‘สกค.’แนะกศจ. ขับเคลื่อนงานศึกษา สอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติระยะ 20 ปี

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้บรรยายให้ความรู้และหารือร่วมกับศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 18 เขต ศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อวางกรอบแนวทางการพัฒนาการศึกษา สอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 โดยนำเสนอแผนพัฒนาการศึกษาภาคและแผนการศึกษาจังหวัด ภายใต้ 4 แนวทางหลัก 1.ใช้นโยบายการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 261 แผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งเน้นแผนการศึกษาภาคและแผนการศึกษาจังหวัด สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดเป็นกรอบทิศทางขับเคลื่อนงาน 2.ขับเคลื่อนงานผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)   ที่มีอนุกรรมการฯ (อกศจ.) 3 ชุดคือ อนุบริหารงานบุคคล อนุบริหารเชิงยุทธศาสตร์ และอนุพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3.เน้นกระบวนการทำงานแบบบูรณาการเพื่อสนองการพัฒนา โดยใช้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดเป็นฐาน (Area Base) และ 4.ระดมความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายการศึกษาประชารัฐ สมัชชาการศึกษา สภาการศึกษาจังหวัด ฯลฯ โดยใช้พลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ดึงการมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัด

“กระบวนการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาดังกล่าว ศธภ.ทั้ง 18 เขต และ ศธจ. ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ต้องสามารถตอบโจทย์หลัก 3 เรื่องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 1.ลักษณะเฉพาะและความต้องการของพื้นที่คืออะไร เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันบางพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ชายแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นแหล่งศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว จึงต้องการรูปแบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ 2.ในพื้นที่มีจุดเด่นและจุดด้อยของการศึกษาอะไรบ้าง เน้นส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน เช่น เด็กทำคะแนนสูงสุดของประเทศ หรืออาจทำคะแนนรั้งท้าย อ่อนวิชาภาษาอังกฤษ อ่อนวิชาวิทยาศาสตร์ มีแม่วัยใส นักเรียนตีกัน หรือครูมีอัตราการโยกย้ายสูง และ 3.การระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทำอย่างไรให้ กศจ. เข้มแข็งพร้อมดึงพลังภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ เอกชน มาสนับสนุน ดึงปราชญ์ชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ แสวงหาทรัพยากร แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม”เลขาธิการกคศ.กล่าวและว่า  แนวทางการพัฒนาการศึกษาภายใต้การขับเคลื่อน 4 ด้าน และ 3 เรื่องดังกล่าว จะเป็นกรอบสำคัญ    เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง กศจ. ที่ลงลึกรายละเอียดไปถึง ศธภ. และ ศธจ. ทั่วประเทศ ภายใต้คัมภีร์การดำเนินงานของแต่ละจังหวัดที่มีอยู่ในมือแล้วคือ แผนการศึกษาภาคและแผนการศึกษาจังหวัด ซึ่งสร้างการบูรณาการทั้งระบบของทุกภาคส่วนในพื้นที่มาช่วยกันส่งเสริมระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ของคนในพื้นที่ได้ตรงความต้องการใช้กำลังคนในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image