มท.ให้แนวทำแผนพัฒนาพ.ท.ยึด”เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หาจุดเด่น-โอท็อป ห้าม”รวยกระจุกจนกระจาย” ทุจริตงบฯ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.)ได้ส่งหนังสือสั่งการผ่านแอพพลิเคชันไนล์เรื่อง แนวทางการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นที่ ถึง รอง ปมท (หัวหน้าภาค)/ ผวจ.หัวหน้ากลุ่มจว/ผวจ./นายอำเภอ/รวมทั้งผู้บริหาร อปท.ทุกจังหวัดว่า

ตามที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมี
นโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารงานแบบบูรณาการกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาจังหวัด นั้น

เพื่อให้การบริหารงานดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้ตามความต้องการของประชาชน ประกอบกับในขณะนี้ ส่วนราชการด้านการวางแผนพัฒนาและ มท. กำลังเสนอรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงระเบียบและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นฉบับเดียวกันโดยมีโครงสร้าง กลไก อำนาจหน้าที่สอดคล้องเชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่ทุกระดับ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

• ให้ส่วนราชการในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งให้มีผู้แทนภาคประชาชนในรูปคณะกรรมการร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นแผนเดียวกัน (one plan)

Advertisement

• ให้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการพัฒนาประเทศออกเป็น 6ภาค

• แผนพัฒนาทุกระดับจะประกอบด้วยปัญหาและความต้องการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญและความต้องการไว้แล้ว (priority) เพื่อให้จังหวัดและส่วนราชการภูมิภาครวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (area-based)

• ใช้แผนพัฒนาภาคเป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายและความต้องการด้านพัฒนาพื้นที่ภาคที่ต้องมีความเชื่อมโยงกันในระดับภูมิภาคและ/หรือระหว่างประเทศเพื่อให้ส่วนราชการระดับกรม กระทรวง (function) นำไปจัดทำเป็นแผนงานขอรับงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Advertisement

ในการบริหารงานตามรูปแบบข้างต้น ผวจ. นายอำเภอรวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญต่อความสมบูรณ์ของแผนพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มท.จึงขอแนะนำแนวทางการดำเนินงาน (coaching tips) ดังนี้

1.ผวจ.ในฐานะผู้นำในพื้นที่ ควรน้อมนำหลักการทรงงานและยุทธศาสตร์พระราชทานในเรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาเป็นหลักคิดและใช้ในการบริหารงานแบบบูรณาการ เพื่อค้นหา สร้างความเข้าใจและมีมุมมองต่อสภาพปัญหาภายในจังหวัดหรือบริหารงานแบบองค์รวมไม่แยกส่วน (holistic approach) กล่าวคือ ​คิดและดำเนินการอย่างเป็นระบบ รอบด้าน คำนึงถึงองค์ประกอบที่ซับซ้อนและปัจจัยภายใน-ภายนอกต่าง ๆ ทุกมิติ ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม จุดเด่น/จุดด้อยของจังหวัด (strong and weak points) เพื่อนำมาพัฒนาให้จุดเด่นเข้มแข็ง หรือแก้ไขปัญหาจุดด้อยอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ด้วย(participation)โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
(inclusiveness)ซึ่งมีข้อพิจารณาคือ

• พื้นที่ที่มีจุดเด่นด้านภูมิประเทศที่มีสภาพเหมาะแก่การพัฒนาเป็นเส้นทางหรือสถานีขนส่งทางน้ำ ทางทะเลหรือทางอากาศหรือมีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หรือสภาพอากาศดี อาทิ พื้นที่ริมทะเลหาดทราย พื้นที่เลียบแม่น้ำโขงที่มีเกาะแก่งสวยงาม ก็อาจพิจารณาเสนอข้อมูลพื้นที่ดังกล่าวให้หน่วยงานส่วนกลางเข้ามาใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดหรือภูมิภาคระหว่างประเทศหรืออาจพิจารณาใช้งบประมาณจังหวัดหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก (facilities & infrastructure) เพื่อให้นักท่องเที่ยวประทับใจ ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ให้นานขึ้น เช่น จุดชมวิวแบบ Skywalk ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

• พื้นที่ที่มีจุดเด่นด้านการผลิตสินค้าพื้นเมืองหรือผลิตภัณฑ์ OTOP หรือเป็นแหล่งผลิตอาหาร/ผลไม้ที่มีชื่อเสียง ควรหาแนวทางต่อยอดนำสินค้านั้นออกสู่ตลาดวงกว้างขึ้น (เช่น มี terminal or caravan) ทำให้สินค้าหรืออาหารเหล่านั้นติดตลาด หรือการนำผู้ซื้อเข้ามาหาผู้ผลิต/ผู้ขาย สร้างให้เป็นจุดที่ต้องเยี่ยมชมซื้อหาของก่อนเดินทางออกจากพื้นที่ เช่น “ตลาดต้องชิม” เป็นต้น

