การย้อนกลับของกระแส ‘อนุรักษนิยม’ ในคนรุ่นใหม่

บรรยากาศของการเมืองไทยในสัปดาห์นี้คงเริ่มมีการเฉลิมฉลองการครบรอบ 85 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย และก็คงจะมีข่าวของการพยายามยุติ หรือแทรกแซงการจัดงานตามที่ต่างๆ เช่นกัน

ผมคิดว่าในสัปดาห์นี้คงมีการพูดถึงเหตุการณ์การรำลึกถึงนัยยะของการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์การเมืองอยู่ไม่ใช่น้อย แต่สิ่งที่เราคงต้องระลึกและตั้งคำถามในฐานะของนักเรียนทางรัฐศาสตร์อีกประการหนึ่งก็คือ วิธีเข้าใจโลกในแบบที่เชื่อว่าโลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว จะขืนเอาไว้ก็คงจะอยู่ได้ไม่นาน

ความเชื่อในแบบที่ว่าเราไม่อาจฝืนกระแสโลกได้ เราไม่อาจฝืนกระแสสากลได้ หรือกงล้อประวัติศาสตร์กำลังจะหมุนไป และชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งจะเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์นั้นมักจะเป็นความคิดที่ทรงพลังเสมอ โดยเฉพาะเป็นความคิดที่ทรงพลังในทาง “การเมือง” จนบางครั้งอาจจะทำให้เราคิดว่า “การเมืองนั้นเท่ากับรัฐศาสตร์” หรือการเมืองแบบการต่อสู้บนท้องถนนเท่ากับการศึกษารัฐศาสตร์ (การศึกษาการเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบ)

ความเชื่อในเรื่องว่ามีชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งนั้นเที่ยงแท้กว่าชนชั้นอื่นๆ ในแง่ของการดำรงอยู่ การกระทำ และเป้าหมายทางการเมืองนั้น จะจริงหรือไม่จริงอันนี้ก็ต้องถกเถียงกันไป และไม่ใช่เป้าหมายของการเขียนงานในสัปดาห์นี้ของผม แต่สิ่งที่อยากจะชวนคิดก็คือ ถ้าเรามัวแต่มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ฝืนไว้ได้ไม่นาน หรือการกระทำทางการเมืองของคนอีกหลายคนนั้นมีความจริงแท้น้อยกว่าคนอื่น (inauthentic) เราจะสามารถเข้าใจการเมืองได้อย่างรอบด้านและมีความระมัดระวังและเข้าอกเข้าใจผู้คนที่คิดเห็นต่างจากเราได้มากแค่ไหน

โดยเฉพาะเราจะหลีกเลี่ยงการรีบประเมินและตัดสินใจผู้คนที่เห็นต่างจากเราโดยไม่ด่วนสรุปว่าเพราะคนเหล่านั้นโง่ หรือถูกครอบงำจากโครงสร้างส่วนบน (อุดมการณ์ หรือวาทกรรม) ได้มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

อย่างกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอีกกรณีหนึ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่เรามองว่าเกิดสงครามสีเสื้อนั้น แล้วเราก็สรุปคร่าวๆ ว่าสงครามสีเสื้อนั้นเป็นเรื่องสงครามทางชนชั้น ไม่ว่าจะรวยจน หรือความเหลื่อมล้ำของภูมิเศรษฐศาสตร์-การเมืองของภูมิภาคต่างๆ อันนี้ไม่ใช่ว่าไม่ถูก แต่อาจจะไม่ได้สนใจรายละเอียดอีกหลายอย่าง

จากประสบการณ์เล็กๆ ของผมที่คลุกคลีกับเด็กๆอยู่บ้าง ผมมักจะสอบถามหรือเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ในอีกระดับหนึ่ง นั่นคือในระดับของ “ประวัติชีวิต” ที่อาจจะแตกต่างจาก “ประวัติศาสตร์” ในภาพใหญ่ของผู้คนจากมุมไกล ผมพบว่าเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆของแต่ละครอบครัวนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเกิดความสนใจ/ไม่สนใจ/เพิกเฉยทางการเมืองได้เช่นกัน

