ก้าวต่อไปของธุรกิจหนังสือ เปิดใจ ‘สุชาดา สหัสกุล’ … นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯคนใหม่

 

“คืนนี้มืดใช่มืดสนิท         ไฟดวงนิดยังมีแสง

ขอเพียงลมพัดมาแรง      เถ้ามอดแดงก็จะลาม

ทุ่งนี้รกใช่รกหมด             นั้นข้าวสดขึ้นแซมหนาม

Advertisement

ขอเพียงฝนจากฟ้าคราม  ข้าวจะงามท่วมหญ้าคา”

 

สุชาดา สหัสกุล เอ่ยถึงบทกวีของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ในหนังสือ ฟองเวลา ที่ตีพิมพ์โดย สนพ.สามัญชน ให้เราฟังด้วยรอยยิ้มนุ่ม ก่อนบอกว่าเป็นบทกวีที่เธอยึดไว้ประจำใจ เพราะทำให้มีกำลังใจขึ้นทุกครั้งเมื่อรู้สึกท้อถอย

Advertisement

นอกจากนี้ยังเป็นบทกวีที่เธอเองพูดระหว่างแสดงวิสัยทัศน์เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ในระหว่างการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)  เพื่อยืนหยัดทัศนะและความมุ่งมั่นของเธอที่มีต่อวงการหนังสือในช่วงที่กำลังประสบสภาวะซบเซา  ก่อนที่สุชาดาจะได้รับความไว้วางใจจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นนายกสมาคมฯคนใหม่ต่อจากจรัญ หอมเทียนทอง

4 ปีที่ผ่านมา สุชาดาจากสำนักพิมพ์พาส เอ็ดดูเคชั่น ทำงานในตำแหน่งของอุปนายกสมาคมฯอย่างทุ่มเท ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ได้รับการยอมรับในความเก่งและความแกร่ง และในหน้าที่ใหม่ เธอเปิดเผยกับเราเป็นที่แรกถึงทิศทางการทำงานว่าตอนนี้มี 2 เรื่องที่คิดคือ “เร่งด่วนเฉพาะหน้า” กับ “พัฒนาอย่างยั่งยืน”

“เรารู้กันดีว่าธุรกิจหนังสือประสบปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าคือสำนักพิมพ์ต้องการเงินหมุน และออนไลน์คือช่องทางสำคัญ บางคนชอบพูดว่าการขายออนไลน์เป็นการทำร้ายระบบขายหน้าร้าน ตรงนี้เราคิดว่าไม่จริง เพราะไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จะช้อปออนไลน์ ไม่เดินห้าง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 สำรวจพบว่าคนไทยช้อปออนไลน์ ถึง 51% มากที่สุดในโลก อันดับ 2 คืออินเดีย  34% อันดับ 3 มาเลเซีย 31%  และสินค้าที่ช้อปอันดับ 1 คือ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า  อันดับ 2 คือ E-Ticket และอันดับ 3 คือ หนังสือ ซึ่งถึงวันนี้ตัวเลขอาจขยับสูงขึ้นอีกก็ได้ ส่วนคนที่ซื้อหน้าร้าน สมาคมฯได้ทำสำรวจวิจัยมาแล้ว พบว่าคนซื้อหนังสือหน้าร้านไม่ซื้อออนไลน์ ถึง 90% ซึ่งการขายออนไลน์ ทำให้มีเงินสดเข้าบริษัททุกวัน  ถ้าทุกคนยอมเปลี่ยนแปลงกล้าหัดทำ ขลุกกับมัน สมาคมฯจะเปิดคอร์สสอนตั้งแต่เริ่มหัดทำจนระดับแอดวานซ์  คนจะมีเงินสดเข้าบริษัททุกวันได้ระบายสต๊อก ไม่ต้องง้อเงินกู้ ไม่ต้องสร้างภาระหนี้ พิสูจน์มาแล้วทำได้จริงๆ อย่างที่พาส เอ็ดดูเคชั่น จากที่ทำไม่เป็นยอดขายเดือนล ะ3000 ตอนนี้คือได้เดือนละเกิน 100,000 ทุกเดือน

ในส่วนของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตรงนี้มีหลายเรื่อง ซึ่งต้องขอโอกาสคุยกับทีมคณะกรรมการที่เลือกตั้งมา

แต่ส่วนตัวอยากผลักดันเรื่องหนังสือไม่ใช่สินค้าบริจาค รัฐต้องจัดสรรงบประมาณในการสั่งซื้อหนังสือ   และผลักดันนโยบายการอ่านของรัฐเรื่องแผนแม่บทส่งเสริมการอ่าน และการปฏิรูปการศึกษาปฐมวัย ให้เป็นจริง    ตรงนี้จะเตรียมการไว้เพื่อเสนอพรรคการเมืองหากมีการเลือกตั้งด้วย” สุชาดาอธิบาย

