ธ.กรุงเทพชูธง ลุย ‘ฟินเทค’ รุกสู่ยุคดิจิทัล

แม้ภาพลักษณ์จะดูเป็นองค์กรอนุรักษ์นิยม (conservative) แต่ในจังหวะที่โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ดิจิทัล (Digitization) นั้น “ธนาคารกรุงเทพ” ก็ประกาศความพร้อม การปรับตัวรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่จะออกมาอย่างรวดเร็ว

“ไม่เฉพาะองค์กรใดองค์กรหนึ่งต้องเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล แต่มีความจำเป็นที่สังคมและประเทศชาติต้องเปลี่ยน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันประเทศ” มุมมองของ ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

เขาบอกว่า เราถูกมองและประเมินอยู่ตลอดเวลาจากองค์กรสากลต่างๆ เช่น ความความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เป็นต้น เป็นการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และสะท้อนศักยภาพในการแข่งขันประเทศ แต่ละประเทศต้องการสร้างการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) เมื่อจีดีพีขยายตัวมากขึ้น จะช่วยในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ได้ดีขึ้น

ในระยะสั้นการเข้าสู่ดิจิทัลต้องใช้เวลา ในระยะสั้นต้องเปลี่ยนอาจจะมีความไม่เข้าใจของคน และอาจจะมีอคติว่าทำไมต้องเปลี่ยน ของเดิมดีอยู่แล้ว กรณีนี้ “พร้อมเพย์” บริการโอนและรับเงินโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชน แทนแบบเดิมใช้เลขบัญชีธนาคาร จะเริ่มมีบทบาท แม้ช่วงแรกเปิดโครงการคนยังใช้บริการน้อย แต่เชื่อว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

Advertisement

ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม ดิจิทัลจะช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การจัดการสวัสดิการรัฐ การดูแลสังคมสูงอายุ รวมทั้งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาโครงสร้างสังคมไทย

กระบวนการดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) ที่เกิดขึ้น คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยพื้นฐานแล้วระบบธนาคารพาณิชย์พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปตลอดเวลา คนคิดนวัตกรรมใหม่ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เห็นกระแส ฟินเทค (FinTech) ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดในช่วง 2-3 ปี สามารถแยกคำออกมาได้เป็น ไฟแนนเชียล (Financial) และ เทคโนโลยี (Technology) แปลความหมายได้ 2 ด้าน คือ อุตสาหกรรมการเงินใช้เทคโนโลยีมาทำให้เกิดประโยชน์ หรือเทคโนโลยีจะคืบคลานไปสู่อุตสาหกรรมการเงิน

ดังนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่เทคโนโลยี ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบรวม ทั้งอำนวยความสะดวกลูกค้า ตั้งแต่เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง เป็นต้น

Advertisement

หากถามว่าธนาคารมีความกังวลฟินเทคหรือไม่นั้น ธนาคารไม่ได้กังวล เพราะมองโอกาสจะร่วมมือกันทำงานมากกว่า และจะทำอย่างไรจะร่วมกันใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากที่สุด ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่า แต่ละธนาคารพาณิชย์ จึงมีโครงการคัดเลือกสตาร์ตอัพหรือฟินเทค มาร่วมกันศึกษาและพัฒนา รวมทั้งลงทุนในฟินเทคที่มีศักยภาพ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสองฝ่ายและเสริมจุดเด่น โดยระบบธนาคารยังคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับดูแล มีความเกี่ยวข้องและมีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก

ขณะที่ฟินเทค มีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ใหม่ออกมา เข้ามาเสริมช่องว่างตลาดในจุดไหนที่ธุรกิจธนาคารยังทำไม่ได้ หรือไม่มีความคล่องตัว อย่างแนวคิดอย่าง เพียร์ทู เพียร์เลนดิ้ง (Peer 2 Peer Lending) ทำให้ผู้กู้กับผู้อยากให้กู้มาพบกันโดยตรงผ่านตัวกลางบนแพลตฟอร์มต่างๆ หรือธุรกิจชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เป็นต้น

