เสกสรรค์ ชำแหละการเมืองไทย ชี้ ‘ชนชั้นนำภาครัฐ’ จะมีอำนาจนำต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า9-10 ปี

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ร่ายยาว “การเมืองไทยกับสังคม 4.0” ระบุ “ถ้าตัวละครเอกยังถูกจัดไว้นอกสมการ ยากจับมือปรองดอง” ชี้ นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นมาสเตอร์แพลน ของ “ชนชั้นนำราชการ” หลังรปห. หวังชิงมวลชนฐานราก กุมอำนาจนำ ลอยแพนักการเมือง

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 19 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ท่าพระจันทร์ ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนา Direk’s Talk โดยนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ.กล่าวปาฐกฐา “ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0” ตอนหนึ่งว่า 3-4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การลุกฮือต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ผู้ร่างเรียกเองว่า เป็นฉบับต้านโกงนั้น ล้วนเกิดขึ้น เพราะมีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำดี ด้วยการนำนักการเมืองที่เคยกุมอำนาจโดยผ่านระบบเลือกตั้ง ที่ถูกรวบรัดว่า เป็นคนไม่ดี ลงจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับเข้ามามีอำนาจ หรือถ้าจะมีก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุม โดยปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เพียงชูธงความดีเท่านั้น หากสะท้อนให้เห็นว่าใครขัดแย้งกับใครและเพราะอะไร ซึ่งผู้ที่ถือตนเป็นคนดี แรกๆเป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมืองกับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จากนั้นจึงส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐให้ช่วยลงดาบ ดังนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2557 ไม่ใช้ความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อต่างกันเท่านั้น หากยังกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนที่กุมกลไกราชการ และฝ่ายที่ขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งที่มีมวนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นใหญ่โตเกินเรื่องราวของบุคคลและคณะบุคคล เป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบต่อระบอบ ดังนั้น จึงไม่ใช้เรื่องที่จะแก้ไขด้วยจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำสีเหลืองแดง เพราะตัวละครเอกจริงๆถูกจัดไว้นอกสมการ สังเกตได้ว่า หลังรัฐประหาร 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอย่างเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปตามวิสัยทัศน์ของตนเอง นี่จึงไม่ใช้ลักษณะรัฐบาลชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิด และประสงค์ดัดแปลงโลกตามความคิดของตัวเองด้วย รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร และจำกัดนักการเมืองไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป ดังปรากกฏในมาตรา 91 ที่ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่เป็นการจัดสรรปันส่วนผสมนั่นเอง” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังเปิดพื้นที่ให้กับชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ ขณะที่บทเฉพาะกาล คสช.ก็ยังมีอำนาจในการแต่งตั้ง ส.ว.ชุดแรก โดยมีอำนาจร่วมกับส.ส.ในการรับรองนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นบุคคลนอกบัญชีพรรคการเมืองได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีบทบัญญัติที่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก จนเกือบจะแก้ไม่ได้เพื่อตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน อีกทั้งยังกำหนดให้มีแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มเติมไม่ได้ และอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายของคสช.เสียเองด้วย ดังนั้น การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงจะดำเนินต่อเนื่องไปไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี ซึ่งการกลับเข้ามามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมให้เป็นไปตามแนวทางที่ตัวเองยังมีบทบาทครบถ้วนเช่นนี้ได้ ก็จะต้องคงฐานะการเมืองของรัฐชาติ กึ่งจารีตไว้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป และนี่จึงเป็นเหตุผลให้วาทกรรมความดีจึงผูกติดอยู่กับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย

Advertisement

“แน่นอนว่า รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชาติของประชาชนเสียงข้างมาก แต่ในโลกของความเป็นจริง คน 10 ล้านคนที่ไม่เห็นชอบก็ไม่ใช้เสียงที่มองข้ามไปได้ เพราะได้แอบคิดต่างอยู่เงียบๆแล้ว ดังนั้น การจัดสรรอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่สอดคล้องกับดุลทางสังคม จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาเอาไว้ตั้งแต่ต้น และผมมองว่า เหตุที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกล้าทำเกินดุลเช่นนี้ น่าจะมีคำตอบอยู่ในนโยบาย 2 ประการ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 กับ 2.นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจด้วยกลไกประชารัฐ ซึ่งถือเป็น Master Plan หรือ แผนการอันยิ่งใหญ่ในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐได้อย่างแยบยล เป็นยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำโดยบูรณาการโจมตีในทุกมิติ แต่ทั้งหมดนี่ก็ใช่ว่า จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้” นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่า มันเร็วไปที่จะประเมินว่า นโยบาย 4.0 จะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรมไทยแลนด์ 4.0 มีจุดมุ่งหมายที่ดี พาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่คำถามยังมีอยู่ว่า คนไทยพร้อมแค่ไหน เพราะความเหลื่อมล้ำยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่เลี่ยงไม่พ้น และมี 8 อาชีพที่เสียงต่อการตกงานเพราะเทคโนโลยี 4.0 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเรื่องนี้สำเร็จได้จริงๆจะส่งผลทำให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะไปทันที ถือเป็นการลอยแพตัดตอนนักการเมืองได้ เพราะแนวนโยบายประชารัฐถือว่ามีนัยยะการเมืองสูงเป็นการเคลื่อนไหว โดยการจับมือของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ลงไปสู่มวลชนระดับฐานราก ที่ทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง จากความเกลียดกลัวชนชั้นนำภาครัฐราชการ แปรเปลี่ยนไปเป็นกลิ่นอายของความรักสามัคคี แต่คำถามก็ยังมีอยู่ว่า การหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นคนขับเคลื่อนเช่นนี้ มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็กตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม

“สิ่งที่ คสช.เสนอเป็นนับความท้าทายครั้งใหญ่ ถ้าพรรคการเมืองคิดได้ไม่มากไปกว่านี้ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านี้ เพราะจะเป็นแค่ส่วนตกแต่งของพลังที่ขับเคลื่อนโดยรัฐราชการ ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นนั้นด้วย เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าล้วนเติบโตมากับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 จึงคุ้นเคยในการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐในการจัดตั้งรัฐบาลนายกฯคนนอก เสมือนเป็นพลังหนุนผู้นำกองทัพ เพื่อชิงส่วนแบ่งอำนาจไว้ เล่นบทบาทพระรองเป็นหางเครื่องคอยผัดแป้งให้ชนชั้นนำภาครัฐกุมอำนาจต่อไป เป็นการเมืองแบบที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียก “เกี้ยซิยาธิปไตย” ซึ่งในสายตาของผมทางรอดเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองได้นั้น ต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น และตอบโต้คำท้าทางของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น พิสูจน์ให้ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่าและเป็นธรรมมากกว่าแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง” นายเสกสรรค์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image