กห.เผย ผลรับฟังความเห็น ปชช. ชี้ กม.ไทยไม่ยุติธรรม ต้นเหตุขัดแย้ง-ไร้เสถียรภาพ

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์(แฟ้มภาพ)

“โฆษกกห.” ระบุประชาชนร่วมสะท้อนกฎหมายไทยยังขาดความยุติธรรม สาเหตุความขัดแย้ง-ไร้เสถียรภาพบ้านเมือง

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ จากเวทีการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านในต่อประเด็นด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับความสนใจลำดับต้นๆ โดยในภาพรวมมีความเห็นร่วมสอดคล้องกันว่า การขาดซึ่งความยุติธรรมคือสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพ ของสังคม ประชาชนสะท้อนว่าปัญหาระบบกฏหมายไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคม ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับสภาพและลักษณะของสังคม ความไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายของตัวบุคคล การใช้ช่องว่างของกฎหมายในการกระทำความผิด ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของผู้มีอำนาจ ไม่จริงจัง เสมอภาคและเป็นธรรม จึงมีความจำเป็นที่ ทุกคนในสังคม รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบและกระบวนการยุติธรรม ควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสงบสุขและไม่เกิดความขัดแย้งกัน

พล.ต.คงชีพกล่าวต่อว่า ประเด็นความเห็นร่วมที่สอดคล้องกัน อาทิ ความจำเป็นที่ภาครัฐต้องทบทวนกฎหมายให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมและกติการะหว่างประเทศ โดยลดหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกฎหมายที่ขาดความชัดเจน รวมทั้งพิจารณาและดำเนินการแก้กฎหมายที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในสังคม รัฐจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือในระบบนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำ มีกลไกที่เข้มแข็ง เป็นธรรมในการตรวจสอบขั้นตอนและองค์กรที่ใช้อำนาจตามกระบวนการยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างไม่เลือกปฏิบัติ เป็นกลางและปราศจากอิทธิพลทางการเมือง ร่วมกับการส่งเสริมให้มีระบบยุติธรรมทางเลือกหรือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยนำประชาชนมาเป็นหุ้นส่วนในการจัดการกับความขัดแย้ง เพื่อให้คู่กรณีได้มีการไกล่เกลี่ยหาข้อยุติร่วมกัน

โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า รัฐโดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เสมอภาค และเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความรวดเร็วและเท่าเทียมกันในทุกกรณี เพื่อให้เกิดการยอมรับในความเสมอภาค โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งดำเนินงานยุติธรรมต้นทาง ทั้งนี้รัฐจำเป็นต้องเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจด้านกฎหมาย การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. แก่เยาวชนและประชาชนควบคู่กันไป เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุล หน่วยงานทางกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ความตื่นตัว ตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านกระบวนการยุติธรรม ควบคู่กับความมุ่งมั่น จริงใจของรัฐ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยร่วมกันยึดเอาประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว. จะเป็นส่วนสำคัญให้สังคมสามารถลดความเหลื่อมล้ำและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image