สอนเด็ก….ไม่เดินซ้ำรอย”เปรี้ยว”

จากกรณี “เปรี้ยวสวยหั่นศพ” สะท้อนอะไรให้กับสังคมหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “วิธีการเลี้ยงลูกไม่เหมาะสม” ที่ “มารดาของเปรี้ยว” ออกมาเปิดเผยว่า “เปรี้ยวมีพฤติกรรมรุนแรงเพราะตอนเด็กๆ เปรี้ยวเคยเห็นพ่อแม่ทำร้ายร่างกายกัน”

หลายคนอาจมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แต่หากมองย้อนกลับไป ปัญหาเล็กๆ นี้กลับบ่มเพาะเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็น “อาชญากร”

สังคมไทยกำลังป่วย! และต้องการการเยียวยาที่ถูกจุด วิธีแก้ปัญหาก็คงต้องย้อนกลับมาที่หน่วยเล็กๆ อย่าง “ครอบครัว” ในการบ่มเพาะ “คนดี” ที่มี “คุณธรรม-จริยธรรม” ให้กับสังคม แต่พอพูดถึงเรื่องศีลธรรมจริยธรรม พ่อแม่บางคนจะยกให้เป็นหน้าที่ของ “วัด” หรือ “โรงเรียน” เท่านั้น ทั้งที่จริงๆ หัวใจสำคัญอยู่ที่ “บ้าน”

สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) กล่าวว่า เรื่องการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ ที่พอตีความลึกลงไปคุณธรรมก็คือ “เรื่องที่เราจะอยู่ยังไง จะทำดียังไงต่อทั้งตนเองและต่อคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน รวมทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลเขา”

Advertisement

วิธีการฝึกก็ไม่ยาก แต่….จะเป็นการสั่งสอนด้วยคำพูดอย่างเดียวไม่ได้!

“เรื่องการปลูกฝังคุณธรรมเรามักจะหมายถึงการสอนทุกเช้าหน้าเสาธง ทุกคนต้องมีคุณธรรม มีระเบียบวินัย หรือถ้าเป็นในบ้าน พ่อแม่ก็สอนว่า อย่ารังแกคนอื่นนะ อย่าไปเอาของคนอื่นนะ การพูดแบบนี้เด็กไม่รู้เลยว่าคืออะไรเพราะไม่เคยปฏิบัติ”

เป็นเรื่องที่ “แค่จำ…แต่ทำไม่เป็น”

Advertisement

“ดังนั้นถ้าจะสอนให้เด็กมีคุณธรรม แค่พูดสั่งสอนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้เด็กได้ลงมือฝึกฝนด้วย”

จากการศึกษา “อีเอฟ” Executive Function (EF) หรือทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตสู่ความสำเร็จ ประธานสถาบันอาร์แอลจีเผยว่า การจดจำที่ดีที่สุดของสมองมนุษย์ คือการได้ลงมือฝึกฝน มีประสบการณ์จริงจากเรื่องนั้นๆ

“ถ้าต้องการสอนให้เด็กช่วยเหลือคนอื่น ก็ต้องให้เขาได้ช่วยจริงๆ เช่น ดูแลสัตว์เลี้ยง ดูแลเพื่อนที่ไม่สบาย หรือแบ่งขนมเพื่อน พอได้ฝึกโดยทันทีที่เขาได้ให้อะไรกับผู้อื่น มันจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ เหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่จะค่อยๆ สั่งสมความรู้สึกที่ดีกับคนอื่น ความรู้สึกที่ดีต่อการให้”

สิ่งสำคัญคือ ต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่พูดเรื่องอีเอฟ ระบุว่า ถ้าเราจะปลูกฝังอะไรให้เด็ก ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ให้เขาลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เช่น ช่วยเหลือคนอื่นเป็นประจำ ทำงานกลุ่มเป็นประจำ แบ่งปันเป็นประจำ สิ่งที่ทำเป็นประจำทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงเป็นเส้นประสาท จนกลายเป็นชิป เหมือนรากแก้วต้นไม้ที่ชอนไชฝังรากลงสู่สมอง ความคิด ความรู้สึกของเด็ก”

 

สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)

 

