งาน : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

งานเป็นภารกิจหลักๆ ของชีวิตทุกคน เพราะต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วย “ตนเอง” เพื่อครอบครัวให้ยังชีพอยู่ได้ในสังคม
แต่บางครั้ง “งาน” ก็ทำให้เรารู้สึกเหนื่อย รู้สึกว่ามีปัญหาที่จะต้องคอยสะสาง จนบางครั้งทำให้เกิดวิตกกังวลจนถึงเกิดภาวะ “เครียด” และเป็น “ทุกข์” แต่ผลของงานที่ได้รับคือค่าตอบแทนอันจะนำมาซึ่งการสร้างความมั่นคง ก้าวหน้า มีเกียรติยศ มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จและมีความสุข

การทำงานให้ประสบ “ความสำเร็จ” นำมาซึ่งความสุข จึงนับเป็นสิ่งปรารถนาของชีวิตทุกคน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ยุคดิจิทัล ซึ่งสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากหมายหลายชั้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งทางโลกมีนักคิดค้นจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะอเมริกัน จีน ยุโรป มีนักบริหาร คิดค้นหลักการทฤษฎีการบริหารจัดการงาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากมายตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

แต่ในทาง “ธรรม” ก็มีทฤษฎีหรือหลักธรรมของพุทธศาสนาได้ตรัสไว้เหมือนกันซึ่งมักจะเรียกว่า ตามพุทธวิธี หรือ “วิถีพุทธ” มี 5 ประการ ที่จะทำให้คนทำงานได้ผลสำเร็จ ให้ก้าวหน้า ให้องค์กรมั่นคง และส่งความผาสุกย้อนกลับมาสู่คนในองค์กร…

ประการแรก คือ มี “ใจยินดี” ยินดีในงานรักในภารกิจที่ทำ ชอบงาน ชอบเพื่อนร่วมงาน โดยผู้บริหาร ผู้นำ ชอบรายได้ และชอบสถานที่ที่ตัวเองไปสมัครงาน ถ้าคนก็ตามไปถึงที่ทำงานไม่ชอบงาน ไม่ชอบผู้บริหาร ไม่ชอบบริษัท ไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน ก็จะทำงานแบบอึดอัด รำคาญใจ ท้อใจ กลุ้มใจ แต่ถ้าคนชอบ รักงานเสียอย่าง เขาก็จะทำงานเพลิดเพลิน ทำงานเป็นสุข สนุกกับงาน เวลาผ่านไปไม่รู้ตัว บางคนเลยลืมแต่งงานไปก็มี

Advertisement

การเพิ่มความรักงานมีความสำคัญทำอย่างไรเราจะรักงานยิ่งกว่าคนอื่น 1) ให้มองว่างานให้สถานภาพที่ดี งานให้อะไรแก่ชีวิตเราเยอะเลย เช่น งานให้สถานภาพทางสังคมดีขึ้น เราจะโดดเด่น มั่นคง ขึ้นมาถ้าเรามีงานที่ทำ เขาบอกกันว่าผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนที่ถูกขอ ผู้ที่ถูกขอแล้วไม่ให้ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนที่ขอ 2) ให้มองว่างานให้ชื่อเสียง ให้เกียรติยศขจรขจาย ใครเคลื่อนไหวไป การงานได้ ก็จะมีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฏทั้งการแสดงทางสังคม ทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง เพราะเรามีผลงาน งานสร้างชื่อเสียง 3) ให้มองว่างานให้สติปัญญา เพราะปัญญาย่อมเกิดแก่คนผู้หมั่นประกอบ คนหมั่นประกอบที่ปัญญาเกิด หมั่นคิด หมั่นทำ หมั่นประกอบ เช่น มีเด็กคนหนึ่งอายุสิบกว่าปี ไปอยู่กับอา อาเปิดอู่ซ่อม เด็กคนนั้นจบ ป.6 แต่อาจบ “วิศวะ” เปิดร้านซ่อม ปรากฏว่าต่อมาหลานจำได้ว่าซ่อมอย่างไร ทั้งเกิดความชำนาญ ทำไปทำมาก็เลยแยกไปตั้งร้านใหม่ อ่านภาษาอังกฤษก็ไม่ออก ก็ไปจ้างคนที่อ่านภาษาอังกฤษออกมาเป็นลูกจ้าง แล้วเปิดกิจการร่ำรวยได้ เพราะระหว่างประสบการณ์กับวิชาการ เขาไม่มีวิชาการ ไม่มีโอกาสได้เรียน แต่อามีวิชาการ แล้วเขาก็อาศัยประสบการณ์อยู่กับวิชาการไปเปิดร้าน…รวย

