คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘สงครามเย็น’ ที่ตะวันออกกลาง

วิกฤตการณ์ทางการทูตระหว่าง กาตาร์ กับ ซาอุดีอาระเบีย ดูเหมือนจู่ๆก็เกิดขึ้นแบบไร้เค้าลาง ไม่มีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้า แต่ระดับความรุนแรงแบบเฉียบพลันของเหตุการณ์ บ่งบอกว่านี่ไม่ใช่ปมปัญหาที่เกิดขึ้นชนิดปัจจุบันทันด่วน และยิ่งตรวจสอบลึกลงไป ยิ่งเห็นได้ชัดว่า รากเหง้าของความขัดแย้งนี้หยั่งลึกมายาวนานกว่าที่คาดคิดกันมากมายนัก

กาตาร์เป็นประเทศเล็ก เรียกได้ว่าเล็กมากในตะวันออกกลาง เนื้อที่ทั้งหมดของประเทศมีเพียง 11,571 ตารางกิโลเมตร เทียบกันไม่ได้เลยกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันทางใต้ ที่มีเนื้อที่ทั้่งหมดไม่น้อยกว่า 2.1 ล้านตารางกิโลเมตร ประชากรก็มีเพียง 2.2 ล้านคน ในขณะที่ซาอุฯมีประชากรมากถึง 30.8 ล้านคน

นอกจากเล็กมากแล้ว กาตาร์ยังเป็นประเทศใหม่มาก อังกฤษเพิ่งยินยอมให้เอกราชโดยสมบูรณ์แก่กาตาร์เมื่อปี 1971 นี่เอง

กาตาร์ ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย มีเจ้าผู้ครองรัฐ (เอเมียร์) เป็นประมุข ด้วยทำเลที่ตั้งและสายสัมพันธ์ ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของซาอุดีอาระเบียมาตลอดนับตั้งแต่เป็นเอกราช จนกระทั่งถึงปี 1995 เมื่อ ชีค ฮาหมัด บิน คาลีฟา อัล-ทานี มกุฎราชกุมารแห่งกาตาร์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากเจ้าผู้ครองรัฐผู้เป็นบิดา
เจ้าผู้ครองรัฐคนใหม่ เชื่อมั่นอยู่ประการหนึ่งว่า กาตาร์ จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยในระยะยาว จำเป็นต้องดิ้นให้หลุดจากอิทธิพลของซาอุดีอาระเบีย มีอธิปไตยในเชิงนโยบายทุกด้านเป็นของตนเองเท่านั้น

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตะวันออกกลางชี้ว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ที่บางคนเรียกว่าเป็น “สงครามเย็น” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

เป็นสงครามไม่มีการประกาศที่ไม่เพียงมีศักยภาพเพียงพอต่อการ “พลิกโฉมหน้า” การเมืองของชาติอาหรับในบริเวณอ่าวเปอร์เซียเเท่านั้น

แต่ยังอาจส่งผลสะเทือนมหาศาลไปทั่้วภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมดได้เลยทีเดียว

Advertisement

 

 

ใช่ว่าจู่ๆ เอเมียร์คนใหม่จะเกิดความรู้สึกถึง “ความจำเป็น” ที่ต้องหลุดพ้นจากซาอุดีอาระเบียขึ้นมาโดยพลัน ความคิดดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น และมีเหตุการณ์ย่อยๆ บางอย่างก่อนหน้าการยึดอำนาจที่ช่วยตอกย้ำให้ความเชื่อและความรู้สึกดังกล่าวแน่นหนามั่นคงอย่างยิ่ง

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในปี 1988 คือการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นครั้งแรกระหว่างกาตาร์กับสหภาพโซเวียตเดิมปรปักษ์ในยุคสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา พันธมิตรที่แนบแน่นของซาอุดีอาระเบีย กาตาร์จึงไม่เพียงจำเป็นต้องสร้างนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระขึ้นเองเท่านั้น ยังได้ลิ้มรสความเป็นอิสระทางนโยบายเป็นหนแรกอีกด้วย

