กรมศิลป์เผยภาพชุดขุดกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ไขปริศนาเทคนิคการก่อสร้างยุคโบราณ จ่อบูรณะคืนความสง่างาม

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. กลุ่มเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการบูรณะกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้จัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2560 เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนากำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นป้อมปราการสำคัญทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในการดำเนินงานครั้งนี้ได้ดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนากำแพงเมืองฉะเชิงเทราโดยเริ่มจากกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก บริเวณใกล้กับเรือนจำกลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ในส่วนที่จังหวัดฉะเชิงเทราได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ไปแล้ว รวมระยะทาง 196 เมตร

การขุดตรวจทางโบราณคดี ภายในกำแพงเมือง และภายนอกเชิงเทินเพื่อตรวจสอบระดับพื้นใช้งาน รวมถึงวิธีการเตรียมฐานรากเพื่อก่อสร้างกำแพงเมือง ซึ่งทำให้ทราบวิธีการก่อสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทราว่ามีการก่ออิฐถือปูนเป็นฐานรากแบบผนังรับน้ำหนัก มีความลึกจากระดับพื้นการใช้งานบนกำแพง (พื้นปัจจุบันบริเวณที่วางปืนใหญ่) ถึงระดับอิฐก้อนสุดท้าย 2.60 เมตร

ด้านหลังของกำแพงมีแนวเชิงเทินเป็นแนวล้อไปกับตัวกำแพง ระหว่างแนวกำแพงและเชิงเทินมีการก่ออิฐถือปูนเป็นคานค้ำยัน

Advertisement

ในการก่อสร้างส่วนฐานรากพบว่ามีการขุดดินเพื่อเตรียมการก่อสร้างเป็นร่องตามแนวยาวของกำแพง เชิงเทิน และคานค้ำยันที่จะสร้าง จากนั้นถมปรับพื้นที่ด้วยก้อนหินกรวด โดยวางก้อนหินกรวดรองใต้แนวที่จะก่ออิฐ บริเวณใต้แนวกำแพงปูก้อนหินกรวดหนาประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนใต้แนวเชิงเทินและคานค้ำยัน ปูรองพื้นหนาประมาณ 25 เซนติเมตร ด้านข้างของแนวกำแพงและแนวเชิงเทิน พบหมุดไม้ปักเป็นแนวล้อตามความยาวของแนวอิฐ เพื่อป้องกันก้อนหินเคลื่อนตัว

แนวหินกรวดที่ปูรองใต้แนวอิฐมีการปูยื่นเลยแนวกำแพงและแนวเชิงเทินออกมาด้านละประมาณ 1 เมตร เมื่อปรับระดับพื้นด้วยหินกรวดแล้ว มีการปูรองด้วยไม้หมอนโดยวางขวางแนวอิฐเป็นระยะ 30 เซนติเมตร

Advertisement

จากการขุดตรวจในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าแนวเชิงเทินและคานค้ำยันถูกรื้อไปเกือบทั้งหมด นักโบราณคดีจึงได้ดำเนินการขุดตรวจแนวเชิงเทินและแนวคานค้ำยันทั้งหมด เพื่อจัดทำรูปแบบเพื่อการบูรณะกำแพงเมืองฉะเชิงเทราต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image