สมาคมคนกรีดยางฯแถลงการณ์ไม่ขึ้นทะเบียนต่อ กยท. 4 มาตรการไม่ช่วยแก้ปัญหาราคายางลด

วันที่ 19 มิถุนายน ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ได้อ่านคำแถลงการณ์ ของสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) ก่อนออกเดินทางไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบอกกล่าวให้ทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราให้ตรงจุด ท่ามกลางความเดือดร้อนอย่างหนักของชาวสวนยาง

นายมนัสระบุว่า ด้วย “สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย” ได้จดทะเบียนเป็นสถาบันนิติบุคคลตามความในมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ กับทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางผู้ด้อยโอกาส โดยได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2558 การที่คณะกรรมการและสมาชิกได้มีความเข้าใจผิดโดยคิดว่าการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอันอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นที่พึ่งพาของการมีชีวิตเป็นชาวสวนยางให้ได้รับอานิสงส์ซึ่งทำให้ชีวิตของชาวสวนยางอาจจะดีขึ้น จึงได้นำสมาคมฯไปขึ้นทะเบียนไว้กับการยาง แต่เมื่อได้ประจักษ์ชัดว่า การยางแห่งประเทศไทย เป็นแค่รัฐวิสาหกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรโดยไม่ได้เอื้อประโยชน์และยังจะทำให้เกิดความเสียหายจนเป็นผลกระทบในอาชีพชาวสวนยางจากตัวอย่างในการกระทำของคณะผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทยในหลายๆ กรณีมาแล้วนั้น ดังนั้น “สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย” จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นทะเบียนและมีความผูกพันเกี่ยวข้องใดๆ กับการยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายมนัสกล่าวว่า การเข้าพบกับรัฐมนตรี ไม่ได้ต้องการเอื้ออำนวยเพื่อให้ใครได้นั่งติดเก้าอี้ไปนานๆ แต่ไปเพื่อเรียนชี้แจงปัญหาให้ทราบ ว่าชาวสวนยางมีความเดือดร้อนจริง พร้อมเสนอทางแก้ ส่วนท่านจะรับฟังหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่ท่าน เพราะเท่าที่ กยท.เสนอ 4 มาตรการ มันไม่ได้ตรงตามการที่จะแก้ปัญหาจริง อาจจะเป็นการเพิ่มปัญหาอีกในระยะต่อไป อย่างที่เคยบอกมาแล้ว ทุกมาตรการที่ช่วยเหลือก่อนนี้ เป็นตัวสร้างหนี้ให้เกิดขึ้นทุกครัวเรือน ครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท แล้ว 4 มาตรการที่เกิดขึ้นใหม่ ชาวสวนและกลุ่มวิสาหกิจก็ไม่สามารถกู้เงินได้ ติดกับธนาคาร พวกโลกสวย กับชีวิตจริงไม่เหมือนกัน

นายเรืองยศ เพ็งสกุล กลุ่มวิสาหกิจคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยถ้ำพรรณรา (วคยถ.) กล่าวว่า การใช้ยางในประเทศอ้างติดปัญหามาตลอด ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย สัญญาต่างๆ ที่ทำกันก่อนหน้านี้ มาตรฐานรับรอง รวมไปถึงผลงานวิจัยถูกขายหรือทำข้อตกลงกับบริษัทหมด (นักวิจัยขายโครงการ) รัฐจะนำมาใช้ก็ไม่ได้ ได้แต่พูด หรือถ้าทำก็ต้องผ่านบริษัททุน เกษตรกรก็ไม่ได้รับประโยชน์อยู่ดีวัตถุดิบโดนกดราคามาแล้ว งานวิจัยรัฐต้องมาสนับสนุนแล้วเปิดเผยข้อมูลวิธีการต่อสาธารณะ ใครเอาไปทำก็ได้เพราะเป็นนโยบายรัฐ แต่ทุกอย่างต้องผ่านมติ ครม.จึงทำได้ ไม่อย่างนั้นได้แต่พูดเพียงลมปากไปวันๆ

Advertisement

ราคายางพารา ณ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช ยางแผ่นดิบความชื้น 1-3% ราคา 56.17 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 2.20 บาท/กก. ยางแผ่นดิบความชื้น 3-5% ราคา 55.77 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 1.80 บาท/กก. ยางแผ่นดิบความชื้น 5-7% ราคา 53.07 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 1-3 ราคา 57.32 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 2.00 บาท/กก. ปริมาณยางเข้าสู่ตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราชวันนี้ ยางแผ่นดิบ 15 ตัน ยางแผ่นรมควัน 322 ตัน ราคายางแผ่นดิบท้องถิ่น 54.60 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 0.50 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด 50.00 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 0.60 บาท/กก.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image