ส่วนประเด็น “เปรี้ยว” จากการเปิดเผยของแม่ที่ระบุว่าเปรี้ยวเห็นพ่อแม่ทำร้ายกันตอนเด็กๆ นั้น สุภาวดีเห็นว่า สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากความเคยชินที่เปรี้ยวเห็นเรื่อยๆ จนในที่สุดกลายเป็นเรื่องธรรมดา

ซึ่งนี่คือประสบการณ์ที่ฝังเป็นทักษะ เป็นสิ่งที่ฝังเป็นชิปในสมอง

“เมื่อวันหนึ่งเขาเกิดความไม่พอใจอย่างสุดขีด ก็อาจจะทำให้เขาชินกับการที่จะจัดการกับมันแบบนี้ โดยไม่มีทักษะยับยั้งใจตัวเอง”

ซึ่งถ้าพ่อแม่ของเปรี้ยวฝึกให้เปรี้ยวยั้งใจเป็น ข่มใจเป็น ควบคุมอารมณ์อยู่ เปรี้ยวก็คงไม่ใช้ความรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

“เช่นเดียวกับการฝึกเด็ก ถ้าเราฝึกให้เด็กคิดได้ว่ามีทางเลือกหลายทางในชีวิต เช่น แม่โกรธลูกมาก แต่แม่ข่มใจและบอกลูกว่า จะไม่ตีลูก เพราะแม่ไม่เห็นประโยชน์ของความรุนแรง แล้วเปลี่ยนวิธีลงโทษเป็นการงดค่าขนม เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ว่ายังมีวิธีอื่นที่ทำให้เรื่องไม่รุนแรงได้ หรือตัวเด็กเองโกรธน้องมาก แต่แม่สอนว่าตีน้องไม่ได้และสอนให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น เช่น ไม่เล่นกับน้องครึ่งชั่วโมง น้องดีเมื่อไหร่ถึงจะยอมเล่นด้วย นี่คือการสอนให้เด็กจัดการความโกรธ ถ้าแม่ฝึกไปเรื่อยๆ เด็กคนนี้ก็จะยั้งใจตัวเองเป็น ซึ่งนี่คือพื้นฐานของคุณธรรม”

ทักษะเหล่านี้นอกจากทำเป็น “ประจำสม่ำเสมอ” แล้ว จะให้ดีที่สุดต้องฝึก “ก่อนอายุ 6 ขวบ” ด้วย

“เด็กก่อน 6 ขวบ ต้องฝึกทักษะกลุ่มควบคุมอารมณ์ ยับยั้งใจตัวเอง รวมทั้งทักษะการปรับตัว เป็นช่วงที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะรับรู้ได้ดีที่สุดและเป็นรากฐานคุณธรรมของชีวิตไปภายภาคหน้า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการยั้งใจ หรือคุมสัญชาตญาณ แต่ต้องฝึกโดยเริ่มฝึกได้ตั้งแต่อายุ 7-8 เดือน ถ้าสอนตอนประถมแล้ว หรือเป็นวัยรุ่นแล้ว สมองส่วนนั้นจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าก่อน 6 ขวบ”

เรื่องที่ฝึกฝนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่เป็นเรื่องทั่วไปที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นทำงานบ้าน เล่นกีฬา อ่านหนังสือ วาดรูป ดนตรี ทั้งหมดนี้ ฝึกการยับยั้งชั่งใจ ฝึกการอดทนรอคอย การควบคุมอารมณ์ และการปรับตัวได้ทั้งหมด

“การฝึกพวกนี้ไม่ยากเย็นอะไร ฝึกให้เด็กอดทนกับเรื่องทั่วไป เช่น อยากไปเล่น ก็เดี๋ยวก่อน เรามาซักถุงเท้ากันก่อน ซึ่งเด็กก็ต้องอดทน ยั้งใจ ก่อนไปเล่นก็ต้องทำงาน หรือฝึกจากกิจกรรมที่เด็กทำ จากงานบ้านทั้งหลาย ให้ฝึกทีละนิดละหน่อย ยั้งใจทีละนิดละหน่อย อยากไปซื้อขนม ก็ยังไม่ให้ซื้อวันนี้ ให้ออมตังค์ก่อน วันละบาทสองบาท เมื่อครบ 7 วันค่อยไปซื้อ นี่ก็คือการควบคุมอารมณ์ การยั้งใจ ที่ถ้าฝึกต่อเนื่องสมองก็จะเชื่อมใยเป็นรากแก้วหยั่งลึกและถ้าปลูกฝังก่อน 6 ขวบ ทักษะเหล่านี้จะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต”

