คอลัมน์อาศรมมิวสิก : ประชันปี่พาทย์ในงานไหว้ครูดนตรี

ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2560 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดพิธีไหว้ครูขึ้น ซึ่งรวมทั้งพิธีไหว้ครูดนตรี (ครูดนตรีไทย) และไหว้ครู (ปาเจรา) ของนักศึกษาด้วย ที่ต้องรวมไว้ในงานเดียวกันก็เพื่อประหยัดเวลาจัดงาน ประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องรบกวนผู้ที่จะเข้ามาร่วมงานบ่อยๆ โดยเฉพาะบรรดาศิษย์เก่าทั้งหลาย จึงถือโอกาสจัดรวมกันเป็นวันเดียว ทั้งนี้ได้จัดแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นจัดงานไหว้ครูของวิทยาลัย (พ.ศ.2541) เป็นต้นมา

หลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ตอนบ่ายก็จะมีวงปี่พาทย์ประชันกัน 5 วง อาทิ วงกรมศิลปากร วงกรุงเทพมหานคร วงศิษย์ครูบุญยงค์ วงชาวบ้าน และวงของนักศึกษา ซึ่งได้เชิญวงดนตรีที่มีฝีมือเพื่อมาประชันกันในงานไหว้ครูครั้งนี้ด้วย แต่ละวงก็ตั้งใจจะเล่นเพลงของครูพินิจ ฉายสุวรรณ นอกเหนือไปจากวงปี่พาทย์ที่บรรเลงในพิธีไหว้ครู

ปีนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ขอเพิ่มวัตถุประสงค์ของการไหว้ครู คือถือโอกาสทำพิธีไหว้ (ศพ) ครูดนตรี 2 ท่านที่จากไป ได้แก่ ครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ และครูเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ นักดนตรีวิทยาคนสำคัญ ที่จากไปอย่างกะทันหันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดังนั้นในพิธีไหว้ครูดนตรีครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์รวมย่อยลงไปอีก ทั้งนี้ก็เป็นการรวบรวมจิตใจมอบให้แก่ครูตามวัตถุประสงค์เหล่านั้น

ในการรวมพิธีไหว้ครูนั้น (ต่างวัตถุประสงค์) เริ่มแรกเมื่อครั้งที่รับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ก็ไม่มีญาติมิตรมากนัก ไม่เคยทำพิธีไหว้ครูมาก่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกดนตรีสากล ซึ่งไม่ได้ทำพิธีไหว้ครู การจัดงานไหว้ครูเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญผู้คนญาติมิตรเข้าร่วมงาน เพื่อขอรับเอาขวัญกำลังใจจากฝ่ายต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมของวิทยาลัย รวมทั้งถือเป็นโอกาสในการขออนุญาตบอกกล่าวและขอขมาเทวดาฟ้าดิน บอกผีสางนางไม้ ในการดำเนินกิจกรรมวิทยาลัยดนตรีต่อไป

Advertisement

ทั้งนี้ก็ได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์สงัด ภูเขาทอง (เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2546) ท่านก็ให้คำปรึกษาเป็นอย่างดีว่าให้ทำพิธีรวมไหว้ครูดนตรีได้ โดยการทำพิธีไหว้ครู (ปาเจรา) ของนักเรียนนักศึกษาเสียก่อน ทำบุญไหว้พระตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง เมื่อทำพิธีไหว้ครูของนักศึกษาเรียบร้อยแล้ว ก็ให้พักรับประทานอาหารเช้า ได้เวลา 9 โมงเช้า ก็ให้ทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยต่อไปจนจบ

ก็มีผู้คัดค้านอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเจ้าพิธีของแต่ละสำนักก็ยึดถือความเชื่อของตนเป็นใหญ่ ต้องแยกกันทำพิธี แต่เมื่อฝ่ายจัดงานเห็นว่าจัดการได้ง่ายก็ถือโอกาสรวบงานไว้ในคราวเดียวกัน จึงมีพิธีไหว้ครูปนกันตั้งแต่นั้นมากระทั่งปัจจุบัน

เดิมนั้นก็เรียกกันว่าไหว้ครูดนตรีไทย เพราะดนตรีฝรั่ง (สากล) ไม่มีพิธีไหว้ครู จึงได้ตัดสินใจเอาชื่อดนตรีไทยออกเสีย เพื่อว่านักเรียนดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีสากล (ฝรั่ง) และดนตรีไทย จะได้มีครูและอยู่ในพิธีไหว้ครูดนตรีพร้อมกันได้ ต่อไปนี้นักดนตรีทุกคนก็จะเป็น “ศิษย์ที่มีครู” ไม่เฉพาะนักเรียนดนตรีไทยเท่านั้น

