นักวิชาการวิพากษ์ ‘สนช.’ แก้ข้อบังคับ โดดร่มไม่พ้นสมาชิกภาพ

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ…. โดยตัดเนื้อหาในหมวดการสิ้นสุดสมาชิกภาพ สนช. เรื่องการให้สมาชิกต้องมาแสดงตนเพื่อลงมติในการประชุมสภามากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วันทิ้งไป ภายหลังเกิดปัญหากรณี 7 สนช.ขาดการแสดงตนเพื่อลงมติจนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริยธรรมและถูกวิจารณ์เรื่องการขาดประชุมจำนวนมาก


ชำนาญ จันทร์เรือง (แฟ้มภาพ)

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

รัฐธรรมนูญที่ตั้ง สนช.ขึ้นมา คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ เป็นจุดกำเนิดที่ตั้ง สนช.เข้ามา จริงอยู่ว่าตอนนี้รัฐธรรมนูญใหม่ใช้แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ สนช.มีสภาพแทนวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ถามว่าทำได้ไหมก็คงทำได้ แต่ดูความเหมาะสมเพราะจะทำไปทำไม ความรับผิดชอบก็ไม่มีอยู่แล้ว

การอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ระบุเงื่อนไขไว้ จึงไม่จำเป็นต้องใส่ในข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมว่าจะทำเพื่ออะไร แค่ตั้งกรรมการสอบในกรณีนี้แล้วปล่อยให้พ้นผิดหมดก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมเชื่อว่ามีการทำใบลาย้อนหลังกันวุ่นวายไปหมด

Advertisement

ความจริงแล้วไม่ต้องออกข้อบังคับก็ได้ เพราะทั้งคนสอบคนร้องก็เป็นพวกเดียวกันอยู่แล้ว ไม่สามารถส่งไปที่ไหนได้ เพราะเป็นกิจการภายในสภาอยู่แล้ว

“คนขาดประชุมก็ขาดอยู่อย่างนั้นแหละ อ้างได้อยู่แล้วว่ามีงานประจำอยู่ ไม่มีประโยชน์ ไม่รู้ว่าเขาคิดขึ้นมาได้ยังไง ขายหน้าตัวเองเปล่าๆ แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นการช่วยเหลือพวกตัวเองและขายหน้าตัวเอง ประจานตัวเองด้วย จริงๆ แล้ว สนช.ทุกวันนี้มีคนอภิปรายอยู่ไม่กี่คน อาทิ วัลลภ ตังคณานุรักษ์, สมชาย แสวงการ, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช.ก็ไม่มากันเป็นส่วนใหญ่ บางคนก็ไม่รู้จะมาทำไม เพราะไม่รู้เรื่อง ไม่เตรียมการ ไม่ทำการบ้าน ยิ่งไม่มีความเชี่ยวชาญพอจะไปอภิปรายก็กลัวปล่อยไก่ จริงๆ เราก็เข้าใจว่าเป็นการตั้งสภานิติบัญญัติฯ เพราะรัฐใดก็ตามจะขาดหน่วยงานออกกฎหมายไม่ได้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาช่วยเหลือกันขนาดนี้”

ถ้ามีคนขาดเยอะจะมีผลต่อการลงมติ สมัย สนช.ยุคที่แล้วก็มีกฎหมายหลายฉบับตกเพราะองค์ประชุมไม่ครบ มีรายงานการประชุมว่าไม่ครบองค์ประชุม แล้วลงมติไปตั้งหลายเรื่อง แต่บางเรื่องลงไปแล้ว ประกาศแล้วก็ไม่ว่ากัน แต่มีบางเรื่องที่ยังไม่ทันประกาศหรือประกาศโดยขาดขั้นตอนที่สมบูรณ์ ก็ไม่ได้ใช้ตั้งหลายฉบับ ผมกลัวว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยอีก ข้อบังคับคงมี แต่ไม่ได้กำหนดจำนวนวันและจำนวนครั้ง พิจารณาเอาตามความเหมาะสมของเขา แต่ถ้าถามว่าหมดหวังไหม ผมคิดว่าคนทั่วไปก็เลิกหวังมาตั้งนานแล้ว

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คงเป็นการออกมาปิดช่องว่างในการตรวจสอบที่ออกมา เช่นก่อนหน้านี้ที่เกิดเหตุการณ์ สนช.ไม่เข้าร่วมประชุมค่อนข้างเยอะ อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่า กรธ.เองคงคิดว่า สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ คงไม่สามารถปลีกเวลามาประชุมได้ จึงต้องทำเช่นนี้

รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะกี่ฉบับที่ผ่านมาก็ไม่เคยระบุว่า ส.ส. หรือ ส.ว.จะขาดประชุมได้กี่ครั้ง พอครั้งนี้ได้มีการกำหนดไว้ ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นในฉบับชั่วคราว แต่ถ้าจะมาแก้เพื่อกรณีเช่นนี้ผมว่ามันไม่ใช่ ไม่เหมาะสม ถึงแม้จะยืนยันว่าไม่ได้เป็นวิธีการเพื่อช่วยเหลือให้ สนช.ขาดประชุมได้นั้น ผมมองว่าถ้าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกรณีการตรวจสอบพบว่ามีการขาดประชุมกี่ครั้ง ก็คงไม่มีปัญหา เพราะโดยปกติไม่ได้กำหนดว่า ส.ส. ส.ว. ต้องขาดประชุมได้กี่ครั้งอยู่แล้ว

“ถ้าพูดกันตรงๆ การเป็น สนช. หนึ่งคือมาจากการแต่งตั้ง สองคือรับเงินเดือน ซึ่งไม่ยุติธรรมถ้าเกิดไม่มีการตรวจสอบว่าเมื่อรับเงินเดือนไปแล้ว คุณมาทำงานกี่ครั้ง ถ้านี่เป็น ส.ส. เห็นอยู่แล้วว่าใครมาลงมติบ้าง ถ้าเกิดใครไม่มา ประชาชนก็เห็นอยู่แล้ว และอาจไม่เลือกในสมัยต่อไป แต่พอเป็น สนช.ที่มาจากการแต่งตั้ง การตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย อย่างน้อยควรทราบว่า สนช.มาประชุมกี่ครั้ง เพราะรับเงินเดือนจากเงินหลวงไป”

ผมคิดว่าถ้าอยู่ๆ เอาเกณฑ์ปกติของ ส.ส.มาใช้ ดูไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ ยิ่ง สนช.ที่เป็นข้าราชการประจำเองก็มีเงินเดือนจากราชการประจำอยู่แล้ว พอมารับเงินเดือนในส่วนหน้าที่ของ สนช. แล้วไม่ทำงาน คิดว่าไม่ใช่ หากถามว่าตัดกฎเกณฑ์นี้ทิ้งเพื่อช่วยตัวเองได้ไหม ผมว่าได้ เพราะก่อนหน้านี้มีกรณีเกิดขึ้นให้เห็น แต่ก็ไม่ถึงกับให้ละเว้นหน้าที่ แต่เป็นการทำให้ระบบการตรวจสอบไม่สามารถทำงานได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image