คอลัมน์ เดินไปในเงาฝัน : ประวัติศาสตร์ตกหล่นกลางราชดำเนิน

ทุกครั้งที่มีโอกาสไปพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป เรามักจะชมเชยการบริหารจัดการของเขาว่าดีมากๆ และอยากจะให้การบริหารจัดการแบบนี้เกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย

และไม่เฉพาะแต่ในมหานครกรุงเทพเท่านั้น หากตามจังหวัดต่างๆ เราก็อยากให้มีการบริหารจัดการแบบนี้เช่นกัน เพราะเขาไม่เพียงรวบยอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้น

ในช่วงหลายร้อยปีผ่านมา กระทั่งถึงช่วงแห่งปีปัจจุบัน

เขายังใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม จนทำให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เกิดความตื่นเต้น กระหายอยากรู้ และเฝ้าติดตามว่าแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร

Advertisement

จนทำให้เราพลอยรู้สึกร่วมถึงความรักชาติไปกับเขาด้วย

ในท้ายที่สุด หลังจากเราอิ่มเอมไปกับความรู้ที่ได้รับ ยังมีร้านขายของที่ระลึกมาดักอยู่ตรงทางออก เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก ที่เราเห็นจากการเดินชมพิพิธภัณฑ์นั่นแหละติดมือกลับบ้านไปคนละชิ้นสองชิ้น

สนนราคาก็ไม่ถูกนัก

Advertisement

หลายปีผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานครบ้าง ต้องชมว่ามีการบริหารจัดการดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่กระนั้น ความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตยังไม่เต็มเปี่ยม

ยังขาดๆ เกินๆ

ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร?

แต่ที่แน่ๆ การเดินชมวัตถุโบราณ พระพุทธรูป ศาสตราวุธ และเครื่องใช้ไม้สอยของคนบรรพโบราณ จะต้องทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกอินไปกับสิ่งที่พบเห็นด้วย

แน่นอน เราอาจมีหูฟังในการอธิบาย แต่ก็ไม่ได้มีอยู่ครบถ้วน ทุกจุด และหูฟังหลายอันชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่รู้ว่ายังแปลเป็นภาษาต่างๆ ได้ดีอยู่หรือเปล่า

จนกระทั่งวันหนึ่งผมมีโอกาสไปเยี่ยมชม ”นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งอยู่ใกล้กับโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร และวัดเทพธิดาราม

กลับทำให้ผมรู้สึกเพลิดเพลินไปกับนิทรรศการดังกล่าว

ที่ไม่เพียงจะเล่าเรื่องอย่างย่อๆ ของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่ปี พ.ศ.2325 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ระเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

โดยผ่าน 2 เส้นทางหลักๆ ของการบอกเล่า เริ่มตั้งแต่เส้นทางที่ 1 ประกอบด้วยห้องดื่มด่ำย่านชุมชน, ห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์, ห้องเกียรติยศแผ่นดินสยาม, ห้องเรืองนามมหรสพศิลป์, ห้องเยี่ยมยลถิ่นกรุง, ห้องลือระบิลพระราชพิธี และห้องสง่าศรีสถาปัตยกรรม

ส่วนเส้นทางที่ 2 เริ่มตั้งแต่อุโมงค์เวลา, ห้องดวงใจปวงประชา, ห้องเรืองรุ่งวิถีไทย และจุดชมความงามของโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร, ภูเขาทอง และถนนราชดำเนิน

ทั้ง 2 เส้นทาง นักท่องเที่ยวหรือผู้เข้าชมสามารถเลือกชมเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งก็ได้ เพราะแต่ละเส้นทางใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรือถ้าใครมีเวลาอยากชมทั้ง 2 เส้นทางก็ได้เช่นกัน แต่ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง

วันที่ผมไปเลือกเส้นทางที่ 2

ถามว่ารู้สึกประทับใจไหม?