ครูฝรั่งทั้งหลายที่อยู่ในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก็ได้เข้าร่วมในพิธีไหว้ครู นักเรียนดนตรีไทยที่ไม่เคยเห็นครูฝรั่งเข้าร่วมพิธีไหว้ครูก็ตื่นเต้น เพราะอย่าลืมว่านักเรียนดนตรีไทย “ค่าตัวถูก” ส่วนนักเรียนดนตรีฝรั่ง “ค่าตัวแพง” ก็เป็นการถือโอกาสยกระดับให้นักเรียนดนตรีไทยได้มี “ค่าตัว” แพงขึ้นด้วย เป็นครั้งแรกที่ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและผู้เชี่ยวชาญดนตรีฝรั่งมีค่าตอบแทนเท่ากัน ซึ่งเริ่มจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

งานไหว้ครู เป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวดนตรีไทย เพราะเป็นงานรวมญาติ รวมลูกศิษย์ลูกหาที่มีฝีมือทั้งหลาย ผู้คนที่นับถือกัน ผู้ที่นิยมไปมาหาสู่ ก็จะถือโอกาสแสดงความยินดีในงานไหว้ครู ดังนั้น ครูที่มีฝีมือก็จะจัดงานไหว้ครูปีละครั้ง งานพิธีไหว้ครูนอกจากเป็นพิธีกรรมแล้ว ยังแสดงถึงฐานะทางสังคมของครูด้วย ว่ามีผู้นับหน้าถือตามากน้อยแค่ไหน และงานไหว้ครูยังต้องแสดงฐานะทางเศรษฐกิจของครูอีกทางหนึ่ง เพราะว่าเป็นงานที่สิ้นเปลือง ไม่แตกต่างไปจากพิธีงานศพเลยทีเดียว กล่าวคือ ครูใหญ่ก็จะจัดงานใหญ่ ครูน้อยก็จะจัดงานน้อย

ในพิธีกรรมไหว้ครูดนตรีไทยนั้น ครูดนตรีมีความหมายกว้างขวางมาก ตั้งแต่ครูที่เป็นทั้งผีและเทวดา รวมถึงจิตวิญญาณทั้งหลายที่นับถือ ก็ขอเชิญครูเหล่านั้นมาร่วมพิธีกรรมไหว้ครูดนตรีด้วย หากดูจากเครื่องสังเวยที่อยู่ในพิธีไหว้ครู ตั้งแต่อาหารดิบ อาหารสุก เหล้ายาปลาปิ้ง ส้มสูกลูกไม้ ขนม เครื่องคาวหวาน ซึ่งเป็นอาหารถวายแก่ครูและบริวารของครู พร้อมดอกไม้ธูปเทียน เพื่อให้ครูลงมาร่วมในพิธีนี้

ในงานพิธีก็จะมีเศียรครู มีตั้งแต่เทวดาทั้งหลายที่นักดนตรีเคารพนับถือ รูปครูดนตรีที่เสียชีวิตไปแล้ว เครื่องดนตรีที่ครูเล่น หรือเครื่องดนตรีที่ลูกศิษย์เล่นก็นำมาเข้าในพิธีไหว้ครู ดูเหมือนว่าทั้งเครื่องสังเวยและเครื่องที่ใช้ในการประกอบพิธีมีไม่จำกัด มีความหลากหลาย เป็นทั้งพิธีไหว้เจ้า พิธีไหว้ผี พิธีไหว้พระ ซึ่งสุดแต่เจ้าพิธีจะทำกัน

ยังมีพิธีกรรมไหว้ครูของนักเรียนอีกพิธีหนึ่ง ซึ่งในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาจะต้องทำ แม้ว่าในปัจจุบันสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องพิธีกรรมเป็นใหญ่ การศึกษาเป็นรอง (สมองเรื่องเล็ก) ก็ตาม แต่พิธีกรรมไหว้ครูของนักศึกษาก็มีความจำเป็น เพราะการรำลึกบุญคุณของครู (ครูที่ตายและครูมีชีวิต) เป็นเรื่องที่จะต้องทำ ในพิธีไหว้ครูของนักศึกษาก็จะมีดอกมะเขือ ที่โน้มตัวลงต่ำและมะเขือมีเมล็ดเยอะ หญ้าแพรก มีแขนงสาขายาวไกล และดอกเข็ม ซึ่งให้ความหมายว่าต้องมีความแหลมคมเฉลียวฉลาด