บางบ้านพ่อ-แม่-ลูกสีเสื้อเดียวกัน บางบ้านพ่อกับลูกคนละสีกัน บางบ้านพ่อแม่คนละสีแยกทีวีดู ลูกเลยไม่มีสีเสื้อไม่สนใจอะไร ด้วยหลายเหตุผล

Advertisement

ที่ยกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มาเล่าให้ฟังเพราะคิดว่า วันนี้เรายังศึกษาประวัติชีวิตทางการเมืองของผู้คนในสังคมน้อยไป ทั้งที่เทคโนโลยีมันช่วยให้เราทำอะไรได้มากขึ้น

บางทีเราก็พยายามเข้าใจเรื่องบางเรื่องแบบมีธงนำมากเกินไป เช่นไปไล่ล่าผู้คนว่าเมื่อสามปีก่อนเขาคิดอะไร แทนที่จะพยายามเข้าใจว่า ทำไมตอนนั้นเขามีทรรศนะทางสังคมเช่นนั้น หรือสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือดูผสมปนเปกันไปหมดนั้นเอาเข้าจริงแล้วมันมีที่มาที่ไปอย่างไร

อีกส่วนหนึ่งในการนำเสนอประเด็นในสัปดาห์นี้ของผมมาจากการมีโอกาสได้อ่านข่าวของบีบีซี ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจมาก โดยที่เขาไปทำสกู๊ปว่า คนรุ่นใหม่สี่คนที่เขาสัมภาษณ์นั้นทำไมจึงมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทั้งที่ในภาพรวมเรามักจะเห็นและเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ (และคนที่มีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจที่น้อยกว่าคนอื่น) เป็นฐานคะแนนสำคัญของพรรคแรงงาน

ตัวอย่างแรกคือนางสาวเมแกน เรื่องราวที่น่าสนใจก็คือ เมแกนเกิดและเติบโตในครอบครัวของชนชั้นแรงงาน พักอาศัยอยู่ในบ้านเช่าของรัฐ และทางบ้านก็ให้ความสำคัญกับการไปเลือกตั้ง เพื่อแสดงพลังของความเป็นชนชั้นของตน (นั่นคือการเลือกพรรคแรงงาน) รวมทั้งการชมโทรทัศน์ที่มีรายการบันเทิงบางรายการที่สะท้อนถึงรสนิยมทางการเมืองแบบของพรรคแรงงาน รวมทั้งการวิจารณ์ว่าพรรคอนุรักษนิยมนั้นดีแต่ช่วยเหลือคนรวย

การเติบโตมาในครอบครัวและชุมชนที่เป็นพื้นที่ของพรรคแรงงานนั้น ทำให้เมแกนเริ่มเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพรรคตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งเมื่อตอนที่เมแกนเริ่มโตขึ้นแล้วพบกับความพ่ายแพ้ของพรรคในการเลือกตั้งในรอบที่แล้ว เมแกนก็เริ่มติดตามการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการนำของบรรดาผู้นำพรรค เมแกนเริ่มให้ความเห็นในสื่อโซเชียลว่าเธอรู้สึกไม่ประทับใจกับบทบาทของผู้นำพรรคคนใหม่ ท่ามกลางการต่อสู้กันในพรรค

นี่คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของเมแกน เพราะความเห็นของเมแกนถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากเพื่อนๆ ในพรรค โดยเมแกนถูกมองว่าเธอเป็นพวกแปรพักตร์ หรือมีความไม่บริสุทธิ์/จริงแท้ทางอุดมการณ์ เธอถูกเพื่อนๆ ในเน็ตไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น/นอกพรรค

นั่นคือจุดสำคัญที่เมแกนเริ่มหันมาอ่านประวัติชีวิตของ แทตเชอร์ ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม (และรัฐสตรี) ของอังกฤษในช่วง 1980 และเธอเริ่มเห็นว่าแทตเชอร์กับเธอมี “คุณค่า-ค่านิยม” บางอย่างที่เหมือนกัน เช่นการให้คุณค่ากับการทำงานและเงินทองที่หามาได้ นอกจากนั้นเมแกนเองยังเริ่มสนใจและเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายบางอย่างของรัฐบาลที่เธอคิดว่าพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนอังกฤษเอง และในที่สุดเธอก็ตระหนักได้ว่าเธอนั้นมีจุดยืนและสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งค่อนข้างจะสวนกระแสกับแนวโน้มใหญ่ในสังคมที่คนรุ่นใหม่ส่วนมากมักจะประกาศตนว่าตนสนับสนุนพรรคแรงงาน หรือยืนตรงข้ามกับพรรคอนุรักษนิยม

