ชาวสวนร้องจนน้ำตาแห้ง ราคายางร่วงแล้วร่วงอีก ซ้ำร้ายเจอวิกฤตฝนตกกรีดได้น้อยเข้าไปอีก

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการซื้อขายน้ำยางจาก จ.ตรัง หลังจากราคาตกลงมาอย่างต่อเนื่องร่วม 10 บาท ในรอบสัปดาห์ จาก 60 บาท ลงมาถึง 45 บาท ทำเอาชาวสวนยางน้ำตาตกไปตามกัน นายชัยรัตน์ อ่อนสนิท อายุ 52 ปี ชาว ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง ขณะขับรถพ่วงข้างบรรทุกแกลลอนบรรจุน้ำยางสดมาขายในพื้นที่ หมู่ 11 บ้านสะพานไทร ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง เปิดเผยว่า ตนเองมีลูก 3 คน อยู่ในวัยเรียนทั้งหมด ยึดอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราหลังขายน้ำยางแบ่งกับเจ้าของสวนแล้ว ได้วันละ 300 บาท ภาระที่ต้องรับผิดชอบมากมายในช่วงวิฤตยางพารานี้ ตัวคนเดียวสามารถอยู่ได้ แต่ลูกและครอบครัวไม่สามารถอยู่ได้ ตนมีลูก 3 คนเลี้ยงไม่ไหว แต่ถ้าน้ำยางอยู่ในราคากิโลกรัมละ 60 บาทก็พออยู่ไหว รวมทั้งในปี 2560 นี้ อาทิตย์หนึ่งฝนตก 4 วัน ได้กรีดแค่ 3 วัน เลยต้องหาอาชีพเสริมไม่อย่างนั้นครอบครัวอยู่ไม่ได้

ขณะที่ นางกรรณิกา บุญชู อายุ 37 ปี เจ้าของสวนยางพารา เล่าว่า ครอบครัวตนเองมีอยู่ 4 คน ลูกสาว 1 คน มียางพาราอยู่ 700 ต้น ช่วงนี้ต้องยอมรับว่ารายรับไม่พอกับรายจ่าย แต่ดีที่เป็นสวนของตัวเองไม่ต้องแบ่งกับใคร วิงวอนขอให้ราคาขึ้นกว่านี้ โดยในปีนี้ดินฟ้าอากาศไม่ปกติ ฝนจะตกแดดจะออกกำหนดไม่ได้ หากฝนตกติดต่อกันทุกวัน รายได้ไม่มีเข้ามาเลย ยิ่งข้าวของช่วงนี้มีราคาแพง เนื้อหมูกิโลกรัมละ 103 บาท อยู่ยากมาก

นางเจริญ กวางทะวาย อายุ 49 ปี แม่ค้าขายเนื้อหมู เผยว่า ช่วงนี้หมูขายยากมาก ผลพวงจากราคายางตกต่ำ แค่ซีกเดียวยังขายไม่หมด และส่วนหนึ่งค้างค่าหมูไว้ก่อน จนกว่าจะกรีดยางได้ ซึ่งแผงขายหมูของตนอยู่ใกล้กับจุดรับซื้อน้ำยาง

Advertisement

ขณะที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ อดีต ส.ส.ตรัง กล่าวว่า ปัญหาราคายางในปัจจุบันคือ ความไม่มีเสถียรภาพ จะเห็นว่าราคายาง ขึ้น-ลงรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเวลาลงซึ่งบางวันลงไปตั้ง 5 บาทต่อ กก. ช่วงที่ผ่านมาแค่ 1 สัปดาห์ ลงไปตั้ง 10 กว่าบาท ทำให้เห็นได้ชัดว่าราคายางขึ้น-ลงตามใจของพ่อค้ามากกว่าจะสะท้อนอุปสงค์-อุปทานที่แท้จริง ที่พ่อค้าทำเช่นนี้ได้เพราะไม่มีกลไกราคาอะไรที่จะไปถ่วงดุล จึงหากำไรได้ตามอำเภอใจ ทำความเดือดร้อนให้เกษตรกรมาโดยตลอด

นพ.สุกิจยังกล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาราคายางให้มีเสถียรภาพ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยทำได้ และดูเหมือนจะยิ่งแย่กว่าในอดีตตอนที่ไม่มี กยท.เสียด้วยซ้ำ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ไม่รู้จะมี กยท.ไว้ทำไม ตนจึงขอเสนอให้ กยท.ตั้งบริษัทค้ายางพาราเพื่อทำธุรกิจค้าขายยาง ตาม พรบ.การยางมาตรา 10 ที่บอกว่า กยท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราได้ ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดตั้งบริษัทค้ายางของ กยท. จะทำให้ กยท.ได้เข้าไปแข่งขันราคากับบริษัทเอกชน เป็นการถ่วงดุลราคา ไม่ให้บริษัทเอกชนตั้งราคาได้ตามใจตัวเองอีกต่อไป และเพื่อความมั่นคงตนขอเสนอให้รัฐบาลเข้าไปถือหุ้นด้วย เพื่อรัฐบาลจะได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้สะดวกขึ้นอีกทางหนึ่ง ส่วน 4 มาตรการที่รัฐบาลเสนอมาก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อเกษตรกรและพ่อค้า แต่ทั้ง 4 มาตรการไม่สามารถทำให้ราคายางพาราดีขึ้นได้แต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image