“มีชัย” ชี้ กม.พรรคฯของสนช.ก่อปัญหาเพียบ หวั่นเข้มไพรมารี ทำพรรคส่งผู้สมัครไม่ทัน

“มีชัย” ชี้กม.พรรคการเมืองของสนช.ก่อปัญหาเพียบ หวั่น เข้มไพรมารี่โหวตกระทบพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงส.ส.ไม่ทัน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงปัญหาของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสส.หรือการทำไพรมารี่โหวตว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเดิมปกติเวลากำหนดวันเลือกตั้งแล้วจะมีการกำหนดวันรับสมัครภายใน 7 -10วันหลังจากได้ประกาศวันเลือกตั้ง แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองจะสมัครสส.ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีการทำไพมารี่โหวต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงทำให้มีปัญหาว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร และพรรคการเมืองจะกลับมาสมัครรับเลือกตั้งทันหรือไม่

“เวลานี้มีคนพยายามอธิบายว่าให้พรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตล่วงหน้าไปก่อนก็ได้ แต่ขอถามว่าถ้าทำแบบนั้นจะเอาเขตเลือกตั้งอะไรมากำหนดการทำไพรมารี่โหวต เพราะเขตเลือกตั้งจะประกาศช่วงใกล้เลือกตั้ง แบบนี้สมาชิกพรรคการเมืองพร้อมจะไปลงคะแนนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสของการทำไพมารี่โหวตอีก เช่น ถ้าตรวจพบว่าการทำไพรมารี่โหวตไม่โปร่งใส จะมีผลอย่างไรต่อผู้สมัครอย่างไร เป็นต้น ประเด็นพวกนี้ต้องคุยกันให้ชัด เราไม่ได้ขัดข้อง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจำเป็นเราก็จะได้เข้าไปช่วยแก้ไข” นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามว่า ประเด็นนี้เหล่านี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ต้องไปดูด้วยว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ได้เลยหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือ ต้องให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้ ดังนั้น หากในทางปฏิบัติไปทำให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ได้ ก็อาจเป็นปัญหาได้ ส่วนในอนาคตมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน3 ฝ่ายระหว่างกรธ. สนช. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตาม สนช.ยังคงยืนยันให้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองเป็นไปตามที่สนช.แก้ไข จะมีขั้นตอนอะไรที่สามารถกลั่นกรองได้อีกหรือไม่นั้น ถ้าสนช.ผ่านกฎหมายแบบนั้นไป เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง เมื่อสนช.ตัดสินว่าอย่างไร กรธ.ก็ไม่ได้แย้งไปในหลักการของสนช. เพียงแต่กรธ.จะดูว่าจะช่วยทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติแต่ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายได้ใช่หรือไม่ ตนมองว่าคงต้องไปดูก่อนว่าในทางปฏิบัตินั้นจะไปทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไรก่อน

Advertisement

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อกังวลของบรรดาพรรคการเมือง เกี่ยวกับระบบไพรมารี่โหวต ใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่จะเป็นการเพิ่มภาระว่า ได้ยินและได้รับทราบ ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ ส่วนที่ระบุว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กจะเสียเปรียบจากระบบ หรือเพิ่มความยุ่งยากหรือไม่นั้น ก็ไม่ขอให้ความเห็น แต่เมื่อเรื่องนี้ยังไม่ออกเป็นกฎหมาย กกต.ยังสามารถเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการร่วมจะพิจารณา แต่เมื่อกฎหมายแล้วเสร็จ ไพรมารี่โหวตแปลว่าอะไร ทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องอธิบาย

เมื่อถามว่า วิธีการนี้จะแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ ตอนนี้ก็รับความเห็นทั้งข้อดีข้อเสีย ระบบนี้เคยมีการทดลองใช้ไปคราวเดียวแล้วเลิก ซึ่งวิธีการคัดเลือกผู้สมัครตามระบบนี้ ในร่างฯขณะนี้สาขาพรรคในแต่ละพื้นที่ดำเนินการ เมื่อถามย้ำว่า หากพรรคใดไม่มีสาขาในพื้นที่นั้นๆ จะทำอย่างไรนายวิษณุ กล่าวว่า ต้องไปจัดตั้งขึ้น จึงเป็นเหตุให้พรรคการเมืองออกมาบอกว่าสิ้นเปลือง มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image