ประกอบ’โขดหินสระอโนดาต-สัตว์หิมพานต์’ครั้งแรก เผยต้องเสริมโครงสร้างเหล็กรองรับน้ำหนักสัตว์หิมพานต์ ปรับสีโขดหิน

นายพรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้กำหนดการวางผังที่ตั้งและออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศเบื้องต้น เปิดเผยถึงความคืบหน้างานภูมิสถาปัตยกรรมในส่วนของสระอโนดาตว่า วันนี้(18 มิถุนายน) ได้มีการทดลองนำแบบโขดหินเทียมที่หล่อด้วยไฟเบอร์กลาสขนาดเท่าจริงจากโรงหล่อบางส่วนและสัตว์หิมพานต์ที่ปั้นโดยนายสมชาย บุญประเสริฐ ช่างปั้นจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)รัตนโกสินทร์ นำมาลองวางตำแหน่งประกอบด้วยกันเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีการแยกย้ายกันไปทำโมเดล 1:10 โดยการทดลองประกอบขนาดเท่าจริงเป็นครั้งแรกในวันนี้พบว่าน้ำหนักของสัตว์หิมพานต์ที่ช่างเพชรบุรี ปั้นซึ่งข้างในเป็นโครงเหล็กปิดผิวด้วยปูนปั้นหรือปูนขาวนั้นมีน้ำหนักมากกว่าสัตว์หิมพานต์(ช้าง)ที่ปั้นโดยวิทยาลัยเพาะช่างที่ข้างในเป็นโฟม ข้างนอกเป็นไฟเบอร์กลาส ฉะนั้นในส่วนของโขดหินจะต้องปรับ 2 ส่วน คือ 1. เสริมโครงสร้างเหล็กรองรับสัตว์หิมพานต์จากช่างเพชรบุรี ไม่เช่นนั้นน้ำหนักสัตว์หิมพานต์จะกดทับโขดหิน และ2.ลดความเข้มของสีโขดหินที่เดิมเป็นสีแดงแกมดำ จะต้องปรับให้เป็นสีเทาโดยอาจผสมด้วยสีเหลืองหรือสีอื่นๆ ฯลฯ เพื่อให้สีไม่แรง เพื่อให้สีของพระเมรุมาศโดดเด่น

นายพรธรรม กล่าวต่อว่า สัปดาห์หน้าทางโรงหล่อจะทยอยนำแม่พิมพ์โขดหินมาส่งที่สำนักช่างสิบหมู่ซึ่งแม่พิมพ์ดังกล่าวจะนำไปหล่อไฟเบอร์กลาสออกมาเป็น 4 ชิ้นสำหรับสระอโนดาต 4 มุม และมีการเขียนสีที่สำนักช่างสิบหมู่ พร้อมกันนั้นทางช่างเพชรบุรีและวิทยาลัยเพาะช่างก็จะทยอยนำสัตว์หิมพานต์มาส่งที่สำนักช่างสิบหมู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางสำนักช่างสิบหมู่จะทยอยวางตำแหน่งประกอบกันจากนั้นเมื่อบ่อน้ำหรือสระอโนดาตที่สนามหลวงแล้วเสร็จ จะนำโขดหินไฟเบอร์กลาสพร้อมด้วยสัตว์พิมพานต์ไปวาง ซึ่งอาจจะต้องปรับตำแหน่งหรือขยับเพื่อให้สมบูรณ์เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 26 มิถุนายนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรความคืบหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศส่วนพระองค์นั้น ทางสำนักช่างสิบหมู่จะนำโขดหินสระอโนดาตไฟเบอร์กลาสที่ประกอบด้วยสัตว์หิมพานต์ขนาดเท่าจริง น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรและทรงพระราชวินิจฉัยด้วย

“โขดหินไฟเบอร์กลาสทุกชิ้นข้างใต้จะมีโครงเหล็กเสริมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง โดยจะใช้เหล็กฉาบเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายโดยเฉพาะส่วนที่ต้องรองรับสัตว์หิมพานต์จากช่างเพชรบุรี จะมีโครงเหล็กพิเศษเพื่อรองรับน้ำหนัก” นายพรธรรม กล่าว

Advertisement

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image