‘รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร’ เมืองสมุนไพร : มาตรฐาน อย.สู่สากล

“โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” จ.ปราจีนบุรี เป็นหนึ่งใน 4 จังหวัด(เชียงราย สกลนคร สุราษฎร์ธานี) นำร่องโครงการเมืองสมุนไพร (Herbal City) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยที่รัฐบาลมอบให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อน และถ่ายทอดนโยบายระดับชาติลงสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด และนำร่องในพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระดับอาเซียน

จึงไม่แปลกที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะติดโผเมืองสมุนไพรครั้งนี้ เพราะนับเป็นหน่วยบริการที่มีการขับเคลื่อนการใช้สมุนไพรมานาน มีการวิจัยพัฒนาจนเกิดเป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน เรียกว่าเป็นทางเลือกด้านแพทย์แผนไทยที่ควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันก็ว่าได้

ล่าสุด นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตและแปรรูปสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐานสากล เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ว่า อย.ได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตยาแผนโบราณทุกระดับพัฒนาการผลิตยาให้ได้มาตรฐานด้านการผลิต และส่งเสริมให้มีศักยภาพในการผลิตสู่มาตรฐานสากล(PIC/S GMP) เพื่อสร้างโอกาสให้ยาสมุนไพรสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสถานที่ผลิตยาแผนโบราณหลายแห่งสามารถยกระดับตามมาตรฐาน ซึ่ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็เช่นกัน อีกทั้ง ยังสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ มีกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรแหล่งสำคัญได้ส่งวัตถุดิบให้แก่รพ.เพื่อผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ

Advertisement

เมื่อพูดถึงเมืองสมุนไพร หลายคนอาจรู้สึกถึงกลิ่น ภาพพืชพันธุ์ต่างๆ เต็มไปหมด มีสูตรตำรับยาเก่าแก่ดูขลังและน่าเกรงขาม แท้จริงๆแล้ว เมืองสมุนไพร ณ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร นอกจากองค์ความรู้ด้านสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ ยาที่น่าซื้อหาแล้ว ยังมีเสน่ห์อื่นๆ ที่เรียกว่าเป็น รพ.หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ควรมา

ยืนยันจาก ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำคณะเยี่ยมชมพร้อมให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า อภัยภูเบศรแบ่งออกเป็นส่วน รพ. ที่ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร อีกทั้ง ภายในรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังมีรพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อให้บริการอย่างครบวงจรทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน และส่วนของมูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมูลนิธิฯ ทำการผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพจากสมุนไพร ส่งเสริมชุมชนและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

จุดเริ่มของการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศรนั้น เริ่มจากเมื่อปี 2540-2541 ไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และในปี 2542 รพ.จึงได้จัดทำ โครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ขึ้น โดยมีการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูปวัตถุดิบสมุนไร การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปจนถึงการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม จากจุดนั้นได้มีการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร จนสามารถผลิตได้ทั้งผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง โดยผ่านมาตรฐานจากอย. และมาตรฐานระดับสากล

ภญ.ผกากรอง บอกอีกว่า เราไม่ได้แค่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อจำหน่ายเท่านั้น แต่เรายังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สนับสนุนการปลูกสมุนไพรระดับต้นน้ำ โดยจะรับซื้อสมุนไพรเฉพาะเกษตรกรที่รวมกลุ่มกัน ไม่รับรายเดี่ยว เพื่อให้เกิดอาชีพระดับชุมชนขึ้น ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการรับซื้อ โดยต้องเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ และแต่ละพื้นที่ก็จะมีความเหมาะสมในการปลูกสมุนไพรแต่ละชนิดที่แตกต่างกันไป ทั้งสภาพพื้นที่ ทั้งปริมาณสารสำคัญในสมุนไพรบางพื้นที่ปลูกแล้วได้มากกว่าที่อื่นๆ อาจเพราะการดูแลหรือสภาพดิน สภาพแวดล้อม ฯลฯ ยกตัวอย่าง บ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี จะส่งไพรให้ทางเรา ซึ่งพบว่าในไพรมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าที่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีเชียงรายที่ส่งมะขามป้อม ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุด

“ยาแก้ไอมะขามป้อมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมาก ขณะที่เพชรสังฆาต ก็เป็นอีกสมุนไพรที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และจากมีการรีวิวข้อมูลจากอินเดียว่าช่วยเรื่องกระดูกพรุน และชะลอกระดูกให้บางลงได้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการวิจัยต่อไปในอนาคต” ภญ.ผกากรอง กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามล่าสุดรพ.อภัยภูเบศรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการให้งบประมาณกว่า 390 ล้านบาทเพื่อนำมาพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าในอนาคตน่าจะเห็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรใหม่ๆอีก เพราะเร็วๆนี้จะมีการลงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น

สมุนไพรไทยไม่ธรรมดาจริงๆ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image