มีคนถามว่าระหว่าง “อาจารย์สอน” กับ “งานสอน” อันไหนเชี่ยวชาญชัดเจนมากกว่ากัน ครูสอนในห้องได้แต่พูดๆๆๆ แต่งานมันสอนให้เรารู้ว่า ผิดก็เป็นครู “งานสอน” กับ “อาจารย์สอน” อย่างไหนเชี่ยวชาญ อย่างไหนชัดเจน อย่างไหนจะมีทักษะมากกว่ากัน ทำดีเถอะงานจะให้อย่างชัดเจน เชี่ยวชาญจริงๆ แตกฉานจริงๆ ชัดเจนจริงๆ ถ้าเราลองทำงานแบบ ตาก็เฝ้าดู หูก็รับฟังมา มือก็จรดไปทำไป ทั้งใคร่ครวญ ตริตรอง ยอมรับฟังคนอื่นที่เขาเก่งกว่าเรา เอาความรู้ในเมโมรีไว้เรื่อยๆ หนักเข้าๆ เราก็จะกลายเป็นคนมีประสบการณ์ เป็นคนทำงานเก่ง ทำงานดี แก้ไขงานที่ติดขัดได้ง่ายดาย ด้วยสติปัญญาที่เราเก็บเกี่ยวมาเรื่อยๆ สั่งสมไปเรื่อย เมื่อมีโอกาสเจอปัญหา ให้งัดปัญญาจากกล่องความจำมาใช้ทันทีเลย นับว่าได้ผลดี

ทุกชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยงาน : คนไม่รักงานเท่ากับไม่รักชีวิต เพราะชีวิตทุกชีวิตดำรงชีพอยู่ได้ด้วย “งาน” อวัยวะทุกส่วนในร่างกายเรานั่งทำงานกับชีวิตของเราจึงได้ดำรงอยู่ “ตา” ทำหน้าที่ดู “หู” ทำหน้าที่ฟัง “ปาก” ทำหน้าที่พูด เคี้ยว กลืน กิน บอก สั่ง “จมูก” ทำหน้าที่หายใจ จมูกไม่เคยลาพักเที่ยว จมูกไม่เคยมาสาย จมูกไม่เคยลาป่วย ป่วยยังไงๆ ก็ต้องทำหน้าที่ ต้องทำงาน ขนาดเป็นหวัดฟึดฟัด หายใจ มีไหม? ถ้าจมูกบอกขอพักเที่ยวหนึ่งชั่วโมง ขี้เกียจทำงาน หรือหยุดหายใจ…ก็จบชีวิต นี้เห็นไหมทุกชีวิตอยู่ได้ด้วยงาน แม้พืช สัตว์ ก็เป็นชีวิต ก็ต้องทำงาน…ใครไม่ทำงาน ก็เท่ากับไม่รักษาชีวิต

Advertisement

ข้อสำคัญข้อแรกเลยต้องมอง “งาน” ให้อะไรกับชีวิตเราเยอะแยะ เรายิ่งรักงาน ชอบงาน หลักๆ เราก็จะทำงานอย่างสนุก เป็นสุขกับงาน โดยไม่ต้องเอาเงินไปซื้อความสุข…

