ชาวสวนเผาสับปะรด ห้วยมุ่น ประชดราคาตกต่ำเหลือกิโลละ 50 สตางค์ ร้อง “บิ๊กตู่”ช่วย

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน สวนสับปะรดของ นางสมพล พอแห้ว อายุ 61 ปี หมู่ 2 ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ พร้อมชาวสวนช่วยกันเดินไล่เก็บผลผลิตสับปะรดพันธุ์สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดและอำเภอ กำลังออกผลผลิตในไร่อยู่เวลานี้ 36 ไร่ สุกและเน่าเสียคาสวน 22 ไร่ สับปะรดขายไม่ได้เพราะไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อ จำเป็นต้องปล่อยผลสับปะรดที่ได้จนสุกและเน่าเสียคาต้น พร้อมทั้งนำสับปะรดที่เน่าเสียมากองรวมกัน เขียนข้อความด้วยหมึกสีน้ำเงินลงในแผ่นกระดาษสีน้ำตาลว่า เน่า คา ต้น นายก “ตู่” ช่วยด้วย ปักเอาไว้ที่กองสับปะรด เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาสับปะรด ที่ราคากำลังตกต่ำ และขายไม่ได้ราคา จากนั้นนำน้ำมันเบนซินมาเทราดใส่กองผลไม้จุดไฟเผาทันที เพื่อเป็นการประชดราคาสับปะรดที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดในพื้นที่ห้วยมุ่นที่ขายไม่ได้ราคา มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อในพื้นที่น้อย แถมไม่มีตลาดรองรับเพื่อกระจายสินค้าออกสู่ต่างจังหวัด

นายถวิล อินดวง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยมุ่น กล่าวว่า สับปะรดห้วยมุ่นมีเอกลักษณ์คุณลักษณะที่โดดเด่นกว่าสับปะรดทั่วไปตรงที่เนื้อหนาสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง ตาตื้น เวลาปอกไม่ต้องเซาะร่อง รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น ด้วยเอกลักษณ์พิเศษนี้ จึงได้จดทะเบียนสิทธิบัตร (GI)จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของคนในพื้นที่ เป็นสับปะรดที่มีคุณภาพและอร่อยที่สุดในโลก

นายถวิล กล่าวว่า ชาวห้วยมุ่น จำนวน 8 หมู่บ้าน ทุกครัวเรือนจะปลูกผลไม้สับปะรดแทบทุกหลังคาเรือน รวมมีพื้นที่ปลูกกว่า 30,000 ไร่ ให้ผลผลิตกว่า 150,000 ตัน ออกช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และออกเดือนนี้ประมาณกว่า 80,000 ตัน ด้วยผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามารับซื้อมีจำนวนน้อยจึงทำให้ราคาตกต่ำ สับปะรดเมื่อไม่มีใครซื้อก็ต้องปล่อยให้สุกและเน่าเสียคาต้น คิดแล้วมีมากกว่า 50% ที่ต้องเสียไป

Advertisement

นางสมฤทธิ์ พิมพ์อูบ ชาวสวนและผู้รับซื้อสับปะรด กล่าวว่า ปีที่แล้วสับปะรดซื้อราคาเหมารวมกิโลกรัมละ 12-15 บาท ปีนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปีที่แล้วหลายเท่าตัวทำให้ราคาตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 สตางค์ ถึง 5 บาท เพราะเศรษฐกิจไม่ดีต้องเลือกซื้อแบบคัดเกรด วิธีซื้อผลผลิตจากชาวสวนต้องแบ่งเฉลี่ยรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถขายผลผลิตของตนเองได้ หากไม่เฉลี่ยให้ชาวสวนด้วยกันก็จะทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาตามมาภายหลังโดยเฉพาะเรื่องความสามัคคีภายในหมู่บ้านและตำบลจะเกิดการแตกแยกทันที การซื้อเฉลี่ยถือเป็นการช่วยเหลือกันภายในหมู่บ้าน ทุกข์ก็ทุกข์เหมือนกัน ผลผลิตที่ออกมามากแต่รับซื้อในจำนวนน้อย สับปะรดจำนวนครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าที่เหลืออยู่ในสวน จำเป็นต้องปล่อยให้สุกและเน่าคาสวน ดีกว่าตัดออกมาแล้วไม่มีใครรับซื้อหรือขายไม่ได้ทำให้สิ้นเปลืองค่าตัด ชาวสวนขาดทุนหนักขึ้นไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image