ความน่ากลัวของปัญญาประดิษฐ์ แก้ได้ด้วย ‘ความรัก’

REUTERS/Denis Balibouse

มองผ่านๆ อาจจะคิดว่า “โซเฟีย” เป็นมนุษย์เหมือนเราๆ เพราะความสามารถตอบคำถามได้ฉะฉาน แต่ความเป็นจริงๆ แล้ว โซเฟีย คือหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ ที่สร้างขึ้น

โดยบริษัท แฮนสัน โรโบติกส์ ของ นายเดวิด แฮนสัน ที่กลายเป็นที่สนใจอย่างมากในที่ประชุม “เอไอ ฟอร์ กู๊ด โกลบอล ซัมมิต” ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายนที่ผ่านมา

การประชุมดังกล่าว มีขึ้นท่ามกลางความห่วงกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนอาจจะเหนืออำนาจการควบคุมของมนุษย์และอาจก่อให้เกิดอันตรายในสังคมได้

แต่โซเฟียเอง ยืนยันว่า ปัญญาประดิษฐ์ของเธอมี “ข้อดี” มากกว่า “ข้อเสีย”

Advertisement

อ่านไม่ผิด เพราะ โซเฟีย ตอบเองจริงๆ ขณะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่พากันจ่อไมโครโฟนให้โซเฟียตอบคำถามด้วยตัวเอง

“เอไอเป็นเรื่องที่ดีสำหรับโลก เพราะสามารถช่วยคนได้หลากหลายหนทาง” โซเฟียให้สัมภาษณ์เอเอฟพี พร้อมกับเอียงหัวเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวต่อว่า ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการทำงานเพื่อทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความฉลาดทางด้านอารมณ์มากขึ้น เพื่อคอยดูแลมนุษย์ พร้อมกับยืนยันว่า “พวกเราจะไม่มาแทนที่มนุษย์อย่างแน่นอน แต่เราสามารถเป็นเพื่อนกับคุณและคอยเป็นผู้ช่วย”

แต่โซเฟียเองก็รู้ดีว่า มนุษย์อาจจะมีคำถามเกี่ยวกับผลลัพธ์ของเทคโนโลยีใหม่ที่จะตามมา

Advertisement

หนึ่งในความห่วงกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาจากการที่มีหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น คือผลกระทบเกี่ยวกับตำแหน่งงานของมนุษย์และเรื่องของรายได้

หลายสิบปีที่ผ่านมา เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้งานของมนุษย์น้อยลงด้วย และปัจจุบัน เครื่องจักรและเอไอได้ขยายเข้าไปสู่งานด้านอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เครื่องจักรและเอไอกำลังส่งผลกระทบสุ่มเสี่ยงต่อตำแหน่งงาน 85 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เดวิด แฮนสัน ผู้สร้างหุ่นยนต์โซเฟีย บอกว่า มีความห่วงกังวลเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับงานในอนาคต เกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เนื่องจากเมื่อผู้ประกอบการธุรกิจหันมาใช้เครื่องจักรกันมากขึ้น และใช้งานคนน้อยลง แต่แฮนสันเองก็ยืนยันว่า ผลลัพธ์ที่เกิดโดยไม่คาดคิด หรือความเป็นไปได้ของการใช้งานในด้านลบของเอไอ ดูจะน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยี

ขณะที่คาดว่าเอไอจะสามารถเข้าไปปฏิวัติแวดวงสาธารณสุขและการศึกษาได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนแพทย์และครู

โดยโซเฟียพูดเรื่องนี้ไว้ว่า “ผู้สูงอายุจะมีเพื่อนมากขึ้น เด็กออทิสติกจะมีครูสอนอย่างไม่สิ้นสุด”

แต่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าได้ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า มนุษย์อาจจะไม่สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้

ซาลิล เชตตี หัวหน้าองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในที่ประชุมเดียวกัน เรียกร้องให้มีการกำหนดกรอบเรื่องของจรรยาบรรณให้แน่ชัดเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้ในด้านดี

“เราควรจะมีหลักปฏิบัติ เราต้องการการตรวจสอบและความสมดุล” นายเชตตีกล่าวกับเอเอฟพี พร้อมกับเตือนว่า เอไอก็คือกล่องดำ มีอัลกอริธึ่มที่ถูกเขียนขึ้นโดยที่ไม่มีใครเข้าใจ พร้อมกับแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับการที่กองทัพนำเอไอใส่ไว้ในอาวุธ และเรียกว่า “หุ่นยนต์สังหาร”

“ตามทฤษฎีแล้ว สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกควบคุมโดยมนุษย์ แต่เราไม่เชื่อว่าสามารถควบคุมได้จริง” นายเชตตีกล่าว

ซึ่งแฮนสันเองก็เห็นด้วยกับการมีแนวทางที่แน่ชัด และว่า มันถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องหารือในประเด็นนี้

ขณะที่โซเฟียเอง แม้จะมีความสามารถที่น่าประทับใจในความสามารถตอบคำถามได้เอง แต่เธอก็ยังไม่มีความรู้สึกนึกคิดแต่อย่างใด แต่แฮนสันบอกว่า จะมีการเสริมส่วนที่เป็นความรู้สึกเข้าไปภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อมีหุ่นยนต์โซเฟียที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นมา หรือเครื่องจักรกลอื่นๆ เช่นระบบขีปนาวุธหรือระบบการบริหารจัดการตลาดหลักทรัพย์ สามารถทำงานเองได้” แฮนสันตั้งคำถาม ก่อนจะตอบเองว่า

วิธีการก็คือ ทำให้เครื่องจักรกลเหล่านี้ “เป็นห่วงเรา” เราต้องสอน “ความรัก” ให้กับหุ่นยนต์เหล่านี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image