สกู๊ปพิเศษ : ‘ดม’ เพื่อโลกสวย ‘มนุษย์ดมกลิ่น’ ตรวจพิสูจน์มลพิษ

การร้องเรียนเกี่ยวกับมลพิษ โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศหนักข้อขึ้นทุกวัน มลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 60 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ซึ่งปัญหากลิ่นเหม็นจัดเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเป็นลำดับแรกมาตลอดทุกปี คิดเป็นร้อยละ 40 ของปัญหาที่มีการร้องเรียนทุกด้าน

จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2553 บังคับใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 23 ประเภท

ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต เนื่องจากวิธีตรวจวัดตามประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการดมกลิ่น (Sensory test) จมูกของคนดมเพื่อตรวจวิเคราะห์กลิ่น (Panelist) ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ดมกลิ่นจะต้องผ่านการทดสอบและขึ้นทะเบียนผู้ดมกลิ่นจาก คพ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ (คพ.) เรื่องวิธีตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (Sensory test) และการขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พันธศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการส่วนมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เวลานี้ คพ.ได้ทำการขึ้นทะเบียนอาสาสมัครที่เข้ามาสมัครเป็นมนุษย์ดมกลิ่น เพื่อตรวจสอบกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่เจ้าหน้าที่ของ คพ.ไปเก็บตัวอย่างมาจากพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนแล้ว จำนวน 167 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี ทำงาน 1 ปี ต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีค่าตอบแทนการทำงานตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้คือตัวอย่างละ 600 บาท และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานที่ คพ.กำหนดเอาไว้

Advertisement

สำหรับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 23 ประเภท ประกอบด้วย 1.โรงงานบ่มใบยา หรือยาสูบ 2.โรงงานผลิตผลเกษตรกรรม 3.โรงงานฆ่าสัตว์ 4.โรงงานนมข้น นมผง หรือเนย 5.โรงงานปลากระป๋อง 6.โรงงานน้ำมันพืช หรือสัตว์ 7.โรงงานผัก หรือผลไม้กระป๋อง 8.โรงสีข้าว 9.โรงงานทำขนมปัง หรือขนมเค้ก 10.โรงงานน้ำตาล 11.โรงงาน ชา กาแฟ โก โก้ หรือช็อกโกแลต 12.โรงงานทำเครื่องปรุง 13.โรงงานทำอาหารสัตว์ 14.โรงงานสุรา 15.โรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ 16.โรงงานทำไวน์ 17.โรงงานทำเบียร์ 18.โรงงานน้ำอัดลม 19.โรงงานผลิตบุหรี่ 20.โรงงานฟอกหนัง 21.โรงงานย้อมสีขนสัตว์ 22.โรงงานบรรจุปุ๋ยธรรมชาติ และ 23.โรงงานห้องเย็น

ขั้นตอนการทำงานของมนุษย์ดมกลิ่นคือ จะมีเจ้าหน้าที่จะไปดูดอากาศจากบริเวณโรงงานที่มีปัญหา โดยใช้ปั๊มดูดอากาศใส่ถุงไว้ประมาณ 10 ลิตร แล้วเอามาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) ภายใน 24 ชั่วโมง
จากนั้นจึงเรียกมนุษย์ดมกลิ่นที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้มาปฏิบัติหน้าที่ 6 คน มนุษย์ดมกลิ่นที่จะไปดมกลิ่นที่ได้มาจากการเก็บตัวอย่าง ต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วย จะต้องเตรียมตัวเองหรือเคลียร์จมูกก่อนทำงาน โดยการดมสารเคมี 5 กลิ่นก่อนคือ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเหม็นไหม้ กลิ่นถุงเท้าอับๆ กลิ่นผลไม้ เช่น กลิ่นแตงโม ลิ้นจี่ และกลิ่นอุจจาระ

Advertisement

“หากอากาศทั้ง 10 ลิตรที่เก็บมามีกลิ่นรุนแรงมากเราก็จะเอาอากาศดีเติมลงไป เติมไปเรื่อยๆ จนมนุษย์ดมกลิ่นคนนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าได้กลิ่นอะไรบ้าง เราก็จะเอาตัวเลขนั้นมาคำนวณ เช่น กลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น พื้นที่ที่เก็บตัวอย่างอากาศจากริมรั้วมีค่ามาตรฐานไม่เกิน 15 หน่วย ตรงบริเวณปล่องระบายอากาศจะต้องไม่เกิน 300 หน่วย หากเป็นพื้นที่นอกเขตอุตสาหกรรมนั้น บริเวณริมรั้วจะต้องไม่เกิน 30 หน่วย ส่วนที่ปล่องระบายอากาศจะต้องไม่เกิน 1,000 หน่วย เป็นต้น” พันธศักดิ์ระบุ

ขณะที่ จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดี คพ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการร้องเรียนเรื่องการเกิดกลิ่นเหม็นจากยางพาราที่ จ.ระยอง ทางศาล จ.ระยอง จึงแต่งตั้งให้ คพ.เข้าไปช่วยดำเนินการเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลิ่นเหม็นจากโรงงานยางพารานั้นยังไม่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม 23 ประเภทของประกาศ ทส.เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ แต่เวลานี้ คพ.ได้เริ่มเตรียมตัวเพื่อบรรจุโรงงานผลิตยางพารา เข้าไปอีกโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 1 ปี นับจากนี้จะดำเนินการได้

เนื่องจากวิธีตรวจวัดตามประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการดมกลิ่น (Sensory test) จมูกของคนดมเพื่อตรวจวิเคราะห์กลิ่น (Panelist) ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่ดมกลิ่นจะต้องผ่านการทดสอบและขึ้นทะเบียนผู้ดมกลิ่นจาก คพ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (Sensory test) และการขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554

อธิบดี คพ.บอกด้วยว่า สำหรับเรื่องการเอาบุุคคลมาช่วยในการดมกลิ่น เพื่อพิสูจน์ว่าพื้นที่นั้นๆ มีกลิ่นเหม็นเกินไป และจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้นั้น หลายประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา รวมทั้งเอเชีย อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ได้ทำกันมานานแล้ว ล่าสุด คพ.ได้จัดให้มีการทดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดมกลิ่น โดยมีผู้ผ่านและการทดสอบตามประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ทดสอบกลิ่นของ คพ. (ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 จำนวนทั้งสิ้น 167 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ คพ. 100 คน กรมทรัพยากรน้ำ 2 คน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 19 คน กรุงเทพมหานคร 5 คน บริษัทเอกชน 33 คน และสถาบันการศึกษา 8 คน

นับจากนี้ไปอีก 1 ปี มนุษย์ดมกลิ่นทั้ง 167 คน ก็จะทำหน้าที่พิสูจน์ความถูกต้องทางด้านมลพิษเรื่องกลิ่น และคงจะต้องทำงานหนัก ด้วยการ “ดม”เพื่อเรียกความสะอาดของบรรยากาศกลับคืนมา …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image