จุดแข็ง-จุดอ่อน นับ 1 ‘ทวงคืน’ มรดกชาติ

ร้องเฮกันยกใหญ่ สำหรับคนไทยที่สนับสนุนการ “ทวงคืน” โบราณวัตถุไทยที่ระเห็จไปโชว์ตัวอยู่ต่างแดนอย่างผิดกฎหมายหลังมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จรดปากกาลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ 32 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน

งานนี้ กลุ่มสำนึก 300 องค์Ž ซึ่งผลักดันอย่างหนักผ่านโลกโซเชียลมานานนับปียิ้มออก และยังบอกว่าได้เริ่มต้นนับ 1 กันเสียที หลังจากภาครัฐให้สัมภาษณ์แบบ ออกแขกŽ มาหลายหน แต่ยังไม่เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์Ž นักวิชาการอิสระ ผู้ขับเคลื่อนด้วยการรวบรวมข้อมูลนำเสนอกรมศิลปากรตลอดมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ โดยออกมาแสดงความคลางแคลงใจว่า ในจำนวน 133 รายการ มีประติมากรรมโพธิสัตว์สัมฤทธิ์กลุ่มประโคนชัยจากปราสาทเขาปลายบัด 2 อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่เคยเรียกร้องหรือไม่ และมีกี่องค์ เนื่องจากฝ่ายรัฐมักให้สัมภาษณ์ถึงแต่ทับหลังปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และทับหลังปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีหลักฐานภาพถ่ายชัดเจน ส่วนพระโพธิสัตว์แม้ไม่มีภาพถ่าย แต่บ่งชี้ได้จากรูปแบบศิลปะ อีกทั้งบทความมากมายทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ก็ระบุที่มาตรงกันว่าเคยอยู่บนแผ่นดินไทย ยังไม่นับข้อมูลบนป้ายจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่ระบุไว้เองอย่างแจ่มชัดถึงต้นกำเนิดทางภาคอีสานแห่ง ไทยแลนด์ นับเป็น จุดแข็งŽ ในมุมมองเชิงวิชาการ

ส่วนการดำเนินงานนั้น ดำรง ลีนานุรักษ์Ž อดีตรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ ผู้สนับสนุนการทวงคืน ระบุว่า ได้ติดต่อกับ เจสัน เฟลซ์Ž นักหนังสือพิมพ์อเมริกันชื่อดัง ด้านการเปิดโปงขบวนการค้าโบราณวัตถุเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวมานาน

Advertisement

ดำรงเล่าว่า ล่าสุดเจสันรับทราบถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้แล้ว และฝากบอกว่ายินดีช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่กลุ่มสำนึก 300 องค์ รวมถึงรัฐบาลไทย โดยการประสานงานภาครัฐและพิพิธภัณฑ์ทางอเมริกา

พูดง่ายๆว่า ฝรั่งรอช่วยอยู่แล้ว เหลือแต่ทางเราจัดการ ชงŽ ไปเท่านั้น

ในขณะที่ อนันต์ ชูโชติŽ อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ประสานไปยังสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland security Investigation) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งรับเรื่องเตรียมเจรจากรณีโบราณวัตถุไทยแล้ว

Advertisement

ดูเหมือนทุกอย่างราบรื่น รอเพียงการเดินหน้าตามขั้นตอน

ทว่ายังมีประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาเทียบเคียงบ่อยครั้ง อย่างกรณีบริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ ที่ไม่ยอมคืน จารึกโรเซตตาสโตนŽ ให้อียิปต์ และ ภาพสลักจากวิหารพาร์เธนอนŽ ให้กรีซ แม้ว่ารัฐบาลกรีซจัดการรณรงค์ครั้งใหญ่ ถึงขนาดยูเนสโกก็ยื่นมือเข้ามาช่วย แต่จนบัดนี้ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์Ž อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่อังกฤษ อธิบายว่า บริติชมิวเซียมให้เหตุผล 2 ข้อหลักคือ ข้อแรก คือเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้วจนหมดอายุความของกฎหมาย และข้อสอง ถ้าหากมีการคืนชิ้นส่วนวิหารพาร์เธนอนจะทำให้พิพิธภัณฑ์ทั้งในอเมริกาและยุโรปเกิดปัญหา เพราะต่างก็เก็บโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากทั่วโลกไว้ ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ เหตุผลที่ว่าของพวกนี้อยู่ที่บริติชมิวเซียมก็ดีแล้ว เพราะมันเป็นมรดกโลก ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ง่ายถ้ามันอยู่ที่ลอนดอน

