ภาพรวมจีดีพีเกษตรปีนี้โต3.5% สศก.เผยภาคใต้นำโด่ง

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิการเกษตร เปิดเผยว่า สศก.ประมาณการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรทั้งปี 2560 คาดว่ามีมูลค่า 639,000 – 645,000 ล้านบาท ขยายตัว 2.5 – 3.5% เทียบกับปี 2559 โดยทุกสาขาการผลิต ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยบวก อาทิ สภาพอากาศ ปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีทิศทางดีขึ้น แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารและแปรรูปอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสต็อกผลผลิตโลกลดลง รวมถึงนโยบายและมาตรการการเกษตรอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี และครัวเรือนเกษตร มีรายได้ทางการเกษตร 160,835 บาทต่อครัวเรือน

เมื่อแบ่งเป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 115,000 – 117,000 ล้านบาท ขยายตัว 3.6 – 4.6% จากขยายตัวของสาขาพืชและสาขาประมง สินค้าเกษตรคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าว ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และกุ้งเพาะเลี้ยง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 222,622 บาทต่อครัวเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่ามีมูลค่าเพิ่ม 140,000 – 142,000 ล้านบาท ขยายตัว 2.4 – 3.4% สินค้าที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา หอมแดง โคเนื้อ และไก่เนื้อ รวมถึงสัตว์น้ำจืดตามธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 107,007 บาทต่อครัวเรือน

ส่วนภาคกลาง คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่ม 210,000 – 212,000 ล้านบาท ขยายตัว 2.2 – 3.2% สินค้าเกษตรสำคัญที่จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด และเงาะ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ไก่เนื้อ สุกร ปลาน้ำจืด และกุ้งเพาะเลี้ยง เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 264,395 บาทต่อครัวเรือน

Advertisement

และภาคเหนือ มีมูลค่าเพิ่ม 210,000 – 212,000 ล้านบาท ขยายตัว 1.6 – 2.6% สินค้าเกษตรคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ลำไย อ้อยโรงงาน ลิ้นจี่ ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 167,854 บาทต่อครัวเรือน

“ ปีนี้ ภาคใต้ ถือว่าขยายตัวได้มากว่าภาคอื่น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิต และมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เกษตรกรชาวสวนยาง เริ่มมีการปลูกพืชชนิดอื่น ปลูกพืชผสมผสาน ทำเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจากปลูกยางเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ”น.ส.จริยา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image