“เกษตรแปลงใหญ่” ช่วยยกระดับคุณภาพ-ราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้ และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จในภาพรวมจากการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ชัดเจนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ภายใต้การดำเนินใน 4 หัวข้อหลักใหญ่ได้แก่

1. การจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map เพื่อบ่งชี้ความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำเกษตร ซึ่งในปัจจุบัน สามารถใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ที่มีอินเตอร์เน็ต และ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ได้ ซึ่งในพื้นที่ จ.จันทบุรี มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 ชนิด คือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มันสำปะหลัง และ ยางพารา รวมพื้นที่ 1.77 ล้านไร่ พบว่าปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 12.68 ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่เหมาะสมโดยความสมัครใจของเกษตรกรต่อไป

Advertisement

2. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือศพก. อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์  และ ได้ขยายผลเป็น ศพก. เครือข่าย 9,941 ศูนย์ย่อย โดย จ.จันทบุรี มี 10 อำเภอ มี ศพก. 10 ศูนย์ และ ศพก.เครือข่าย 100 ศูนย์ย่อย ซึ่ง ศพก. นี้ จะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่ 3. การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่มีลักษณะเพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันบริหารจัดการ และ ทำการตลาด ทำให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มาราคาสูงร่วมกันได้ แบ่งแยกหน้าที่ทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน สินค้าในกลุ่มยกระดับเป็นสินค้า GAP มีคุณภาพ ความปลอดภัย ตรงความตรงการของตลาด ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งประเทศ 2,138 แปลง รวมพื้นที่ 3.10 ล้านไร่ เกษตรกร 224,698 ราย จำนวน 67 ชนิดสินค้า และ 4. การพัฒนาแหล่งน้ำ และ ระบบกระจายน้ำ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนในการทำการเกษตร

ทั้งนี้จากการประเมินผลการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังพบอีกว่า ​​​การทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยการนำของเอกชน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,241 – 1,565 บาท/ไร่ ส่วนการทำแปลงใหญ่ โดยการนำของภาครัฐ มีรายได้เพิ่มขึ้น 992 – 1,168 บาท/ไร่ โดยรวมแล้วทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวม 4,864.94 ล้านบาท/ปี

“อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างการทำเกษตรแปลงใหญ่มังคุด อ.เขาคิชฌกูฎ ของ จ.จันทบุรี ซึ่งเดิมชาวสวนต่างผลิต ต่างขาย หลังจากการรวม เป็น “แปลงใหญ่ มังคุด” ได้ศึกษาการขายแบบประมูล และเริ่มดำเนินการกว่า 40 ครั้ง จนทำให้ฤดูกาลนี้เกิดผลกำไรหมุนเวียนกว่า 5 ล้านบาท เนื่องจากมีการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น มีอำนาจในการต่อรองราคาสามารถประสานงานกับผู้ประกอบการได้เอง ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ และเรียนรู้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน

สำหรับการประมูลมังคุดดังกล่าว ทำให้มังคุดจำหน่ายได้ราคาดีกว่าตลาดปกติ เกษตรกรได้เรียนรู้การผลิตและการคัดคุณภาพก่อนส่งมาประมูล กลุ่มแปลงใหญ่มีกติกาที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันให้ปลูกมังคุดได้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2561 วางเป้าที่จะใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก.) เข้าไป ช่วยในการผลิตมังคุดคุณภาพให้เป็นที่พอใจของตลาดและสามารถประมูลได้ราคาดีขึ้นเพื่อให้การผลิตผลไม้คุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภายใต้ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นเป็นนโยบายหลักเพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”นายสมชาย กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image