สุริยะใส ชี้ ระบบไพรมารีโหวต อาจติดขัดช่วงแรก แต่ระยะยาวมีประโยชน์

วันนี้ (18 มิ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมม.รังสิตและผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กในประเด็นการนำหลักไพรมารีโหวตมาใช้ในการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในขณะนี้ โดยระบุว่า

ระบบ Primary vote ปฏิรูปพรรคการเมือง! กรณีที่ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ให้สาขาพรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวผู้สมัคร หรือที่เรียกว่าระบบไพรมารีโหวต (Primary vote) เพราะนี่เป็นหลักการสำคัญในการทำให้พรรคการเมืองคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกและลดอิทธิพลการครอบงำของกลุ่มทุนในพรรคการเมือง

แต่ในระยะแรกเริ่มอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง เพราะนอกจากเป็นเรื่องใหม่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่คุ้นชิน เช่น สมาชิกและสาขามีฐานในพื้นที่กว้างหรือไม่ ถ้ามีแค่หัวคะแนนก็จะเลือกกันเองไม่เกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพ หรือโอกาสของคนเก่งคนดีแต่ไม่ถนัดทำงานการเมืองแบบเกาะติดพื้นที รวมทั้งการกำหนดให้ทุกพรรคต้องมีสาขาพรรคในทุกเขตเลือกตั้งจะทำทันทีในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ ฯลฯ

เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันต่อหรือ กมธ.สนช.อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นในระยะเริ่มต้น เช่นกำหนดเป็นโซนพื้นที่ เป็นสัดส่วนร้อยละไม่ใช่พร้อมกันทั้งหมด ก็จะทำให้ระบบไพรมารีโหวตเกิดขึ้นได้จริงในระยะยาว อย่าลืมว่าประเทศที่นำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ก็ไม่ได้ทำกันในวันเดียวต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกที่สำคัญต้องสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองให้ประชาชนไม่ใช่เป็นแค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น

Advertisement

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในระยะยาวเมื่อพรรคการเมืองปรับตัวจะเป็นประโยชน์และนำไปสู่การปฏิรูปพรรคการเมืองทำให้พรรคเป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน มากขึ้น และถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองต้องปรับตัวออกจากความเคยชินเก่าๆ ถึงเวลาเลือกตั้งก็วิ่งเต้นหอบเงินแลกกับการลงสมัครเขตนั้นเขตนี้และขออยู่บัญชีลำดับต้นๆ

การปฎิรูปการเมืองมีราคาที่ทุกคนต้องจ่าย ต้องปรับตัว เสียสละกันบ้าง โดยเฉพาะนักการเมืองยิ่งต้องเสียสละมากกว่าคนอื่น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image