“บุคลิกภาพของการเป็นคนใจเย็น-ใจร้อน อดทนหรือไม่อดทน รู้ว่าอะไรควรทำ-ไม่ควรทำ ถูกฝังช่วงนี้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี”

 

 

ฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้มีเหตุการณ์ซ้ำรอยเปรี้ยว สุภาวดีแนะว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนใหม่ ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ต การสอนเด็กเรื่องคุณธรรมไม่ใช่แค่พูดหรือสอนในกระดาษแต่ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ

“ทุกวันนี้ที่เป็นอย่างนี้เพราะพ่อแม่ไม่สอน ไม่ทำให้ดู พ่อแม่ไม่ให้โอกาสเด็กได้ฝึก เด็กก็มีโอกาสเพี้ยนไปอย่างที่เราเห็น ถามว่าเด็กผิดไหม แน่นอน เมื่อใครทำอะไรผิด สังคมมีระบบกติกา แต่เมื่อเราย้อนกลับมาดูภาพใหญ่ ผู้ใหญ่เรานี่แหละ การเรียนการสอน การดูแลเด็ก การสั่งสอนของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผลักไสให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เด็กไม่เห็นคุณค่าคนอื่น ก็เพราะเขาไม่รู้สึกว่าเขามีคุณค่าในสายตาพ่อแม่ มันก็นำไปสู่การใช้ความรุนแรง การฆ่าฟัน การจะทำอะไรกับคนอื่นก็ได้ ซึ่งคนที่ทำอย่างนี้ เขาคิดไม่ได้เพราะเขาไม่เคยถูกฝึกคิดมาก่อน”

สุดท้าย สุภาวดีย้ำว่า มนุษย์มีทางเลือก เราต้องสอนให้เขารู้ตั้งแต่เล็กๆ

“ไม่ได้ไข่เจียว ก็กินพะโล้นะลูก อย่างนี้จะนำไปสู่การคิดในอนาคตว่า เราสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี้ไม่ได้ก็ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยให้เรียนได้ ซึ่งอันนี้ก็มาจากการสอนเรื่องไม่ได้กินไข่เจียว ก็กินไข่พะโล้ก็ได้” สุภาวดีทิ้งท้าย

 

 

ทักษะสมองอีเอฟคืออะไร

สุภาวดีอธิบายว่า ทักษะสมองอีเอฟ หรือ Executive Functions (EF) คือ ชุดกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ที่ช่วยให้เราวางแผน มุ่งใจจดจ่อ จำคำสั่ง และจัดการกับงานหลายๆ อย่างให้ลุล่วงเรียบร้อยได้ สามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน วางเป้าหมายและทำไปเป็นขั้นตอนจนสำเร็จ รวมทั้งควบคุมแรงอยากแรงกระตุ้นทั้งหลายไม่ให้สนใจไปนอกลู่นอกทาง หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่าเป็นทักษะความสามารถที่มนุษย์เราทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ว่าชนชาติชนชั้นใดๆ และไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคต เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็จะต้องใช้สมองเหล่านี้ในการดำเนินชีวิตทุกๆ วัน ให้อยู่รอดปลอดภัยและทำกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย

“เมื่อเด็กได้รับโอกาสพัฒนาอีเอฟทั้งตัวเด็กเองและสังคมจะได้รับประโยชน์ เพราะจะช่วยสร้างพฤติกรรมเชิงบวกและช่วยในการตัดสินใจในทางที่สร้างสรรค์ต่อตัวเองและต่อคนอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การควบคุมอารมณ์เป็น ทำอะไรมุมานะพากเพียร ไม่ใช้ความรุนแรง มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และจะค่อยๆ พัฒนาตามอายุมากขึ้นโดยมีทักษะนี้รองรับ” ประธานสถาบันอาร์แอลจีกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image