ต้องบอกว่า…ประทับใจมาก เพราแต่ละห้องที่เราเข้าเยี่ยมชม นอกจากจะมีไกด์คอยบอกเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ทราบในแต่ละช่วง

ยังมีการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นแสง สี เสียง ภาพ 3 มิติ 4 มิติ มาช่วยประกอบจนทำให้ความรู้ที่ได้ ไม่เพียงเป็นความรู้ที่ได้จากการบอกเล่า หากเรายังมีโอกาสซึมซับกับภาพจริง สถานที่จริงที่จำลองมาปรากฏให้เห็นอีกด้วย

ยกตัวอย่างห้องดวงใจปวงประชา ที่เขาเล่าเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ได้รับการสถาปนา การปกครองจนเกิดความเจริญมั่นคง โดยมีพระมหากษัตริย์ในบรมราชจักรีวงศ์เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู

การเล่าเรื่องถึงความเป็นชาติเอกราชและมีอารยะ อันแสดงให้เห็นถึงการดำรงสถานะของกษัตริย์ตลอด 9 รัชกาลที่มิได้อยู่ในความสะดวกสบาย หากแต่เป็นฐานะของผู้ที่มีความสามารถสูงยิ่งในการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ จนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชน

ขณะที่ห้องเรืองรุ่งวิถีไทย จะบอกเล่าเรื่องราวผ่านกาลเวลา เพื่อให้เราเห็นวิถีความเป็นอยู่ของไทย ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนปัจจัยและอิทธิพลต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา จนทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนชาวสยามยุคนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้น ภายในห้องดังกล่าว ยังบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตริมน้ำ และถนนสายแรกของไทย ในรูปแบบของการนั่งเรือ และรถราง จนทำให้เรารู้สึกเสมือนตัวเองกำลังนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาเข้าไปอยู่ในสมัยนั้นจริงๆ

และเมื่อขึ้นจากฝั่ง เราจะพบกับสถานที่สมัย 2499 อันธพาลครองเมือง เพื่อให้พวกเราหวนรำลึกถึงยุคโก๋หลังวังบูรพา โดยเขาจะจำลองร้านเสื้อผ้านวลอนงค์ที่คนหนุ่มสาวสมัยนั้นชอบมาตัดเย็บเสื้อผ้า หรือร้านอักษรสยามที่เป็นร้านขายนิตยสารชื่อดังสมัยนั้น

รวมถึงร้านกาแฟโก๋หลังวัง

และอื่นๆ อีกมากมาย

ที่ล้วนแต่ช่วยทำให้เราย้อนยุคเข้าไปสัมผัสกับสมัยนั้นอย่างกลมกลืน

ต่อจากนั้น ผมก็ขึ้นมายังจุดชมวิวเพื่อมาดูทัศนียภาพ 360 องศาของมุมถนนราชดำเนินกลาง ที่เชื่อมต่อกับถนนพระสุเมรุ และถนนมหาไชย เพื่อชมความงามในมุมสูงของโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร, ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์, พิพิธภัณฑ์หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

เสียดายแต่ว่าเขาปิดกั้นด้วยกระจก

ดังนั้น เวลาถ่ายรูปจึงพลอยติดเงาของคนที่ถ่ายไปด้วย แต่ถ้าถามว่าโดยรวมทำได้ดีไหม ต้องบอกว่าดีมากๆ เพราะหลังจากลงมาชั้นล่าง เราจะพบกับร้านขายของที่ระลึก ซึ่งผมว่า ณ จุดนี้น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชอบมากๆ

นอกจากร้านกาแฟ

อาร์ช็อป

และห้องสมุดนิทรรศน์รัตนโกสินทร์

ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองไปชมสักครั้ง แล้วจะรู้เลยว่าหอนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ของเราสู้พิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศได้อย่างน่าภูมิใจ

ทั้งๆ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว

ส่วนสนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 100 บาท (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) ขณะที่เด็ก นักเรียน-นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร ผู้สูงอายุ และผู้พิการเข้าชมฟรีครับ

โดยจะเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ยกเว้นวันจันทร์

ลองไปดูให้ได้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image