มธ.จัดเวทีแก้ปัญหาขับรถผ่าไฟแดงของรถพยาบาลฉุกเฉิน สพฉ. ชี้ปี 59 สถิติเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาล 42 ครั้ง

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ฝ่าไฟแดงได้ไหม เร็วอีกนิดแล้วไง ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หมดอายุความ” จัดโดยมธ. ที่ห้องประชุมไวทยากรณ์ ตึกโดม มธ.ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้แทนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิร่วมกตัญญู โรงพยาบาลศิริราช หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุบนท้องถนน เข้าร่วมประชุม ว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดเกิดขึ้นกับพนักงานในมธ.ที่ต้องเสียชีวิต จากการถูกรถพยาบาลฉุกเฉินขับชน ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตปฏิบัติตามกฎจราจรทุกอย่าง ทั้งนี้เราเข้าใจเจตนารมณ์ของรถฉุกเฉินในการช่วยชีวิตคน แต่เราจะทำอย่างไร ให้การกู้ชีพเป็นการช่วยชีวิตคน โดยไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย ทั้งนี้พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า รถฉุกเฉินสามารถที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรได้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่แล้วแต่กรณีไป จึงอยากเสนอให้มีการแก้กฎหมาย ให้ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไม่ได้รับสิทธิในการผ่าไฟแดง เพราะเรื่องสัญญาณไฟเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดหรือไม่เกิดอุบัติเหตุ เพราะประชาชนเชื่อว่าสัญญาณไฟเขียวมีความปลอดภัย พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันดูแลรถพยาบาลฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน ทั้งด้านคนขับและคุณภาพรถ

นายพนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาพและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ เราต้องจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ โดยภาพใหญ่ มิติของการออกแบบถนนในกรุงเทพมหานคร ถือว่ามีน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก ซึ่งเกณฑ์การออกแบบถนนให้เพียงพอกับเมือง ต้องมีอย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่เมือง โดยของเมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกามีถนนร้อยละ 38 ของพื้นที่ แต่กรุงเทพมหานครมีถนนเพียงร้อยละ 3.76 เท่านั้น โดยถนนเหล่านี้จะต้องถูกนำมาใช้สำหรับ รถยนต์ ยานพาหนะขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถรองรับ คนเดินเท้า คนขี่จักรยานได้เพียงพอ จึงอยากเสนอให้มีการทำเส้นทางคนเดินเท้า กับเส้นทางรถจักรยานแยกออกมาต่างหาก และเมื่อมีจุดตัดบนทางแยกถนน ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้รถยนต์ช้าลง ก่อนถึงทางข้าม 100 เมตร รวมทั้งเรื่องการจัดการจราจร ต้องมีการจัดสัญญาณไฟสู่ศูนย์กลาง ที่มีเจ้าหน้าที่จราจรคอยควบคุมดูแลทั้งระบบ เพราะในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีการจัดการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีเพียง 28 จุด จากทั้งหมด 72 จุดเท่านั้น นอกจากนี้ขอเสนอให้มีช่องทางเฉพาะของรถฉุกเฉิน ทั้งรถพยาบาลฉุกเฉินและรถดับเพลิง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

นายทศพล สุวารี หัวหน้าฝ่ายสัญญาณไฟจราจร กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมที่อุปกรณ์การควบคุมสัญญาณไฟจราจร อยู่กับกรมบังคับการตำรวจแห่งชาติ เมื่อแยกเป็นท้องถิ่นก็แบ่งงานให้กทม.มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์สัญญาณ และตำรวจก็จะมีหน้าที่อำนวยการจัดการจราจร ซึ่งกทม.เองพยายามทำให้สมบูรณ์ แต่การจัดระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบเป็นพื้นที่ Area Traffic Control(ATC) จะใช้งบประมาณจำนวนมาก เราจึงไม่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ และตำรวจจราจรเอง ก็ไม่ยอมรับ จึงทำให้ระบบสัญญาณไฟเป็นแบบแยกเดี่ยว และเชื่อมโยงเข้ากับกล้องของกองบังคับการตำรวจจราจร และตำรวจจราจรเอง ก็กลับมาใช้ระบบอนาล็อก หรือระบบวิทยุสื่อสารเพียงอย่างเดียว

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สถิติในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่ารถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปปฏิบัติการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านระบบสายด่วน 1669 ประมาณ 1.5 ล้านครั้ง คิดเฉลี่ยคร่าวๆ ประมาณ 100,000 ครั้งต่อเดือน เป็นการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนร้อยละ 80 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ เวลาเป็นเรื่องสำคัญต่อโอกาสการรอดชีวิต ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการนำส่งผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน
การนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนจัดเป็นกลุ่มพิเศษที่ควรได้รับการให้ทาง เปิดช่องทางพิเศษ หรือเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้เมื่อผ่านแยกต่างๆ ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนไม่ควรฝ่าสัญญาณไฟจราจรสีแดง โดย สพฉ. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของรถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ใช้ถนน ไม่น้อยไปกว่าความเร่งด่วนของการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล และพร้อมที่จะเป็นหน่วยประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้กับรถฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วประเทศ

Advertisement

“จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ ประมาณเกือบ 400,000 ครั้งต่อปี พบว่า ในปี 2559 มีการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 42 ครั้ง โดย 30 ครั้งเป็นการเกิดอุบัติเหตุขณะส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงโรงพยาบาล และอีก 12 ครั้ง เป็นการเกิดอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาล ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุจากการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงโรงพยาบาลสูงกว่า อาจเป็นเพราะระยะทางและระยะเวลาที่มากกว่า” นพ.สัญชัย กล่าวและว่า รถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุส่งถึงโรงพยาบาลมี 2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐานและระดับขั้นสูง ซึ่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานระดับพื้นฐานต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 40 ชั่วโมง และได้รับการขึ้นทะเบียนตามระบบของ สพฉ. ทั้งตัวรถและตัวบุคคล ขณะนี้ สพฉ. ได้นำร่องโครงการติดตั้งเครื่อง GPS ที่ส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่หากความเร็วเกินกว่าที่กำหนด เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและความระมัดระวังในการขับรถ และมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทางรถบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ ภายใต้ชื่อว่า “รถคันนี้มีน้ำใจ หลีกทางให้รถพยาบาล” พร้อมทั้งขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image