ความเป็นจริงในปัจจุบันนั้น สังคมเปลี่ยนไปแล้ว จะหาหญ้าแพรก ดอกมะเขือ หรือดอกเข็มก็ยากแล้ว สำหรับที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้น ก็ให้นำดอกกล้วย (ปลีกล้วย) หน่อไม้ (ไผ่) ดอกลำพู นำมาบูชาครูเพราะหาง่ายกว่า ทำอะไรก็จะได้สำเร็จแบบกล้วยๆ มีความแหลมชะลูดแบบหน่อไม้ไผ่ มีความสวยงามแบบดอกลำพู ตกไปที่ไหนก็งอกที่นั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ง่าย อยู่ในบริบทแวดล้อม ส่วนบทเพลงร้องของพิธีไหว้ครู (ปาเจรา) เป็นทำนองสวดสรภัญะ ซึ่งมีความไพเราะงดงาม

ตอนบ่ายก็จะมีการประชันวงปี่พาทย์ เมื่อก่อนการประชันกันนั้นไม่ได้แข่งกันเอาเป็นเอาตาย เป็นคำโฆษณาของฝ่ายจัดงาน เพราะเมื่อนำวงดนตรีปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียงมาแสดง ก็อยากให้คนมาฟัง ที่เรียกว่าประชันกันนั้น ผู้ฟังเป็นผู้ตัดสินเองว่าชอบวงไหน ไม่มีสินจ้างรางวัลใดๆ ในการประชัน

ปัจจุบัน เวทีของมโหรีปี่พาทย์มีน้อยลง ดังนั้น การจัดเวทีให้นักดนตรี (ปี่พาทย์) ได้แสดง เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เมื่อครั้งไปงานสวดศพของคุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ ที่วัดแก้วไพฑูรย์ มีวงปี่พาทย์เล่นสนุกทุกคืน สอบถามได้ความว่า เป็นวงชาวบ้านที่อยู่รอบๆ วัด เมื่อก่อนครูบุญยงค์ เกตุคง ก็มากินนอนอยู่ละแวกนี้ จึงถือโอกาสเชิญวงปี่พาทย์ชาวบ้านมาแสดงในงานไหว้ครูดนตรีด้วย

การไหว้ครูดนตรีครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการไหว้ครูประจำปีแล้ว ไหว้ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล รวมทั้งไหว้ครูของกิจกรรมนักศึกษา (ปาเจรา) และไหว้ครูดนตรีที่ได้เสียชีวิตไปเมื่อต้นปี (2560) ด้วย

จึงขอเชิญชวนญาติมิตรศิษย์เก่า ผู้ที่สนใจ เข้าร่วมงานไหว้ครูดนตรีในครั้งนี้ พิธีไหว้ครูดนตรีประจำปีก็ถือว่าเป็นงานใหญ่งานสำคัญ มีนักดนตรีที่มีฝีมือมาอวดลวดลาย วิทยาลัยเองก็ได้งดการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้พิธีกรรม เพื่อให้ทุกคนได้เข้าร่วมพิธีพร้อมหน้า เพราะเชื่อว่าพิธีกรรมที่มีควันธูปและเปลวเทียนเป็นการบ่มเพาะหล่อหลอมจิตใจได้อีกวิธีหนึ่งที่นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนในห้องเรียน

ดนตรีเป็นเรื่องของจิตใจ การเล่นดนตรีนั้น เสียงดนตรีออกมาจากจิตใจ “เสียงใสใจสะอาด” ทักษะในการเล่นดนตรีเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ฝึกฝนทักษะได้ทันกันหมด แต่เมื่อมีฝีมือเท่าเทียมกันแล้ว จิตใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดนตรีที่ออกมาจากจิตใจที่นิ่ง ดนตรีที่ออกมาจากจิตใจที่สงบ เสียงดนตรีที่ออกมาจากเครื่องดนตรีก็จะสงบและงดงามด้วย

เสียงดนตรีสามารถที่จะแทงทะลุจิตใจคน เหมือนปี่พระอภัยมณี ที่พระอภัยฯ สามารถเป่าปี่แทงทะลุหัวใจนางผีเสื้อสมุทรให้ขาดใจตายคาที่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image