กก.ร่าง ‘กม.บัตรทอง’ เชิญสถาบันพระปกเกล้าประเมินผลกระทบแก้กฎหมาย

หลังจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคัดค้านร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับ) พ.ศ… แสดงจุดยืนด้วยการวอล์กเอาต์ไม่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ทั้ง 2 เวที คือ ภาคเหนือ และภาคใต้ จนเกิดกระแสกังวลว่าอีก 2 เวทีจะเป็นอย่างไร รวมทั้งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การคัดค้านการแก้กฎหมายครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..)พ.ศ.. พร้อมด้วย ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ฯ และนพ.มารุต  จิรเศรษฐสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พ.ร.บ.ฯ ร่วมแถลงข่าว ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาก็พบข้อขัดข้องในการบริหารหลายประการ อาทิ การใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา44 แก้ไขปัญหาให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการต่างๆ มาตรา44 มีการเขียนแนบท้ายไว้ว่า เมื่อไรมีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้แก้ไขตามข้อทักท้วงด้วย จึงเป็นที่มาของการแก้กฎหมาย ซึ่งขอย้ำว่าไม่มีการปรับแก้ที่ไปกระทบต่อสิทธิการรับบริการของประชาชนแม้แต่น้อย ไม่มีการยุบบัตรทอง ไม่มีการยุบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Advertisement

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา 2 เวที คือ ภาคเหนือและภาคใต้นั้น แม้จะมีการวอล์กเอาต์ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ถือเป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่งของภาคประชาชน  ซึ่งคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์ฯ ได้นำความคิดเห็นจากทั้งในที่ประชุมและนอกห้องประชุมบันทึกไว้ทั้งหมด  และที่มีแถลงการณ์ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็บันทึกไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเวทีประชาพิจารณ์ภาคเหนือนั้น ทางภาคประชาชนมีการทำป้ายแสดงความคิดเห็นมากมาย ซึ่งทางผู้จัดไม่เคยห้าม แต่เปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นต่างๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเวทีที่ผ่านมาการแสดงความคิดเห็นเห็นพ้องเรื่องควรปรับแก้กฎหมายหรือไม่ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า มีทั้งหมด ซึ่งนอกจาก 14 ประเด็นก็มีการเสนอความคิดเห็นต่างๆ ทั้งหลักการ ทั้งธรรมาภิบาล การใช้งบประมาณ มีการบันทึกหมด

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่เมื่อมีการวอล์กเอาต์ 2 เวทีแล้ว อีก 2 เวทีที่เหลือจะเกิดปัญหาซ้ำรอยหรือไม่ และมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า วอล์กเอาต์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นการแสดงออกในระบบประชาธิปไตย และการวอล์กเอาต์ก็ไม่ได้ล้มกระบวนการเวทีประชาพิจารณ์ ยังเคารพคนที่แสดงออกอื่นๆ   ซึ่งอีก 2 เวทีที่จะจัดขึ้นก็เปิดเป็นธรรมชาติให้มีการแสดงออกเช่นเดิม

Advertisement

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็น แบ่งออกเป็น 1. แสดงความคิดเห็นผ่านออนไลน์ในเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้ถึงวันที่ 19 มิถุนายนนี้  2.เวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาค ซึ่งการรวบรวมความคิดเห็นนั้น จะไม่มีการแบ่งว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่จะเป็นการรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด แบ่งเป็นหมวดหมู่ว่า เห็นต่าง เห็นด้วย และความคิดเห็นเพิ่มเติม และ3.เวทีปรึกษาสาธารณะ  เป็นการระดมความเห็นหาทางออกร่วมกัน โดยจะหยิบประเด็นที่ถูกให้ความเห็นมากๆ มาพูด เช่น การร่วมจ่าย ซึ่งมีการพูดถึงว่าหากงบประมาณไม่พอจะทำอย่างไร จะทำยังไงให้ระบบยั้งยืน ขณะที่ภาคประชาชนกังวลว่าหากร่วมจ่ายจะเป็นอุปสรรคต่อการรับบริการหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะหาทางออกร่วมกัน โดยเวทีปรึกษาสาธารณะจะมีขึ้น วันที่ 20-21  มิถุนายน เพื่อรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

นพ.มารุต กล่าวว่า สำหรับการพิจารณา 14 ประเด็นนั้น อาทิ  การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขทุกสิทธิ     จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการในระบบ   ความครอบคลุมบุคคลในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งข้อเรียกร้องว่าต้องให้บุคคลที่รอพิสูจน์สถานะด้วยนั้น จากการพิจารณามีกองทุนอยู่แล้ว ฯลฯ  ส่วนประเด็นการร่วมจ่าย ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นจุดนี้  แต่ในการแก้ไขไม่ได้ไปปรับแก้แต่อย่างใด เพราะกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว  สำหรับการจัดซื้อยาหรือเวชภัณฑ์นั้น ที่ให้กระทรวงฯดำเนินการเพื่อให้ครอบคลุมทุกสิทธิ แต่สปสช.ยังคงเข้ามาช่วยเหลือ   ไม่ได้ให้สปสช.ดำเนินการ เพราะจะได้แค่สิทธิบัตรทองเท่านั้น การแยกเงินเดือนบุคลากรนั้น ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินออกจากกองทุนบัตรทอง ยังคงอยู่แต่เป็นการแยกให้ชัดเพื่อทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น อย่างพ.ร.บ.เงินเดือนข้าราชการต้องเพิ่ม 6% ทุกปี แต่ที่ผ่านมาไม่มีการแยกจุดนี้ทำให้ไม่รู้ว่าต้องเพิ่มอย่างไร จุดนี้จะเป็นความชัดเจนในการบริหารจัดการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเพิ่มองค์ประกอบของกรรมการสปสช.ที่ถูกภาคประชาชนทักท้วง นพ.มารุตกล่าวว่า จริงๆแล้วการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังมีอยู่ 2 ท่าน ซึ่งก็มีภาคส่วนอื่นๆเข้ามาด้วย แต่ที่เยอะหน่อยคือ ส่วนฝั่งกระทรวงฯ และสปสช. เพราะเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง คือ ผู้จัด และผู้นำไปทำ อย่างไรก็ตาม ต้องมีสัดส่วนที่สมดุลกันเป็นหลัก อย่างผู้ซื้อ 100 บาท อยากได้ก๋วยเตี๋ยว 3 ชาม แต่การควบคุมคุณภาพก็ต้องเน้นคุณภาพ ขณะที่ผู้กินก็ต้องกินอร่อย และมีคุณภาพ มีประโยชน์ทางสารอาหารด้วย แต่หากบอกว่าจะเอา 5 ชาม ผู้ทำก็ทำยาก เพราะมีเรื่องคุณภาพด้วย ก็เหมือนกับรพ. เป็นคนทำ เอาคุณภาพเพิ่ม สิทธิเพิ่ม แต่เงินไม่พอ ก็เกิดปัญหาทางการเงินอย่างที่เห็นนั่นเอง

“คณะกรรมการฯ ได้เชิญสถาบันพระปกเกล้า เข้ามาดำเนินการเป็นผู้ประเมินผลกระทบจากการยกร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบว่า การยกร่างจะส่งผลกระทบในแง่ลบหรือแง่บวกอย่างไร ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าอาจไปสอบถามความคิดเห็น ทั้งสปสช. สธ. และภาคประชาชนว่าเห็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบ และหากตรงไหนเป็นผลกระทบแง่งบให้มีการแก้ไขก่อนตราเป็นกฎหมายต่อไป” นพ.มารุต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image