ในมุมมองของเธอนั้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจหนังสือเท่านั้นที่ประสบสภาวะทรงๆทรุดๆ ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้มีหลายธุรกิจที่ซบเซาอย่าไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะในโลกที่กำลังก้าวเข้ายุค 4.0  มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก บางครั้งอาจไม่ทันรู้ตัว สิ่งที่ต้องทำคือการเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัว และยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง

“คนทำหนังสือส่วนใหญ่เป็นพวกพันธุ์อึด และเอาpassion เป็นที่ตั้งในการทำงานมากกว่าเรื่องเงิน ในสถานการณ์เช่นนี้   การเติบโตในเชิงธุรกิจคงไม่ขยับมาก แต่ในด้านคุณภาพ คิดว่าตรงนี้เป็นจุดผกผัน เป็นกระดานหก ยิ่งธุรกิจไม่ดี พวกเราก็ต้องพยายามเน้นคุณภาพมากขึ้นในการทำหนังสือ เพราะทุกคนต้องเฟ้น ต้นฉบับ เน้น คุณภาพการผลิตให้ดีที่สุด และเอาความต้องการของผู้อ่านเป็นที่ตั้ง บางสนพ. ที่มีกำลังงบ ก็มีการทำสำรวจวิจัย ทำโฟกัสกรุ๊ป  เพื่อให้การออกหนังสือแม่นยำขึ้น อีกอย่างจำนวนพิมพ์ต่อปกจะลดลง ถ้ามองในแง่ดี คืออนาคตเราจะมีอาการสต็อคบวมน้อยลง  เพราะทุกสนพ.แม่นขึ้น

ในส่วนของการปรับตัวของสำนักพิมพ์ เชื่อว่าทุกคนรู้ดี  คือการทำให้สลิมที่สุด ลดค่าใช้จ่าย หลายสนพ.ปรับเป็นลักษณะของการใช้ฟรีแลนซ์ ที่สำคัญสำนักพิมพ์ต้องรู้ว่าตนเองถนัดอะไร สมัยก่อนก็ทำไปหมด ทุกหมวด แต่ยุคนี้เราว่าเป็นการตลาดเชิงลึก แคบแต่ลึก มีsegment มากขึ้น เพราะฉะนั้นสนพ.ที่ทำหนังสือหว่านไปทั่ว อันตราย  ในอนาคตเราอาจเห็นหนังสือที่ผลิตขึ้นแค่เพียงกลุ่มคน 10 กว่าคนก็ได้ เพราะมีเทคโนโลยีรองรับ

ดังนั้นถ้าเรามองธุรกิจหนังสือด้วยสายตาเป็นธรรม  ก็อาจเป็นภาวะธรรมดาที่กำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆเท่านั้น  ในอดีตหนังสือก็มีช่วงรุ่งเรืองที่บางคนถึงกลับบอกว่าเป็นยุค Sunrise ถ้าจำไม่ผิดเป็นช่วงก่อน ปี 2540

นอกจากนี้โดยส่วนตัว อยากให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของร้านหนังสือ  อยากเห็นการทำงานเชิงร่วมด้วยช่วยกัน กระตุ้นให้เกิดการอ่าน การให้คูปองร้านค้าไม่ยั่งยืน แต่ละร้านควรลุกขึ้นมาปัดฝุ่นทำกิจกรรมร่วมกับสำนักพิมพ์ อย่างร้านหนังสืออิสระ ถ้าทำดีๆก็มีอะไรที่น่าติดตามมีเสน่ห์ แต่ต้องคิดด้านการบริหารกำไรขาดทุนร้านให้มากๆ” สุชาดากล่าวถึงทั้งหมดด้วยรอยยิ้ม

ยังมีเรื่องมากมายที่ผู้หญิงตัวเล็กหัวใจแกร่งคนนี้คิดหวังจะทำเพื่อวงการหนังสือ และทีมคณะกรรมการสมาคมฯ ชุดนี้มีหลากหลายแนว ทั้งอินดี้ ไลท์โนเวล ขนาดกลาง สายส่ง ฯลฯ  ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการคิดทำอะไรจะได้ไม่เกิดการเอนเอียงเชิงนโยบายไปด้านใดด้านหนึ่ง  และมองเห็นปัญหาของแต่ละกลุ่มหนังสือได้ชัดขึ้น

“โลกในยุค 4.0 ไม่ใช่เรื่องที่ประมาทได้ แต่ถ้าทุกคนไม่ขยับปรับเปลี่ยนตัวเอง เราจะเป็นไดโนเสาร์ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก” สุชาดายืนยัน

เป็นก้าวต่อไปของธุรกิจหนังสือไทยที่เชื่อมั่นว่า “ไฟดวงนิดยังมีแสง”

ในยุคสมัยที่แค่กระพริบตาก็มีความเปลี่ยนแปลง

ดอกฝน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image