“บิ๊กป้อม”เห็นชอบ “ร่างสัญญาประชาคม” ให้ปรับแก้ ก่อนเผยแพร่ 4 เวทีทัพภาค

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์(แฟ้มภาพ)

โฆษกปรองดอง เผย “บิ๊กป้อม”เห็นชอบ “ร่างสัญญาประชาคม” ให้ปรับแก้ ก่อนเผยแพร่ 4 เวที พร้อมชง ป.ย.ป. ออกตัว เป็นเพียงกระดาษ-ไม่ตอบโจทย์แก้ขัดแย้งอนาคต แต่เป็นกรอบที่ต้องปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ แถลงผลการประชุม คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาแนวทางการนำเสนอร่างเอกสารความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองและแนวทางการ จัดทำร่างสัญญาประชาคมตลอดจนแนวทางการจัดเวทีสาธารณะที่จะจัดขึ้นทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2560 โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นประธาน

พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบร่างสัญญาประชาสังคม ที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก นำมาเสนอ แต่ที่ประชุมให้คำแนะนำ ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และนำไปปรับแก้ไขอีกรอบ ก่อนจะนำไปสู่การเผยแพร่สู่สาธารณะในต้นเดือน กรกฎาคมนี้ ใน 4 เวทีสาธารณะของ 4 ทัพภาค คือ กทม. จ.นครราชสีมา จ.พิษณุโลก จ.นครศรีธรรมราช ก่อนจะนำมาจัดทำร่างสัญญาประชาสังคมฉบับสมบูรณ์และเสนอให้คณะการบริหาร ราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป ประมาณกลางเดือน กรกฎาคม

พล.ต.คงชีพ กล่าวอีกว่า ในร่างสัญญาประชาสังคมที่จะนำเสนอใน 4 เวทีสาธารณะนั้น เป็น ประเด็นที่ควรเร่งดำเนินการสร้างความรับรู้และความเข้าใจเพื่อไม่ให้ขยายผลไปสู่ความขัดแย้งซึ่ง เป็นข้อมูลที่อ่อนไหวหรือถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา เช่น เรื่องกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ร่างสัญญาประชาสังคม ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง และกำหนดความตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายในการอยู่ร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่สุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่จะขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

Advertisement

“ร่างสัญญาประชาสังคม เป็นเพียงกระดาษ เล่มบางบางมีไม่กี่หน้า ไม่เกิน 10 ข้อ และเจตจํานงของประชาชนทุกคนที่จะกำหนดกรอบการอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างสงบสุข ส่วนจะมีการลงนามร่วมกันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งนี้ร่างสัญญาประชาสังคมไม่ได้ตอบโจทย์ ในเรื่องการไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และใช้ความรุนแรงในอนาคต หากหลังจากนี้แล้วมีการเลือกตั้ง และ ไม่มีการยอมรับผลการเลือกตั้งจนก่อให้เกิดการชุมนุมการชุมนุมก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่กำหนดตาม พรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พรบ.คอมพิวเตอร์ ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ บิดเบือนสู่สาธารณะ รองรับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ” พล.ต.คงชีพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image