ดราม่า ‘ลำไย-ลิลลี่’ ปัญหาเรื่อง ‘เพศ’ ของเมืองศีลธรรมดีงาม

ลำไย ไหทองคำ-ครูลิลลี่

หลังประกาศว่าให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันนำประเทศไปสู่การเป็น “มหาอำนาจผลไม้โลก” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แสดงผลงานแรกกับการแสดงความเป็นห่วงต่อ “ลำไย”

ไม่ใช่ผลผลิตทางการเกษตร แต่เป็น “ลำไย ไหทองคำ” เจ้าของยอดวิว 243 ล้านครั้งบนยูทูบ จากเพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ฮิตขนาดคนที่ไม่ตั้งใจฟังยังร้องตามได้ ยิ่งถ้ามีงานแสดงที่ไหน คนดูจะตามไปชมล้นหลาม

ที่ดูจะเป็นปัญหาที่สุดคือท่าเต้นและเครื่องแต่งกายน้อยชิ้น

เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ ถึงกับนายกรัฐมนตรีต้องเอ่ยปากออกมาในที่ประชุมว่าฝากสื่อให้ช่วยไปเตือนหน่อย

Advertisement

“อย่างกรณีคลิปวิดีโอ บางอันดีๆ กลับมีคลิปไม่เหมาะสมต่อท้าย อย่างคลิป ของลำไย ไหทองคำ รู้จักลำไย ไหทองคำกันหรือไม่ อัตลักษณ์การสร้างเนื้อสร้างตัว ขอบคุณผู้หญิงแก่ๆ คนหนึ่ง ขอบคุณครูที่สอนวิธีการเต้นจนหนูมีชื่อเสียง เต้นแบบนี้หรือ เกือบจะโชว์ของสงวน พูดไปก็ไม่ดี เดี๋ยวหาว่าผมบ้า แต่อยากให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา”

ทันใดนั้นสปอตไลต์ก็จับไปที่ “ไหทองคำ”

ทั้งเจ้าของค่ายเพลงและนักร้องต้องออกมาตอบคำถามกันพัลวัน

Advertisement

เป็นประเด็นต่อเนื่องบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายวันติดต่อกัน เชื่อว่า “ลำไย” เองก็คงไม่คิดว่าตัวเองจะยึดพื้นที่สื่อได้ขนาดนี้

และอีกชื่อหนึ่งที่ขาดไม่ได้ถ้ามีประเด็นเรื่องแต่งโป๊ “ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช” นายกสมาคมเสริมสร้างความครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข

ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องนุ่งสั้นให้เจ๊เบียบขัดใจ เพราะสะดุดตั้งแต่ “ชื่อ” แล้ว โดยติงว่าตั้งชื่อเน้นไปทางเรื่องเพศ พร้อมเสนอว่าทำไมไม่เป็น “ลำไย ใจดี-ลำไย ใจงาม”

ทำไมต้องเป็น “ไหทองคำ”

แม้ จ๊ะ อาร์สยาม หรือ จ๊ะ คันหู หมอลำซิ่งรุ่นพี่ที่เคยโดนกระแสต่อต้านแบบนี้มาก่อน จะออกมาให้กำลังใจ โดยมองว่าหมอลำซิ่งล้วนแต่งตัวแบบนี้ทั้งนั้น “ถ้าเป็นท่าเต้นแปลกๆ ยกขาเด้ง จะเป็นข่าวทันที”

รวมถึง แคนดี้ รากแก่น นักร้องสาวที่เข้าอกเข้าใจลำไย เพราะตัวเองจากเดิมที่ร่ายรำอ่อนหวานแล้วไม่มีงานจ้าง แต่พอเปลี่ยนมาเต้นแนวสนุกๆ แล้วงานเข้าจนคิวแน่น สะท้อนว่าคนสนใจและชอบการแสดงแบบนี้จริงๆ

แต่ที่สุดแล้ว “ลำไย” ไม่ดื้อ น้อมรับคำติติงมาปรับทั้งท่าเต้นและการแต่งกาย

คำถามคือ ทำไมผู้นำประเทศจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้นัก

ต่อให้ลำไยเลิกแต่งโป๊ เปลี่ยนใจมาเต้นเบาๆ วันข้างหน้าก็จะมี ลำไย2-3-4-5 ต่อไปเรื่อยๆ เช่นที่เรามีดารานักร้องแต่งวาบหวิวมานักต่อนัก ขณะเดียวกันก็ทำให้เราพบหน้า “เจ๊เบียบ” เป็นประจำ

ปัญหาอยู่ที่คนแต่งวาบหวิว หรืออยู่ที่คนมอง?