• สำหรับพื้นที่บางแห่งที่ยังไม่เห็นจุดเด่นชัดเจน ก็ให้พยายามเสริมสร้างเรื่องราวหรือตำนานหรือจุดดึงดูด (story/ legend/attraction) ของพื้นที่ ให้คนรู้จักและอยากมาเยี่ยมเยียน หรือนำพื้นที่ที่มีจุดเด่นมาต่อยอดเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่ยังไม่มีจุดเด่น โดยให้เน้นสร้าง “ดาวเด่น” ของสินค้า หรือจุดเด่นในพื้นที่ให้เชื่อมโยงหลายพื้นที่เป็นเครือข่ายภายในจังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือระดับภูมิภาค รวมทั้งสร้างกระแสประชาสัมพันธ์และดึงดูดผู้บริโภค (CCC – consumers, customers & clients) มาสู่จังหวัด โดยส่งเสริมการบริโภคพืชเกษตรของพื้นที่ในช่วงเก็บเกี่ยว อาทิ ฟักทอง มันฝรั่ง หรือการสร้างกระแสบริโภคลองกอง มังคุดที่มีการพิสูจน์ว่ากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโดยนำมาแปรรูปและสร้างนวัตกรรมเช่น เยลลี่ ลอยแก้ว ไอศกรีม ฯลฯ

• การจัดงานเทศกาล งานรื่นเริงหรือมหกรรมต่างๆ (carnival or festival) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรหรือช่วงมีผลไม้ตามฤดูกาล โดยอาจจัดให้มีการประกวดนวัตกรรมแปรรูป เช่น หอมแดง ทานตะวัน ผัก-ผลไม้ แมคคาเดีย กาแฟ มะเขือเทศ ฯลฯ หรือการจัดงานตามเทศกาลและประเพณี เช่น สงกรานต์ ตรุษจีน ฯลฯ แล้วสอดแทรกสินค้าเด่น อาหารดัง ของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าในการจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ฯลฯ

2.ให้จังหวัดพิจารณาใช้คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) หรือคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) คณะใดคณะหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ให้ทำหน้าที่เป็น คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดแบบบูรณาการ (IPSDC – Integrated Provincial Strategy Delivery Committee) ในทำนองเดียวกับสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (Prime Minister’s Delivery Unit) หรือ PMDU โดยกำหนดให้ประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1ครั้ง เพื่อทำหน้าที่คิดค้นและร่วมกันค้นหาวิธีการ “ขับเคลื่อน” (delivery) การบริหารงานต่างๆ ตามข้อ 1.ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ

​3.จังหวัดที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่รองรับนโยบายพิเศษหรือมีจุดหมายสำคัญอยู่แล้ว (magnet destination) เช่น กลุ่มจังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC ) จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดที่มีแหล่งมรดกโลก จังหวัดเมืองท่องเที่ยวห้ามพลาด จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯลฯ ผวจ.ต้องนำจุดเด่นหรือจุดแข็งของจังหวัดเหล่านี้มาขยายผลหรือต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้เกิดการสร้างงาน อาชีพและรายได้ให้กับประชาชน ขณะเดียวกัน ขอให้จังหวัดประสานงานเชิงรุกโดยการพิจารณาจับคู่กับกระทรวง กรม องค์การระหว่างประเทศ สถานทูตประเทศต่างๆ ในไทย ตลอดจนภาคธุรกิจ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมจุดขาย เชื่อมโยงเทคโนโลยี และการดึงดูดความสนใจ ตลอดจนติดต่อประสานงานหาผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบแนวคิด (design idea) หรือประกวดแนวคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดสินค้าและบริการของจังหวัดที่จะสร้างความสนใจให้แก่ชาวต่างประเทศไว้ด้วย

​4.สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเฉพาะในบางด้าน เช่น ปัญหาสาธารณภัยตามฤดูกาล ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาบุกรุกที่สาธารณะประเภทต่างๆ ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ฯลฯ ขอให้ คณะกรรมการ IPSDC ดำเนินการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาไว้โดยเฉพาะดังนี้

