พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า… ต้องทันสมัยและเป็นธรรม : นฤนาถ พงษ์ธร

เร็วๆ นี้ประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ขึ้นมาทดแทนฉบับปี 2542 ที่ไม่เคยมีการนำมาใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว การนำกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาปัดฝุ่น โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในหลายส่วนและมีการปรับเปลี่ยนสาระสำคัญในประเด็นใหญ่ๆ หลายข้อนั้น หากพิจารณาแต่ผิวเผินแล้วอาจรู้สึกว่าผู้ร่างกฎหมายมีเจตนาที่จะควบคุมภาคเอกชนที่ทำธุรกิจขนาดใหญ่ทุกเซ็กเมนต์ ทั้งด้านค้าปลีก ด้านเกษตร ด้านวัสดุก่อสร้าง ด้านเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงธุรกิจข้ามชาติอย่างยูนิลีเวอร์และเนสท์เล่ที่มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจของตนค่อนข้างสูง

แต่หากพิจารณาอีกด้านก็จะพบว่าภาครัฐมีเจตนาที่ดีที่จะคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายดังกล่าว การปรับปรุง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าให้สามารถนำมาบังคับใช้ได้จริง แต่ก็ขอให้อยู่ในความถูกต้องและเป็นไปตามธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆ ตลอดจนตามหลักการสากล
ที่ผ่านมาข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับปี พ.ศ.2542 ที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของหน่วยงาน “สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” ที่ไม่มีอิสระนัก เนื่องจากเป็นหน่วยงานสังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แต่ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ “สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” จะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล กล่าวคือ เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนมากขึ้น ดำเนินงานได้อย่างอิสระมากขึ้นกว่าในอดีต

เมื่ออำนาจขององค์กรอิสระแห่งนี้มีมากขึ้น คณะกรรมการผู้ขับเคลื่อนองค์กรที่จะได้รับการสรรหาเข้ามา 7 ท่านก็เปรียบเสมือน “7 อรหันต์” ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายให้ภาคธุรกิจได้เช่นกัน หน้าตาของคณะกรรมการชุดนี้จึงเป็นที่จับตามองอย่างมาก ซึ่งก็คงต้องรอกันไปราวๆ ต้นปีหน้า จึงจะได้ทราบว่าใครบ้างที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้ทั้ง 7 ตัวนี้

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ คำยอดฮิตใน พ.ร.บ.ฉบับเดิมอาจได้ยินคำว่า “ผูกขาด” กันบ่อยครั้ง แต่ใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่นี้จะมีคำศัพท์ “อำนาจเหนือตลาด” และ “พฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม” เพิ่มเข้ามาให้ศึกษามากขึ้น หมายความว่า หากมีการตีความกรอบและขอบเขตของสินค้าแต่ละตลาดแล้ว คงไม่เพียงพิจารณาที่ส่วนแบ่งตลาดและยอดขายเท่านั้น แต่คณะกรรมการจะพิจารณาไปถึงพฤติกรรมของภาคธุรกิจด้วยเป็นสำคัญ ซึ่งก็น่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันกันทำประโยชน์เพื่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความชัดเจนของทั้ง 2 คำจะออกมาในรูปใด หากคณะกรรมการ
มีข้อสงสัยว่าการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม คณะกรรมการควรต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายเข้าชี้แจงในประเด็นต่างๆ อย่างโปร่งใส ไม่มีอคติ และรับฟังด้วยความเข้าใจในภาพรวมเศรษฐกิจของธุรกิจแต่ละประเภท บริบทในธุรกิจนั้นๆ ของประเทศไทย และรวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ที่สำคัญคือ การออกกฎหมายใดๆ ก็ตามไม่ควรขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเช่นนี้ต้องไม่ขัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ จึงจะเรียกได้ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image