“ซึ่งเป็นสุขเทียม สุขจอมปลอม” ชีวิตก็รอดแล้วคนก็ดี ครอบครัวก็ดี สังคมก็ดี ประเทศก็มั่งคั่ง องค์กรมั่นคง บุคลากรก้าวหน้า งานก็ประสบความสำเร็จ…
ข้อที่สอง…มีใจฮึกเหิม กระตือรือร้น กระวีกระวาด ขยันขันแข็ง แข่งกับเวลา อย่าออกอาการเฉื่อย ท้อแท้ หัวเราะ เปราะบาง คนทำงานต้องมีวิริยะอุตสาหะ เพียรพยายามมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาอุปสรรค จนกระทั่งงานสำเร็จด้วยดี ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในผลงาน… “ยอมลำบากตอนหนุ่ม ดีกว่าไปกลุ้มตอนแก่” ยอมลำบากให้เหงื่อออกทางขุมขน ดีกว่าขี้เกียจตัวเป็นขน ดีกว่าขี้เกียจแล้วยอมจน จนน้ำล้นออกทางตา อย่าทำงานแบบคนขี้ท้อ ขี้เบื่อ จับจด ใจเสาะ เปราะบาง อ่อนแอ…คนนั้นชีวิตจะไม่เจริญไม่ก้าวหน้า มีแต่อับเฉา…

เขาถึงบอกกันว่า…ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น…

ข้อที่สาม…ทำงานให้มีสติระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ทำงานอย่าให้เกิดความสับสน เพราะขาดสติ เบลอๆ เหม่อๆ จะทำงานไม่ได้เรื่อง ถ้าทำงานแบบมีสติ รู้ตัว ทั่วพร้อมงานก็จะทำด้วยความมั่นใจงานก็จะสำเร็จด้วยดี เรียบร้อยอย่างเป็นระบบระเบียบบรรลุ

ท้ายสุดบางคนทำงานจะมีแต่ร่างกายแต่ไร้วิญญาณ ต่อมสติชำรุด ไม่รู้สึกตัว…

ข้อที่สี่…ชีวิตตั้งมั่นในการงาน ไม่ปัดป่ายฟุ้งซ่าน คือทำงานแบบมี “สมาธิ” ทำงานแบบตั้งมั่น ตั้งใจ จริงใจ กัดติดกับงาน เรียกว่า ทำงานแบบเพ่งพินิจกับทำงานแบบพล่าน และก็คุยพร่ำเพรื่อ จนงานบกพร่อง คนไทยเราเป็นโรคชนิดหนึ่งมากที่สุด คือ โรคสมาธิสั้น ฟุ้งซ่านยาว เป็นเยอะ งานก็ไม่เสร็จสมหวังดังใจปรารถนา ต้องหัดทำงานแบบเพ่งๆ เฉพาะหน้า อดีตมันผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึงไปพะว้าพะวังในการทำงานไม่ได้เรื่อง อย่ามัวแต่นึกถึงอดีต นึกถึงอนาคต…ปัจจุบันลืมหมด ทำงานไม่ได้เรื่อง ต้องทำงานแบบเพ่งๆ คิดปัจจุบันเป็นหลัก
..
อย่าทำงานแบบพล่าน แล้วก็คุยกันลั่น…อย่างนี้เสียงาน งานบกพร่อง…

ข้อที่ห้า…ทำงานด้วยฉลาดรอบรู้และเข้าใจ ทำงานไปต้องเข้าใจรอบรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ยิ่งอยู่ยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ ประเภทโง่เรื้อรัง เซ่อถาวร เซ่อนิรันดร เซ่อระยะยาว หน้าสวย… แต่เซ่อประจำ บางแผนกรูปหล่อทั้งวันแต่โง่ตลอดทั้งคืนทั้งวัน อย่างนี้จะไปทำงานได้อย่างนี้มันต้องมีความรู้ ฉลาด มีปฏิภาณ ทำงานไปเข้าใจไป รอบรู้ไปพอกพูนไปเรื่อยๆ งานก็จะดีขึ้นๆ มีคุณภาพมากขึ้น ทำงานต้องใช้หู ใช้ตาให้เกิดประโยชน์รู้จักสังเกตสังกา ทำไปคิดไปให้เกิดประโยชน์ทาง “ปัญญา” ใครเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต นักคิด นักทำ นักค้นคว้า นักแก้ปัญหา ก็จะพบได้ ค้นพบได้ อย่างที่เรียกว่า “คนค้นคน” จะมีจะพบให้เห็นในองค์กรหนึ่งๆ ที่มี “ต้นแบบ ช้างเผือก” ให้ปรากฏ