• แผนงานการแก้ไขปัญหาต้องคำนึงถึงการวางพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของจังหวัดโดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ
• แผนการแก้ไขปัญหาต้องมีรายละเอียดการถอดบทเรียนจากปัญหาลักษณะใกล้เคียงกันในพื้นที่ หรือนำกรณีศึกษา (case study) จากแหล่งอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งต้องพิจารณาจากต้นเหตุปัญหา เช่น มีสิ่งบอกเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงภัย มีแหล่งข่าวแจ้งเตือน ภูมิอากาศแปรปรวน ไฟป่า โรคระบาด ฯลฯ
* ในแผนดังกล่าวต้องกำหนดวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนการบริหารสถานการณ์วิกฤติ (crisis management) โดยระบุหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรเมื่อมีเหตุวิกฤตินั้นๆ พร้อมทั้งแผนการอพยพประชาชนและการดูแลช่วยเหลือ เมื่อจำเป็น ทั้งนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การซักซ้อมเพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเข้าใจแผนดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ทันทีอย่างมีสติ เมื่อเกิดเหตุการณ์โดยไม่ตื่นตระหนก
• ในบางกรณีที่จำเป็น อาจพิจารณาโดยมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขแลกเปลี่ยนชดเชย (trade off/ compensation ) ตามระเบียบของราชการ พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่หรือจุดที่หรือกลุ่มที่มีความเปราะบาง (vulnerable) ที่ต้องดูแลเฝ้าระวังเป็นพิเศษไว้ด้วย

​5.ในพื้นที่ที่มีปัญหาประชาชนมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วมีกลุ่มคนพยายามนำความแตกต่างนั้นมา สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาจังหวัดต้องคำนึงว่าท่ามกลางความขัดแย้งหรือความรุนแรงนั้น สามารถแบ่งกลุ่มบุคคลออกเป็น 3กลุ่มคือกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้เห็นต่างหรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงและกลุ่มประชาชนทั่วไป ในการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ได้นั้น เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางตามกฎหมายที่จะเอาชนะจิตใจ(winning hearts and minds )ทำให้กลุ่มประชาชนทั่วไปหันมาให้ความร่วมมือกับกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ไขปัญหาให้ได้โดยอาจใช้ยุทธศาสตร์การจับคู่ (matching)ระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงกับภาคประชาสังคม ในการสร้างการรับรู้หรือความเข้าใจที่ดีต่อกันผ่านสื่อศิลปะการแสดงออก การละเล่น ดนตรี กีฬาที่ผสมผสานอัตลักษณ์พื้นถิ่นในบริบท “พหุวัฒนธรรม” เชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติเพื่อสร้างการยอมรับและการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนส่วนใหญ่เพื่อแยกหรือโดดเดี่ยวกลุ่มก่อเหตุรุนแรงออกไปเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการทางยุทธวิธีหรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเหล่านั้น

อนึ่ง ในพื้นที่ความขัดแย้งนั้น ให้จังหวัดวางระบบเครือข่ายและกลไกความร่วมมือช่วยเหลือกันในการประชาสัมพันธ์โดยเน้นหนักในการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องของประชาชนในพื้นที่และเฝ้าระวัง ตรวจสอบป้องกันและระมัดระวังการปล่อยข่าวลือหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่างๆด้วย

6.ขอให้จังหวัดพิจารณาใช้งบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัดและงบประมาณภาคทั้ง 6ภาค งบอุดหนุนขององค์กรปกครองท้องถิ่น งบประมาณช่วยเหลือสังคม(CSR)ของภาคเอกชนและแหล่งสนับสนุน อื่นๆ ให้ครอบคลุมแผนพัฒนาพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดเพื่อให้เกิดโอกาส (opportunity) ความเจริญเติบโต (growth) และความสุขมวลรวม (gross happiness) ที่สามารถวัดค่าดัชนีทางสถิติได้ ทั้งนี้ จังหวัดต้องคำนึงไว้เสมอว่าการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนพัฒนาดังกล่าวต้องไม่ทำให้เกิดสภาพ “รวยกระจุกจนกระจาย” และประการสำคัญต้องใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย ด้วยความโปร่งใส ไม่เกิดการทุจริตหรือนำโครงการพัฒนาต่างๆของพื้นที่ไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอย่างเด็ดขาด

7.เพื่อสร้างสภาวะการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงให้คกก.ตามข้อ 2อาจแต่งตั้งคณะทำงานย่อย(working group)เพื่อให้มีเจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดแต่ละด้าน โดยคณะทำงานควรประกอบด้วยส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมในจังหวัดและให้คณะทำงานแต่ละด้านต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการ IPSDC อย่างน้อยเดือนละ 1ครั้ง

ทั้งนี้ หากจังหวัดมีข้อเสนอแนะหรือปัญหาอุปสรรคใดๆ ให้แจ้ง มท. ทราบด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image