ไม่นานถัดมา ในปี 1992 เกิดความขัดแย้งถึงขั้นปะทะกันขึ้นระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบียบริเวณพรมแดนระหว่างสองประเทศ ลงเอยด้วยทหารกาตาร์ 2 นายถูกยิงเสียชีวิต อีก 2 ปีต่อมาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเยเมนชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่ภายในช่วงเวลาไม่นานนักนั้น กาตาร์สนับสนุนฝ่ายหนึ่งของสงคราม ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียสนับสนุนอีกฝ่าย

สงครามกลางเมืองยุติลง แต่ความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หลังยึดอำนาจ ชีค ฮาหมัด เห็นว่าการเป็นอิสระจากซาอุดีอาระเบียนั้นไม่เพียงจำเป็นต้องทำ แต่ยังเป็นไปได้อีกด้วย

มาร์ค ลินช์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคมักใช้เวลานานนับศตวรรษเพื่อก้าวขึ้นมาสู่สถานะดังกล่าว แต่กาตาร์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นชาติหัวแถวในตะวันออกกลางได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

นโยบายต่างประเทศของกาตาร์นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เรื่อยมา อิงอยู่กับหลักการ 2 อย่าง หนึ่งคือ ทำอย่างไรถึงจะสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ กับอีกหนึ่งก็คือ ทำอะไรก็ตามที่ “กวนใจ” พี่เบิ้มในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบีย

ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว กาตาร์ จึงไม่เพียงกลายเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศขนาดใหญ่โตของสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ถูก “รังควาน” จากซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่ยังสร้างสัมพันธ์กับอิหร่าน เปิดความสัมพันธ์ด้านการค้ากับอิสราเอล และที่สำคัญที่สุดก็คือการก่อตั้งสถานีข่าวผ่านดาวเทียมอย่าง “อัลจาซีรา” ขึ้นตามมา

“อัลจาซีรา” กลายเป็นเครื่องมือในการสำแดง “ซอฟต์ พาวเวอร์” ที่สำคัญของกาตาร์ อัจาซีรามีความหมายอย่างมากในการสร้างและส่งเสริมพันธมิตรของกาตาร์ในภูมิภาค เช่นเดียวกันกับประโยชน์ในการคอย “ทิ่มแทง” ระบอบปกครองเบ็ดเสร็จและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายของซาอุดีอาระเบีย ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการวิพากษ์วิจารณ์

สภาพสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ยังอำนวยให้กาตาร์สามารถใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ที่ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งลี้ภัยของกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาทั้งหลาย ทำให้กลายเป็นประเทศว่ากันว่า ไม่ว่ารัฐบาลชาติไหนต้องการแสวงหาความตกลงใดๆกับกลุ่มหรือขบวนการอย่าง “มุสลิม บราเธอร์ฮูด”, “ฮามาส” ของปาเลสไตน์, กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชเชน ในรัสเซีย เรื่อยไปจนถึงแม้กระทั่ง ทาลิบัน ตัวแทนของชาตินั้นมักเดินทางไปกาตาร์

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า กาตาร์ คงไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่มีอิทธิพลสูงในภูมิภาคได้มากเท่านี้ และเร็วเท่านี้ หากไม่เกิดพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจขึ้นในหลายๆส่วนของโลก ทำให้ “ก๊าซธรรมชาติ” กลายเป็นพลังงานล้ำค่า ลำเลียงส่งได้โดยตรงทางเรือ ไม่จำเป็นต้องอาศัยท่อส่งน้ำมันผ่านทางซาอุดีอาระเบียอีกต่อไป

เหตุเพราะกาตาร์คือหนึ่งในแหล่งก๊าซสำรองที่ใหญ่ที่สุดของโลก และทำให้ เศรษฐกิจของกาตาร์ขยายตัวจาก 8,100 ล้านดอลลาร์ในปี 1995 มาเป็น 210,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014

กาตาร์กลายเป็นประเทศ “ผู้บริจาค” ให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้อย่างเต็มตัว และทำหน้าที่ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