แต่เธอก็มีแนวโน้มจุดยืนทางการเมืองเช่นเดียวกับบรรดาชนชั้นแรงงานที่มีฝีมือ (ชนชั้นล่างระดับสูงตามหลักสังคม) ในพื้นที่แถวนั้นที่จะเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม

สิ่งที่ยากเย็นของเธอก็คือ เธอจะทำอย่างไรที่จะอยู่ในครอบครัวที่เป็นครอบครัวพรรคแรงงานได้ เธอให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า จะว่าไปแล้วการบอกพ่อแม่ว่า เธอเป็นอนุรักษนิยมนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ทางบ้านเธอรับยากกว่าตอนที่เธอประกาศว่าเธอมีความสนใจในเรื่องเพศสภาวะแบบข้ามเพศเสียอีก

เทคนิคสำคัญที่เธอเริ่มทำก็คือ การที่เธอเริ่มเอาหนังสือประวัติแทตเชอร์มาอ่านในบ้าน (และทำให้ทุกคนเห็น) และให้ความเห็นเชิงสนับสนุนแนวคิดของแทตเชอร์ จากนั้นก็เริ่มให้ความเห็นสนับสนุน
เทเรซ่า เมย์ เวลาที่นายกฯตอบคำถามในสภาแล้วมีการถ่ายทอดสด

ในที่สุดพ่อก็เริ่มระแคะระคายมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือพ่อของเธอก็รับได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า นั่นคือตัวตนของลูกสาวของเขา แต่แม่ออกจะไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็มีข้อสรุปตรงกันในบ้านว่า บ้านของเธอจะไม่ติดป้ายสนับสนุนพรรคการเมืองใดที่หน้าต่างในช่วงหาเสียง และต่างฝ่ายจะอดทนให้อีกฝ่ายหนึ่งดูรายการหรือฟังเสียงของฝ่ายที่ตนสนใจ

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ กรณีของ มาร์ค ที่เคยเลือกพรรค UKIP ซึ่งแม้จะชื่อพรรคแนวอิสระ แต่ก็ถือเป็นพรรคขวาจัดของอังกฤษ ที่สนับสนุนการแยกจากอียู (บางพรรคไม่ชัดเจน คือแตกเป็นหลายส่วน) แต่ก็สนับสนุนการลงทุนของภาครัฐเช่นการเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข และเข้ามาจัดการกิจการรถไฟเสียเอง

ความน่าสนใจในกรณีของมาร์คก็คือเขาหันมาเลือกพรรคอนุรักษนิยมในรอบนี้เพราะเขาคิดว่า แม้ว่าบางเรื่องเขาอาจจะไม่เห็นด้วยมาก แต่เขาคิดว่าแนวทางหลักๆ นั้นโอเค มาร์คไม่เชื่อว่าคนเราจะต้องเห็นด้วยกับพรรคการเมืองที่ตัวเองเลือกในทุกเรื่อง แค่รู้ว่าเรื่องใหญ่ๆ นั้นเดินมาถูกทางแล้วก็โอเค (เรื่องใหญ่ของมาร์คน่าจะเป็นเรื่องของการออกจากอียู มากกว่าเรื่องของนโยบายสาธารณสุขและรถไฟ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่มีมาตรฐานเดียวในเรื่องของการเปิดรับคนต่างชาติให้เข้ามาในอังกฤษ เพราะคนยุโรปเข้ามาง่ายกว่าคนอินเดีย ทั้งที่มาร์คมีเพื่อนหลายชาติมากเมื่อเขาเรียนมหาวิทยาลัย เขาจึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ ไม่รวมถึงความรู้สึกที่เขาถูกสั่งสอนมาว่า ชาติเล็กนั้นต้องไม่ถูกชาติใหญ่กลืน เพราะบ้านของเขานั้นเป็นผู้อพยพเข้ามาเมื่อสมัยปู่จากลัตเวียที่เคยถูกกลืนชาติมาก่อน)