ภาพที่ครูลิลลี่โพสต์ลงออนไลน์

เมื่อ “พี่อยากจะสอนหนู” แต่ไม้บรรทัดไม่ได้มีอันเดียวบนโลก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยไม่ได้นัดหมาย ตอกย้ำภาพการปิดกั้นเรื่องเพศของสังคม

เมื่อ “ครูลิลลี่” อาจารย์สอนภาษาไทยชื่อดัง โพสต์ภาพชายหญิงแนบชิดกันบนรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยระบุว่า “พี่ไปซื้อปากกาที่บีทีเอสก่อนมาสอน พี่อยากจะสอนลูกหลานว่า รักกันไม่ผิดนะลูก แต่ขอให้ดูกาละเทศะ”

เกิดดราม่าบนโลกออนไลน์ทันที เพราะมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนว่าชายหญิงทำตัวไม่เหมาะสมในการแสดงความรักในที่สาธารณะ

ส่วนฝ่ายที่ออกมาแย้งเห็นว่าครูลิลลี่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนในภาพ โดยตั้งใจจะประจานให้เกิดความอับอายแม้จะไม่เห็นใบหน้า อีกทั้งคนในภาพไม่ได้ทำอนาจารใดๆ เพียงแค่กอดกัน

การทำหน้าที่ของครูลิลลี่ไม่ต่างจากการพิทักษ์ศีลธรรมของระเบียบรัตน์ ตั้งตนเป็นไม้บรรทัดวัดมาตรฐานจริยธรรม แล้วบอกว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ถูกต้อง

คงไม่เกินเลยหากจะพูดว่าเป็นการเอาศีลธรรมชี้หน้าคนอื่น

การมีมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองไม่ใช่สิ่งผิดถ้าเก็บเอาไว้ใช้กับตัวเอง แต่การเอามาตรฐานตัวเองไปมองคนอื่นแล้วชี้ถูกผิดย่อมไม่ถูกต้อง

เพราะนี่ไม่ใช่เพียงข้อคิดเห็นลอยๆแล้วหายไป แต่สร้างผลกระทบไปยังคนที่ถูกชี้นิ้วตัดสิน

เหมือนที่ระเบียบรัตน์กล้าใช้คำว่า “อุบาทว์” กับลำไย

เหมือนที่ครูลิลลี่โพสต์รูปคนอื่นลงโลกออนไลน์ให้คนมาร่วมต่อว่า

เรื่อง “จริยธรรม” เป็นข้อถกเถียงทางปรัชญามาแต่โบราณกาลที่ไม่สามารถหาข้อสรุปหนึ่งเดียวได้ แล้วเหตุใดจึงคิดว่าการนำจริยธรรมในมุมมองของหนึ่งคนไปตัดสินคนอื่นเป็นสิ่งถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ครูลิลลี่ได้โพสต์ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และน้อมรับความเห็นไปปรับปรุงแก้ไข

ครูลิลลี่

อนุรักษนิยมใน LGBT ไทย

จะฟังดูลักลั่นขนาดไหนถ้าได้ยินLGBTประกาศตัวเองว่า “ฉันเป็นอนุรักษนิยม”

มองลักษณะทางธรรมชาติแล้ว กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศย่อมต้องการความเปิดกว้างและยอมรับจากสังคม กลุ่มเพศหลากหลายน่าจะเข้าใจผลกระทบจากการถูกละเมิดด้วยแนวคิดอนุรักษนิยม

แต่ไม่ใช่ในสังคมไทย เมื่อเพศหลากหลายแยกเสรีภาพทางเพศออกจากเสรีภาพอื่นๆ กลุ่มเพศหลากหลายไม่เคยรวมตัวแล้วบอกว่า เสรีภาพการแสดงออกจนถึงสิทธิทางการเมืองที่ถูกลิดรอนนั้นเป็นภัยต่อการต่อสู้เรียกร้องสิทธิทางเพศ

แม้สังคมไทยจะเปิดกว้างในการอยู่ร่วมกับเพศหลากหลายมากขึ้น แต่ในพื้นที่ทางการ สังคมไทยยังคงกระอักกระอ่วนในการให้คนข้ามเพศมีตำแหน่งที่ต้องอาศัยความเชื่อถือจากสังคม โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ

ประเทศซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกเรื่องคนข้ามเพศ กลับไม่มีกฎหมายรองรับสถานะอย่างเท่าเทียม

ขณะที่บ่อยครั้งจะเห็นคนข้ามเพศที่มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการออกมาเรียกร้องให้คนในสังคมปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ซึ่งเป็นชุดความคิดเรื่องวัฒนธรรมอันดีงามแบบกระทรวงวัฒนธรรม เช่น การออกมาประณามคนแต่งตัวโป๊

ความลักลั่นที่เกิดขึ้นนี้ สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นการแสดงถึงความเป็น “พลเมืองดี” ของสังคม เพื่อแสดงตัวว่าตนเองอยู่ในระเบียบสังคม ช่วยสอดส่องคนที่ออกนอกลู่นอกทาง

เมื่อตนเองเป็นคนดีแล้วก็สมควรได้รับการยอมรับในสังคม

และความแข็งขันในการแสดง “ความดี” นี้เอง หลายครั้งกลับไปทำร้ายผู้อื่น เมื่อมุ่งมั่นว่าสิ่งที่ตนทำคือสิ่งที่ถูกต้องจนข้ามเส้นสู่การละเมิดผู้อื่น

เคท ครั้งพิบูลย์

แพทเทิร์นเดิมของสังคม ‘คุณพ่อคุณแม่รู้ดี’

“อนุรักษนิยมจะคิดว่าสิ่งนี้จะฉุดการพัฒนา แต่สังคมยุคใหม่มองว่านี่คือสีสัน และเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขา มันไม่ได้แสดงออกถึงความอนาจาร”

เคท ครั้งพิบูลย์ นักวิชาการเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ให้ความเห็นเรื่อง ลำไย ไหทองคำ และบอกว่า เมื่อพูดถึงเรื่องเพศจะถูกโยงไปเรื่องศีลธรรมของสังคมทันที กลายเป็นแพทเทิร์นว่าเมื่อมีกรณีแบบนี้บนพื้นที่สื่อก็จะถูกหยิบขึ้นมาว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

“คนที่เป็นผู้นำเอาเรื่องเล็กๆ ในสังคมมาพูด แล้วพวกอนุรักษนิยมก็เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างให้คนในสังคมฉุกคิดได้ หลายคนพูดว่าเพราะมีการผลิตอะไรแบบนี้ออกมาสังคมจึงเสื่อมถอย ทั้งที่สังคมเราแย่กว่านี้มากในอีกหลายเรื่อง

“แทนที่เราจะเน้นว่านี่คือสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ถ้าเนื้อหาเพลงดูถูกความเป็นมนุษย์ก็ว่าไปอย่าง แต่ก็ไม่ใช่ สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการผลิตซ้ำหรือตีตราว่าใช้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ”

เคทกล่าวต่อว่า สังคมไทยไม่ได้ให้ทางเลือกอื่นในการทำความเข้าใจเรื่องสื่อ มีรูปแบบเดียวของการทำความเข้าใจ ถ้าคุณคิดนอกเหนือจากนั้นเป็นสิ่งที่รัฐไม่อนุญาต

“ตลกมาก ทำให้เห็นว่าเราเผชิญอยู่ในสังคมที่มีคุณพ่อคุณแม่รู้ดีมาบอกว่าอันนี้ดี อันนี้ผ่าน อันนี้ไม่ผ่าน”

เอ็มมา วัตสัน นักแสดงชื่อดังที่แสดงตัวว่าเป็นเฟมินิสต์ เคยถูกวิจารณ์ว่าการถ่ายแบบโชว์หน้าอก ทำให้ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นวัตถุทางเพศ แต่เธอโต้กลับว่า การเป็นเฟมินิสต์เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกอย่างเสรีต่อเนื้อตัวร่างกายต่างหาก

เพศหลากหลายที่ไม่ยอมปลดแอกตัวเอง

เคทมองว่ากรณีครูลิลลี่ก็คล้ายกันกับกรณีลำไย เป็นการใช้ศีลธรรมตัดสินความเป็นคนของคนอื่น ตีค่าว่าเป็นสิ่งผิดหรือถูก วิธีคิดแบบนี้อันตรายมาก สิ่งที่ครูลิลลี่ทำเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

“ในฐานะที่เขาเป็นคนเผยแพร่ความรู้ ตัวเขาควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าสังคมต้องการตัวแบบที่ดี แต่สังคมสามารถวิเคราะห์และวิจารณ์เองได้ โดยไม่ได้ต้องการความเห็นในเชิงศีลธรรมมากนัก”