ทวีลาภยังระบุอีกว่า หลังจากนี้จะมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ธนาคารจะเข้าไปเป็นผู้เล่นและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าร่วมกับ กลุ่มพันธมิตรอาร์ 3 (R 3 Consortium) เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญในด้านฟินเทค ผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่ มีสถาบันการเงินชั้นนำของโลกกว่า 55 แห่งเป็นสมาชิก

ธนาคารกรุงเทพถือเป็นองค์กรและธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มดังกล่าว เพื่อความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม แอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ สำหรับรองรับอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงินในอนาคต

ช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารยังได้ร่วมมือกับ บริษัท เนสท์ จัดโครงการ แบงคอก แบงก์ อินโน ฮับ (Bangkok Bank InnoHub) เพื่อค้นหาและคัดสรรผู้ประกอบการฟินเทคจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลก จำนวน 8 ทีม เพื่อเข้าอบรม ระยะเวลา 12 สัปดาห์ หลักสูตรระดับสากล จะเน้นเนื้อหาเป็นประโยชน์โดยตรงกับฟินเทคในด้านเทคโนโลยีด้านการชำระเงิน ด้านกระบวนการรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC) การพัฒนาเทคโนโลยีด้าน แมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

หลังจากนั้นจะมี เดโม เดย์ (Demo Day) เป็นเวทีนำเสนอแผนธุรกิจต่อกลุ่มนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอาเซียนในเดือนกันยายนนี้ นับเป็นโอกาสที่ฟินเทคสามารถระดมทุนและร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ

อีกทั้งจัดตั้ง บริษัท บัวหลวง เวนเจอร์ส จำกัด ธนาคารถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพ หรือเอสเอ็มอี ในธุรกิจต่างๆ เช่น เมดเทค อะกิเทค (MedTech AgiTec) รวมทั้งฟินเทคที่มีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่อง โดยถือหุ้นไม่เกิน 10% ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยให้คำแนะนำรวมทั้งจับคู่ธุรกิจ สร้างเครือข่าย เพื่อให้บริษัทนั้นมีการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย

ขณะนี้ในส่วนของผู้กำกับดูแล อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้การสนับสนุนเต็มที่ โดยมีศูนย์ทดสอบนวัตกรรมการเงิน (Sandbox) ให้ธนาคารและฟินเทค ได้เข้าไปทดลองนวัตกรรมการเงินใหม่ร่วมกัน ก่อนออกสู่ตลาด

หากถามว่าธนาคารมีความกังวลว่าฟินเทค จะมาเป็นคู่แข่งธุรกิจธนาคารหรือแทนที่หรือไม่นั้น ธนาคารไม่ได้กังวล เพราะจะเข้าไปร่วมมือทำงานกับฟินเทค และคิดว่าจะร่วมกันใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากที่สุดได้อย่างไร

“ธนาคารกรุงเทพ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เป็นธนาคารขนาดใหญ่ และมีความสัมพันธ์กับลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกรูปแบบ ธนาคารตั้งเป้าหมายจะให้บริการกับลูกค้าทุกกลุ่ม และด้วยเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคจึงต้องมีการเชื่อมโยงภูมิภาค โดยยังยึดหลัก เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน แม้ว่าองค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ธนาคารต้องเร็วมากขึ้น แต่เร็วภายใต้ความเสี่ยงเหมาะสม ด้านการแข่งขันฟินเทคที่เข้ามา ปัจจัยภายนอกผลักให้ธนาคารต้องปรับตัว” ทวีลาภกล่าวทิ้งท้าย

ข้างต้นเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งจากธนาคารกรุงเทพ ยังสามารถรับฟังรายละเอียดเพิ่มเติม ในงานสัมมนาพิเศษ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ 40 ปีหนังสือพิมพ์มติชน หัวข้อ “FINTECH : นวัตกรรมการเงินเรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้” วันที่ 14 มิถุนายน 2560 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมมุมมองและนโยบายจากภาครัฐ ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมรับฟังจากตัวแทนธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รวมทั้งธนาคารกรุงเทพ มาเปิดมุมมองและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องฟินเทค

ใครที่อ่านแล้วอยากจะ …ฟินต่อ… เข้าดูได้ที่ www.matichon.co.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image