 

ในขณะที่กาตาร์มีสัมพันธ์ทางการทูตในระดับ “เป็นมิตร” กับอิหร่าน, สหภาพโซเวียตและกับรัสเซียในเวลาต่อมา สหรัฐอเมริกายังคงรักษาระดับความสัมพันธ์ “ปกติ” ไว้กับชาติอาหรับเล็กๆแห่งนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะผลประโยชน์โดยตรงที่ได้รับ

สหรัฐ เคยใช้กาตาร์เป็นฐานในการเจรจาสันติภาพอัฟกานิสถาน และจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยฐานทัพอากาศของตนที่นั่นอย่างมากในการทำ “สงครามในอิรัก” เมื่อก่อนหน้านี้และการโจมตีทางอากาศต่อ “ซีเรีย” ในเวลานี้

ตรงกันข้ามกับซาอุดีอาระเบียที่ยิ่งนับวันยิ่งหงุดหงิดกับกาตาร์มากขึ้นเรื่อยๆ จุดปะทุครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2002 ซาอุดีอาระเบียถึงขั้นเรียกเอกอัครราชทูตประจำกรุงโดฮา กลับประเทศเป็นการประท้วง “การวิพากษ์วิจารณ์” เชื้อพระวงศ์และรัฐบาล

เดวิด บี. โรเบิร์ตส์ ศาสตราจารย์จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า กว่าซาอุดีอาระเบียจะซึมซาบอย่างเต็มที่ว่า กาตาร์ คือรัฐอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่ออิทธิพลของตน ก็ต้องรอถึงปี 2008

ปีนั้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติ เอกอัครราชทูตคนใหม่เดินทางกลับไปประจำกรุงโดฮาอีกครั้ง

แต่ไม่นานนัก “สงครามตัวแทน” ระหว่างประเทศทั้งสองก็ระเบิดขึ้นเต็มรูปแบบ
ปฐมเหตุของสงครามตัวแทนที่ค่อนข้างจะเปิดเผยระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย ก็คือสิ่งที่โลกรู้จักกันในนาม “อาหรับสปริง” เมื่อปี 2011

ในมุมมองของกาตาร์ อาหรับสปริง คือ “โอกาสอันดี” ที่มาถึงโดยไม่คาดหมาย เป็นโอกาสอันดีที่จะทะลวง “การครอบงำ” ของซาอุดีอาระเบียในภูมิภาค ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จรวมทั้งกาตาร์ แต่แล้วบรรดาผู้ปกครองที่ปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรแนบแน่นอยู่กับซาอุดีอาระเบียเริ่มถูกคุกคามจากภายในของตนเอง นี่คือโอกาส

กาตาร์ให้การสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐบาลทั้งหลาย ผ่านการสนับสนุนทางการทูต และ การเงิน รวมไปจนถึงบางครั้งก็มีการสนับสนุนอาวุธให้ และแน่นอน ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ อัลจาซีรา เป้าหมายก็คือหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ “เป็นมิตร” ขึ้นตามมา

ในแง่ของซาอุดีอาระเบีย อาหรับสปริง ไม่เพียงเป็นภัยคุกคามต่อ “การจัดระเบียบในภูมิภาค” เท่านั้น ยังเป็นภัยคุกคามภายในประเทศที่มีขบวนการเคลื่อนไหวอยู่ด้วยอีกต่างหาก

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดสุญญากาศขึ้น ซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ จะแย่งกัน “เข้าถึง” เพื่อเติมเต็มให้ได้ก่อนเป็นรายแรก

มาร์ค ลินช์ เรียกสถานการณ์ในช่วงปี 2011 จนถึงปี 2013 นี้ว่า “สงครามตัวแทนที่เปิดเผย” ซึ่งระบาดออกไปทั่วภูมิภาค