ที่สำคัญก็คือ มาร์คทนพรรคขวาจัดที่เขาเคยสนับสนุนไม่ไหว เพราะว่าเขารู้สึกว่าสมาชิกพรรคบางคนมีลักษณะที่สุดโต่งเกินไป และพูดจาอะไรเหมือนคนบ้าๆ บอๆ ดูไม่มีเหตุผล ซึ่งมาร์ครู้สึกว่ายิ่งทำลายภาพลักษณ์และความชอบธรรมของประเด็นหลักๆ ของพรรคฯลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นเขาจึงเริ่มหันไปสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมในแง่ที่ว่า เมื่อ จุดยืนทางการแยกตัวจากอียูเสร็จสิ้นลงแล้ว เขาก็สนใจว่าจากนี้จะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจริงๆอย่างไร เหมือนอย่างที่พรรคอนุรักษนิยมเสนอ

จากการเล่าเรื่องประวัติชีวิตทางการเมืองเหล่านี้ ที่อาจจะไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์การเมืองในภาพใหญ่ที่ดูเป็นเหตุเป็นผล หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราพบก็คือ เรื่องราวในแบบที่แต่ละกรณีต่างมีเหตุผลของตนเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่า “อะไรก็ได้” แต่มันหมายถึงว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้” และในทุกห้วงขณะนั้นมีความหมาย ความสำคัญ และร่องรอยให้เกิดการอธิบายไปได้ว่าแต่ละคนนั้นเขามีวิธีการตัดสินใจและให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ รอบตัวเขาอย่างไร ทำไมเขาจึงตัดสินใจไม่เหมือนคนอื่น

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราไม่ด่วนตัดสินใจง่ายๆ ว่าการตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องหนึ่งๆ นั้นเป็นไปเพราะเขาคิดถูกต้องตามประวัติศาสตร์แล้ว หรือ เพราะเขาหลงผิด แต่เราเริ่มเข้าใจเงื่อนไขในระดับปัจเจกบุคคลที่น่าสนใจ และจะยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีกถ้าเราสามารถร้อยเรียงทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้มากขึ้นจากเรื่องของคนหนึ่งไปสู่อีกหลายๆ คนหลายๆ ชีวิต

สำหรับบ้านเรา ผมคิดว่าการบันทึกเรื่องราวหรือความสนใจเรื่องของ “ประวัติชีวิต” ของผู้คนนั้นยังมีน้อยอยู่ เราไม่ค่อยสนใจว่าคนแต่ละคนนั้นมีจุดยืนในแต่ละเรื่องอย่างไร และเปลี่ยนจุดยืนในแต่ละครั้งอย่างไร เรามักมองเรื่องใหญ่ๆเช่นประวัติศาสตร์การเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองกับชนชั้นเป็นการอธิบายในทุกเรื่อง ทุกระดับ และทุกกรณี จนอาจจะละเลยเรื่องราวเล็กๆ ซึ่งในระดับหนึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจการเมืองได้เช่นกัน และทำให้เรามีความหวังว่ามีความเป็นไปได้ที่ในการเลือกข้างทางการเมืองนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และการเมืองไม่ได้อยู่ในลักษณะเผชิญหน้าและถึงทางตันตลอดเวลา และเมื่อพูดถึงการประนีประนอมทางการเมืองนั้น เราก็ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่จริงแท้เสมอไป

บันทึกเล็กๆ สำหรับคนที่สนใจศึกษาการเมืองไทยก็คือ ในทุกๆ ปีผมมักจะแนะนำคนที่มาร่วมศึกษาการเมืองไทยกับผมให้ติดตามผลงานภาพยนตร์ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี เพราะมีมุมมองและเรื่องราวการเมืองที่น่าสใจอยู่ในนั้นหลายอย่าง ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวประวัติชีวิตกับการเมืองที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวโยงกับประเด็นในสัปดาห์นี้ก็คือเรื่องอย่าง “ตั้งวง” ที่ผมว่าบางมิติสำคัญและซับซ้อนกว่าการอ่านรายงานแนวการปรองดองทางการเมืองมากมายนัก

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image