‘หมอธี’จี้ศธภ.-ศธจ. กำหนดเป้าหมายพัฒนาร.ร. เน้นประเมินผลลัพธ์ สมศ.เตรียมประเมินรอบสี่ปีนี้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.)และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตอนหนึ่งว่า ขอให้ ศธภ.และ ศธจ. ทำงานสำคัญใน 2 เรื่องคือ กำกับ ติดตามและตรวจสอบการบริหารงาน และการจัดการศึกษา ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ถือเป็นงานหลักที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ยังต้องทำงานวิชาการเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคมนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องเตรียมจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2560 โดยงบปี ’62 จะเป็นการบูรณาการระดับจังหวัดและภูมิภาค สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดทำงบ คือต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจน จะไม่ทำแบบที่ผ่านมา ที่เน้นกระบวนการเป็นหลัก ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่ดีจะวัดเฉพาะเรื่องสำคัญ นโยบายของรัฐบาลให้เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง ในส่วนของตัวชี้วัดด้านการศึกษาจะดูที่ผลลัพธ์ ว่าโรงเรียนสนับสนุนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างไร

“ศธภ.และ ศธจ.จะทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตามและตรวจสอบการทำงานของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ขณะเดียวกัน ศธภ.และ ศธจ. เองก็จะต้องถูกประเมินด้วยโดยดูจากผลลัพธ์ หรือคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนว่า เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ แนวทางการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายนอก รอบ 4 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แล้ว อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษา ให้ ครม.พิจารณา ในส่วนของการประเมินคุณภาพสถานศึกษาภายใน ซึ่งเดิมจะประเมินโดยต้นสังกัด เปลี่ยนเป็นให้โรงเรียนและสถานศึกษาประเมินตัวเอง แล้วส่งผลประเมินให้ต้นสังกัด และ สมศ.จากนั้นจะมีคณะกรรมการผู้ประเมินจาก ศธ.และ สมศ. ลงไปประเมินอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นการประเมินภายนอก จะไม่มีการประเมินที่ซ้ำซ้อน ผลการประเมินนอกจากจะเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ยังทำให้สามารถกำกับดูแลการทำงานได้ ส่วนครูไม่ต้องใช้เวลาสอนมานั่งทำเอกสารตัวชี้วัด คาดว่าจะสามารถเริ่มประเมินได้ภายในปีงบประมาณ 2560 นี้” นพ.ธีระเกียรติกล่าว และว่า นอกจากนี้ ในปี 2561 จะมีการปรับระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.โดยจะจัดสอบลักษณะเดียวกับการสอบข้าราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อแก้ปัญหา เรื่องมาตรฐานข้อสอบที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดข้อร้องเรียนต่างๆ และการสอบแต่ละครั้งใช้งบฯค่อนข้างมาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image