ในตูนิเซีย ต่างฝ่ายต่างให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่อยู่กันคนละขั้ว ในลิเบีย กองกำลังติดอาวุธ 2 ฝ่ายได้รับการสนับสนุนจากทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งต่อมาก็เปิดฉากทำสงครามกลางเมืองซึ่งกันและกัน ในซีเรีย ต่างฝ่ายต่างแย่งกันสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีนับร้อย รวมทั้งกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง

ในอียิปต์ กาตาร์สนับสนุนกลุ่มมุสลิม บราเธอร์ฮูด ที่ชนะเลือกตั้งในปี 2012 ปีถัดมาเมื่อเกิดรัฐประหาร ซาอุดีอาระเบีย กับพันธมิตร “ตบรางวัล” ผู้นำใหม่ด้วยความช่วยเหลือมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์

เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้กาตาร์ได้พันธมิตรที่แท้จริงและเปิดเผยอย่าง ตุรกี แต่ในเวลาเดียวกันกลุ่มผู้ปกครองเผด็จการในตะวันออกกลางก็ยิ่งแนบแน่นอยู่ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียมากยิ่งขึ้น

ถึงปี 2013 สถานะของกาตาร์จึงเริ่มถดถอยลงตามลำดับ

 

 

ในปี 2013 ชีค ฮาหมัด สละราชบัลลังก์ด้วยปัญหาสุขภาพ เอเมียร์ใหม่วัย 33 ปีที่ประสบการณ์ยังน้อยส่งผลให้สถานะผู้นำในภูมิภาคของกาตาร์ช่วงสั้นๆสิ้นสุดลง แต่ยังคงเป็นอิสระเต็มที่และมีสายสัมพันธ์เดิมอยู่อย่างมั่นคง

ซาอุดีอาระเบีย ด้วยความกังวลจากการแผ่อิทธิพลของอิหร่าน เริ่มละความสนใจจากกาตาร์ ทั้งหมดสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการยุติการต่อสู้ช่วงชิงในหมู่พันธมิตรด้วยกันเองลง เพราะต้องอาศัยทั้งซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ในการต่อสู้กับกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส)

ความตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ทุกอย่างซับซ้อนมากขึ้น ซาอุดีอาระเบียไม่เห็นด้วยกับการทำความตกลงดังกล่าว และยิ่งทำให้เป็นกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกาตาร์กับอิหร่านมากยิ่งขึ้นไปอีก

ซาอุดีอาระเบีย ต้องการกดดันกาตาร์ให้มากขึ้น แต่ทำไม่ได้ เพราะเกรงจะยิ่งสะเทือนสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาที่กำลังอยู่ในสภาพ “มึนตึง” กันอยู่จากกรณีความตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน
การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของ โดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิง
การ “ปิดล้อม” ทางการทูตและเศรษฐกิจเกิดขึ้นตามมา

ต่อด้วยการ “แสดงความยินดี” ออกนอกหน้าของทรัมป์ ชนิดที่ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศต้องรีบแถลงไปอีกทางอย่างรวดเร็วและช่วยไม่ได้

การแยกกลุ่มก้อนในตะวันออกกลางกำลังเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ

อิหร่าน เสนอความช่วยเหลือด้านอาหารแก่กาตาร์ เพราะคาดหวังการขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้น เป้าหมายคือ คูเวตและโอมาน ที่พยายามแสวงหาการถ่วงดุลอิทธิพลของซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก ประกาศส่งอาหารไปให้ความช่วยเหลือแก่กาตาร์

รัฐสภาตุรกี ลงมติเพิ่มกำลังทหารตุรกีในกาตาร์ จาก 100 นายเป็น 3,000 นาย

ยังไม่มีใครรู้ว่าเรื่องที่เริ่มต้นขึ้นแล้วจะลงเอยอย่างไร แต่บางคนคาดหวังว่า ไม่นาน โดนัลด์ ทรัมป์ อาจได้ตระหนักว่า การเมืองตะวันออกกลางนั้นซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากมายแค่ไหน

และการดำเนินนโยบายต่างประเทศผ่านทวิตเตอร์สั้นๆ นั้่นสุ่มเสี่ยงสาหัสสากรรจ์เพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image