากนั้นเวลา 18.00 น. กิจกรรมบรรยายประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองจันทบุรี หัวข้อ “เมืองจันทบุรีมาจากไหน?” โดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ปิดท้ายด้วยเสวนาเปิดตัวหนังสือ “จันทบูร Shining Moon” ดำเนินรายการโดย นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นายเมธี จึงสงวนสิทธิ์ และทีมงาน พร้อมแขกรับเชิญพิเศษร่วมพูดคุย

เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมบลูแรบบิท หอการค้าจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จัดกิจกรรมบรรยายประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองจันทบุรี หัวข้อ “เมืองจันทบุรีมาจากไหน?” โดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน

นายสุจิตต์กล่าวว่า จันทบุรีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉะนั้น จันทบุรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อกว่า 2,500 ปีที่แล้ว มีชุมชนน้อยๆ กระจัดกระจายอยู่ตามเทือกเขาในจันทบุรี ไม่มีเส้นแบ่งเขต หรือแบ่งประเทศใดๆ

“ตอนจันทบุรียังกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขา ทะเล ที่อู่ทองเป็นเมืองแล้ว แต่บริเวณนี้ยังเป็นชุมชนเร่ร่อนอยู่ ราว พ.ศ.1000 จึงรู้จักติดต่อกับอินเดีย เกิดเป็นบ้านเมือง รับศาสนาพุทธเข้ามา ตอนนั้นจันทบุรีจึงเกิดเป็นเมืองขึ้น ในทรรศนะผมเรียกว่าเมืองสถานีการค้าชายฝั่ง เกิดการติดต่อทางทะเลขึ้น เรารู้จักแต่ประวัติศาสตร์ราชธานี เราไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การที่โรงแรมนี้จัดงานนี้ขึ้นจึงเป็นสิ่งที่เกื้อกูลความดีงามอย่างยิ่ง ชื่อจันทบุรีมาจากไม้จันทน์ เป็นความหลากหลายทางโลหะธาตุ เช่น อัญมณี เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทางจังหวัดควรอธิบายให้มาก” นายสุจิตต์กล่าว

จากนั้นมีเสวนาเปิดตัวหนังสือ “จันทบูร Shining Moon” ดำเนินรายการโดย นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ร่วมพูดคุยกับ นายเมธี จึงสงวนสิทธิ์, นายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี, นายศิริโชค เลิศยะโส และนางทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด เครือมติชน, นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าฯจันทบุรี, นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ รองผู้ว่าฯจันทบุรี, ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี, อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image