เจ้าคณะชุมพรโต้สำนักพุทธฯ ปัดเอี่ยว”เงินทอน”วัดราชบุรณะ ชี้เรื่องของผู้รับเหมา

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พระราชวิจิตรปฏิภาณ เจ้าคณะจังหวัดชุมพรและเจ้าอาวาสวัดวัดราชบุรณะ (พระอารามหลวง) หมู่ที่ 2 ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร เปิดเผยว่า กรณีมีการระบุว่า วัดราชบุรณะรับ “เงินทอน”จากงบประมาณก่อสร้างสิ่งต่างๆตามงบประมาณจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้น ขอชี้แจงว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 จังหวัดชุมพรประสบวาตภัย “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ทำให้วัดราชบุรณะ หรือ วัดราษฎร์บูรณารามในขณะนั้น ได้รับความเสียหาย กรมการศาสนาจึงมีแผนฟื้นฟูจังหวัดชุมพรด้านพระพุทธศาสนา โดยให้วัดราชบุรณะจัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแผนสามัญศึกษา เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาและวิชาสามัญควบคู่กันไป โดยเปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ถึงปัจจุบัน มีการก่อสร้างอาคารต่างๆในวัด ตั้งแต่อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในสมัยนั้น นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประสานงานโดย นายสุวโรช พะลัง อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งเป็นการทำสัญญาว่าจ้างระหว่างกรมการศาสนากับผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยวัดไม่เคยได้รับเงินดังกล่าวเลย


“ต่อมานายสุวโรช แนะนำให้ประสานเพื่อของบประมาณสร้างหอประชุม ในปี พ.ศ.2546 วัดจึงประสานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจะออกแบบหอประชุมให้ตามแบบมาตรฐาน 2 ชั้น ไม่มีหลังคา ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 50 เมตร ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนา เป็นผู้ว่าจ้าง โดยโอนเงินอุดหนุนบูรณะวัดเป็นค่าก่อสร้างให้วัด แต่วัดต้องโอนเงินตามจำนวนที่สำนักงานพระพุทธฯอุดหนุนจ่ายให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมามีการของบประมาณอุดหนุนวัดเพื่อก่อสร้างโบสถ์และต่อเติมอาคารหอประชุมชั้น 3 จากสำนักงานพระพุทธศาสนา แต่การจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการระหว่างผู้รับเหมากับวัด มีการโอนเงินมายังบัญชีของวัดเพื่อจ่ายค่าก่อสร้างแต่ละงวด เมื่อโอนมาเข้าบัญชีวัด เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนา จะโทรศัพท์แจ้งให้วัดโอนเงินกลับไปยังผู้รับเหมาทันทีภายในวันเดียวกัน แต่บางครั้งมีการโอนเงินมายังบัญชีวัด 1 ล้านบาท ขณะที่บัญชีเงินฝากของวัดซึ่งเป็นบัญชีของธนาคารกรุงไทย สามารถโอนได้เพียงวันละ 5 แสนบาท จึงต้องใช้เวลาในการโอนเงินมากกว่า 1 วัน


แต่สรุปได้ว่า วัดราชบุรณะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นนับจากปี 2554 เป็นต้นมา เมื่อมีการโอนเงินตามที่วัดขออุดหนุน วัดก็ต้องจ่ายค่าค้างจ่ายให้ผู้รับเหมา ถ้ามีเงินเหลืออยู่ก็นำไปบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ซึ่งมีเนื้องานและหลักฐานการจ่ายเงินวัด ส่วนผู้รับเหมาจะไปจ่ายเงินให้ใครในสำนักงานพระพุทธฯ วัดไม่ทราบ ยอมรับว่าบางครั้งผู้รับเหมาแจ้งให้วัดโอนเงินไปหลายบัญชี ซึ่งวัดก็ทำตามคำสั่ง โดยไม่ทราบว่าเป็นบัญชีของใคร และไม่เคยได้รับเงินทอนจากงบประมาณแม้แต่ครั้งเดียว ที่สำคัญวัดราชบูรณะมีการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารทุกครั้งว่าเป็นไปตามงบประมาณหรือไม่ หากถูกต้องจึงเซ็นรับไป ทั้งนี้วัดให้ข้อมูลเท่าที่สามารถให้ได้ โดยไม่ทำให้เสียรูปคดี” พระราชวิจิตรปฏิภาณ กล่าวและว่า


วัดราชบุรณะเป็นวัดที่มีการเรียนการสอนปริยัติธรรม วิชาสามัญ และความรู้ทั่วไปแก่เด็กยากจนและเด็กกำพร้าที่บรรพชาเป็นสามเณรประมาณ 100 คน มีค่าใช้จ่ายในการทำอาหารวันละประมาณ 2,000 บาท ยังแทบเอาตัวไม่รอด แม้จะเดินบิณฑบาตทุกเช้าแต่ไม่เพียงพอฉัน ต้องอาศัยญาติโยมรับผิดชอบเรื่องอาหารของเณร ยังมีค่าไฟฟ้า เดือนละประมาณ 27,000-40,000 บาท วัดพยายามหาผู้มีจิตศรัทธาและควบคุมรายจ่ายทุกอย่าง เจ้าอาวาสไม่เคยมีเงินในบัญชีส่วนตัว นอกจากบัญชีนิตยภัต (เงินเดือนพระ) ซึ่งนำมาจ่ายค่าเช่าเหมารถยนต์รับ-ส่งเณรบิณฑบาตตอนเช้า ทุกอย่างทำบัญชีตามระบบทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ วัดไม่เคยรับรู้ว่าผู้รับเหมาไปจ่ายเงินทอนอย่างไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image