ส่วนคนที่สนับสนุนครูลิลลี่และบอกว่าหนุ่มสาวสองคนที่กอดกันเป็นการ “ละเมิดส่วนรวม” นั้น เคทมองว่าเป็นการมองในมุมที่แคบมาก

“ถ้าอย่างนั้นแม่กอดลูก หรือแม่ให้นมลูกในที่สาธารณะจะเป็นการละเมิดพื้นที่ส่วนรวมไหม วิธีคิดนี้เป็นวิธีคิดที่อนุรักษนิยมเอามาใช้ในการต่อต้านสิ่งที่ตนมองว่าไม่ถูกต้อง”

ส่วนประเด็นความอนุรักษนิยมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มLGBTไทย เคทมองว่า “เพราะเขาไม่ได้ปลดแอกตัวเอง”

“เป็นโอกาสดีมากที่คุณได้เป็นLGBTแล้ว คุณได้เรียนรู้โลกของเสรีภาพ การแสดงออกถึงความเป็นตัวเองแล้ว แต่พอมองชีวิตคนอื่นคุณกลับมองได้ในมุมที่คับแคบ น่าเสียดายมาก

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเขาอยากได้รับการยอมรับในสังคม จึงพยายามรักษาบรรทัดฐานของสังคมเหมือนที่คนอื่นเป็น หรือรักษาได้มากกว่าคนอื่น ถึงจะได้รับการยอมรับ สิ่งนี้ทำให้LGBTหลายคนไม่สามารถปลดแอกตัวเองสู่ความเป็นอิสระได้ เมื่อมีการบอกว่าการเป็นกะเทยที่ดีหรือการเป็นกะเทยคนดีจะได้รับการยอมรับมากกว่า เขาก็เลือกที่จะทำแบบนั้น วิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบที่สังคมอยากให้เป็น พยายามบอกว่าฉันต้องเป็นคนมีศีลธรรม สังคมจะยอมรับฉัน และสังคมจะสามารถยอมรับความเป็นเพศของฉันได้”

เคทมองว่าลักษณะความเป็นLGBTนั้นค่อยไปทางความคิดเสรีนิยมอยู่แล้ว ด้วยความเป็นอิสระจากกรอบความเป็นเพศ ความอนุรักษนิยมใน LGBT นั้นมีคนอ้างถึง LGBT ที่อยู่ในกลุ่มศาสนา แต่ท้ายที่สุดกลุ่มนี้ก็ต้องเปลี่ยน เพราะอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เอื้อให้เขาได้รับสิทธิหรือเติมเต็มความต้องการของเขาได้ ด้วยเงื่อนไขเช่นเรื่องศีลธรรม

“เรื่องเพศควรถูกพูดอย่างเข้าใจ ในกลุ่มสตรีนิยมมีข้อถกเถียงกันว่า การเปิดเผยร่างกายในลักษณะนี้ กลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นการใช้สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง แต่บางกลุ่มก็มองว่าจะทำให้ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นวัตถุทางเพศที่กระตุ้นอารมณ์ แต่ทุกอย่างบนโลกควรถกเถียงกัน แต่การแสดงออกต่างๆ ไม่ควรถูกตัดสินแล้วชี้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ผิด”

เคทบอกว่า เรื่อง ลำไย ไหทองคำ เป็นการทำให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่

“ผลกระทบคือถ้าคุณไปชี้หน้าบอกว่าคนนี้ไม่ดีต่อสังคม สิ่งที่เขาจะต้องเจอนั้นไม่มีใครรับผิดชอบ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติกลายๆ และเป็นการกดทับทางเพศ คุณเป็นผู้หญิงต้องทำอะไรบ้าง แต่ทำไมผู้ชายถึงไม่ต้องทำอย่างที่ผู้หญิงถูกคาดหวัง ทำไมสังคมถึงคาดหวังจะให้ผู้หญิงต้องเรียบร้อยเหมือนกันหมด”

เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นซ้ำๆ สังคมควรเรียนรู้และเลิกตื่นตูมเรื่องเพศ(สักที)

ควรมีการพูดคุยอย่างเปิดกว้างและเข้าใจ เปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียง โดยไม่ไปละเมิดใคร

ส่วนใครที่หวังดีกลัวสังคมจะตกต่ำ ก็ควรเลิกจับผิดเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เพราะความก้าวหน้าจะเกิดไม่ได้หากขาดการสร้างสรรค์จากความหลากหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image