การทำงานนั้นเป็นการปฏิบัติธรรม : เพราะธรรมะแปลว่าหน้าที่ ถ้าเราทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้วนั้น มันก็เป็นการมี “ธรรมะ” เหมือนกับคนอยู่ในวัดไม่ทำอะไรเลยกับคนที่อยู่ในไร่นา แล้วทำหน้าที่เต็มที่ หรือให้ลูกได้มีกิน มีใช้ ได้เรียน ได้ศึกษา แล้วส่วนที่เหลือก็แจกจ่ายทำบุญสุนทาน ถามว่าชาวนาที่ไถนา มีธรรมะมากกว่าคนที่อยู่ในวัดในโบสถ์แล้วมัวแต่นั่งอ้อนวอน บวงสรวงสั่นตัวหรือเปล่า เราคงจะพอมองออกว่าคนที่มัวแต่นั่งอ้อนวอนอยู่โบสถ์ไม่ทำอะไรเลย จะเรียกว่าเป็นคนมีธรรมะไม่ได้ เพราะเพียงแต่อยู่ในวัดเท่านั้น สู้คนชาวนาชาวไร่ไม่ได้

การประกอบอาชีพ หรือหาเลี้ยงชีพ ที่เรามักพูดกันว่า “ทำมาหากิน” ในทางที่ถูกต้อง ในทางที่ไม่เป็นบาปเป็นโทษ ที่จะทำให้ตนเองอยู่ร้อนนอนทุกข์ ทางพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า…เป็น “สัมมาอาชีวะหรือสัมมาอาชีพ นั่นเอง” หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสอนมาเป็นเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว สามารถพิสูจน์สัจธรรมนี้ได้ตลอดเวลาเป็น “อกาลิโก” กาลเวลาไม่สามารถมาหยุดหรือทำให้สัจธรรมนี้เปลี่ยนไปได้

ซึ่งมีหลักการอยู่ที่ว่า ไม่หาเลี้ยงชีพในทางที่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น รวมถึงประเทศชาติบ้านเมืองด้วย…

ผู้เขียนเองขอให้พวกเราคิดว่าทำงานอย่างไรจะมีความสุขหรือมีความสุข
ขึ้นมาได้จากการทำงาน สนุกกับงาน มีความ
สุขกับงาน เพราะบางคนทำงานแล้วรู้สึกเป็นทุกข์ทรมานใจนั้นเป็นวิสัยของคนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีมโนธรรมอยู่ในหัวใจ ถูกใช้ทีไรก็ขี้เกียจ เดือดร้อนใจทุกที ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนขยันย่อมอยู่เป็นสุข คนขี้เกียจย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นคนทำงานทุกคนต้องฝึกในเรื่องความขยันก่อนเราเรียกว่า ละลายพฤติกรรมขี้เกียจก้าวข้ามให้ได้ แล้วหนักสุดก็จะถึงคำที่ว่า “สนุกและเป็นสุขกับการทำงาน”

งานให้อะไรกับชีวิต มีผลตอบแทนอย่างไรบ้าง? งานให้คุณธรรม งานให้หลุดพ้นจากความหลงใหลใฝ่ต่ำ จะไม่ไปเพลินกับอบายมุข คนทำงานเพลินๆ…มีใครมาชวนไปกินเหล้า ไปเล่นการพนัน ไปดูละคร ลิเก ก็ไม่ไป คนขยันคนชอบรักงานเป็นชีวิตจิตใจ จิตจะไม่หลงใหลใฝ่ต่ำ ยิ่งทำงานคิดช่วยคนมันเป็นสิ่งประเสริฐ
จริงๆ พอคิดช่วยคน…คนก็คิดช่วยเรา เป็นอานิสงส์เพราะจิตใจจะสูงส่ง แล้วก็ทำให้ชีวิตของเขาเจริญรุ่งเรือง ครอบครัวดี เราก็ไม่เจ็บไม่ป่วยตายอย่างไร้สาระ

