สธ.ยันเคสเด็กเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ไม่ใช่ ‘สายพันธุ์ใหม่’ ยังพบเพียง 4 สายพันธุ์

นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน  นพ.เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ มีเด็กเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นั้น ว่า  จากการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวพบว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอผลตรวจยืนยัน  ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอยืนยันว่าในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว  ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้พบได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก  ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบอาเซียน ซึ่งพบการระบาดในหลายประเทศ  สำหรับในประเทศไทยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 63,931 ราย เสียชีวิต 64 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ  ส่วนในปี 2560 ในช่วงครึ่งปีแรก (ตั้งแต่เดือน ม.ค.–พ.ค. 2560) พบผู้ป่วย 11,062 ราย เสียชีวิต 21 ราย  ซึ่งธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกจะพบการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี  ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

“ขอแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.เจษฎา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image