ส่วนกรณีประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชาŽ ทวงคืนเครื่องทองจากอังกฤษสำเร็จด้วยเวลาแค่ 153 วัน โดยไม่ต้องใช้หลักฐานภาพถ่ายเก่าเลยแม้แต่ใบเดียว ตามที่กลุ่มสำนึก 300 องค์นำข้อมูลมาเผยแพร่นั้น พิพัฒน์ย้อนเล่าถึงข้อมูลที่ว่า เมื่อปี 2559 เขมรก็เพิ่งได้รับเทวรูปปราสาทเกาะแกร์คืนจากพิพิธภัณฑ์เดนเวอร์ ในสหรัฐ รวมถึงจากเมโทรโพลิแทนมิวเซียม ซึ่งจัดแสดงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกลุ่มประโคนชัยและโบราณวัตถุจากไทยหลายชิ้น คำถามสำคัญของเรื่องนี้คือ เหตุใดสหรัฐจึงยอมคืนโบราณวัตถุให้กัมพูชาอย่างง่ายดาย เหมือนให้เปล่าŽ

ในแวดวงโบราณคดีนั้นพอทราบกันดีว่า นักโบราณคดีอเมริกันเข้าไปทำงานวิจัยไปขุดค้นกันมากในกัมพูชา เรียกว่าเนื้อหอมมาก เพราะมันเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ใครก็อยากเข้าไปทำงาน ดังนั้น การคืนโบราณวัตถุพวกนี้ อเมริกาเขาได้ประโยชน์ด้วย ส่วนกัมพูชาเองก็ได้ประโยชน์ถึง 3 ทางเลยคือ ได้ของคืน ได้ฝรั่งเข้ามาทำงานวิจัย และนักโบราณคดีกัมพูชาเองก็ได้เรียนรู้การทำงานจากฝรั่งŽ พิพัฒน์วิเคราะห์

ย้อนกลับมาไทย ถามว่าความเป็นไปได้ในการได้ของคืนมีมากน้อยแค่ไหน?

อาจารย์บอกว่า ไม่ง่าย และไม่ยากŽ

ของพวกนี้ราคาสูงลิบลิ่ว พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาเขาก็ซื้อเข้ามาจัดแสดง ถ้าคืนด้วยความรู้สึกเชิงจริยธรรมล้วนๆ ก็ถือว่าโชคดีมาก หรือเรามีผลประโยชน์อะไรไปเสนอเขาหรือไม่ เพราะทุกวันนี้นักโบราณคดีฝรั่งหลายคนก็บ่นๆ ว่าการเข้ามาทำงานวิจัยในไทยนั้นยากมาก แน่นอนว่าประติมากรรมกลุ่มประโคนชัยนี้มาจากไทย นักโบราณคดีนักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างชาติต่างรับรู้ร่วมกัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าฝ่ายที่จะคืนจะรับฟังหลักฐานไหม

แต่อีกด้านก็ไม่ยากเลย ถ้าเรามีเงินซื้อคืนกลับมา บางองค์ราคาไม่มาก สัก 2-3 ล้านบาท คาดการณ์ว่ามีราว 300 องค์ ก็ราว 600 ล้านบาท ถามว่าคุ้มไหม ก็คุ้มในแง่ความสำคัญ แต่ต้องคิดด้วยว่าหลังจากนั้นทำอะไรต่อไป ต้องมีแผนรองรับ เช่น สร้างพิพิธภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นขึ้น ซึ่งพื้นที่เขตเขาปลายบัด-พนมรุ้งมีศักยภาพอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดใช้เวลายาวนานแน่นอน และอาจไม่ได้คืนมาทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำใจŽ พิพัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image