งานกับความต้องการของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับความอยากได้มากเกินไปที่เรียกว่า โลภมาก ก็เป็นภัยเป็นพิษ เพราะการไม่รู้จักพอ ก็ก่อให้เกิดผลร้ายกับตนเอง เขาจึงพูดๆ กันว่า คนมี 2 ประเภท : ประเภทแรกคือ จนจริงๆ จนชนิดเรียกว่าไม่มีอะไรเลยเกิดมาจนแต่ในท้องแม่ อีกประเภทหนึ่ง จนเพราะไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม ซึ่งทั้งสองประเภทต่างกัน พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า “นัตติ ตัณหา สมานที” แปลว่า ไม่มีแม่น้ำใดๆ จะยิ่งใหญ่เสมอเท่ากับความต้องการของมนุษย์ พูดภาษาบ้านบ้านว่า…มนุษย์โลกไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักจนหาที่สุดไม่ได้ ปานนั้น

“การทำงาน” ก็เช่นกันในสังคมหนึ่งต้องรู้จักทำตัวลู่ลม หรือแม้แต่การดึงว่าว หากกระแสลมแรงแล้วยังพยายามดึงว่าวขึ้น จะมีแต่หัวทิ่มลงดิน การดูทิศทางลม การรู้จักผ่อนคลายทำให้เราอยู่รอดได้ ผิดกับการยืนกรานแบบไม่ยอมใคร บางครั้งอาจจะทำให้ล้มได้ง่ายๆ เหมือนกัน หากเราไม่รู้จักลู่ลม ไม่รู้จักทิศทาง อาจจะมี “ปัญหา” ตามมา…

ขอให้พวกเราที่เป็นมนุษย์ “เงินเดือน” หรือแม้แต่เถ้าแก่เศรษฐี ผู้ใหญ่สูงศักดิ์ก็ตาม การทำงานใดๆ ร่วมกับผู้อื่นที่มี “นาย” มี “บอส” ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ขอให้ดูต้นไม้ ก็แล้วกันหากไม่ลู่ตามลมก็มีแต่จะหัก ต้นไม้บางครั้งยังต้องเข้าใจลม ลมมาแรงก็ต้องรู้จักทำตัวลู่ลมฉันใด คนเราที่ทำงานก็พึงประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกัน ถึงต้นไม้จะยืนต้นอยู่รอดได้ เราก็เช่นกันก็อยู่ได้เช่นกัน อีกทั้งใครเจอ “ความทุกข์” ในการทำงาน ขอให้นำมาเป็นบทเรียนในการ “พัฒนา” ชีวิต พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกความผิดพลาดเป็น “ครู” สอนเราอย่างชาญฉลาด สร้างโอกาสให้ตนเองด้วยการ “พัฒนาความทุกข์” ให้เกิดเป็น “ศรัทธา” เกิดเป็น “วิริยะ” เกิดเป็น “อุตสาหะ” เพื่อที่จะพร้อมปรับยุทธศาสตร์ชีวิตไว้สู้กับทุกข์ เพื่อ “การมีชีวิตวันนี้ดีกว่าวันวาน”

ผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้ คือมีสิ่งหนึ่งสำหรับคนที่เป็น “นาย” หรือ “บอส” ว่า คนที่เป็นลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาก็มีชีวิตจิตใจ อยากได้ดี มีคำหวาน แรงจูงใจ ดูแลให้อนาคตแก่เขาบ้าง ใครก็อยากได้ดี ปูนบำเหน็จให้เมื่อมีโอกาส เพราะคน “รักงาน” รักเจ้าของ “เหมือนสุนัขรักเจ้าของฉันใด วัวควายที่ทำงานแต่พูดไม่เป็น ประจบไม่ได้ก็อยากได้ดีฉันนั้น” ขออย่างเดียวว่าท้ายสุด “คนเป็นนาย” อย่าได้เป็นอย่างที่ว่า คือ “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” ก็แล้วกันนะครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image