ก.ค.ศ.เปิดร่างการคำนวณเงินเดือนครูแบบใหม่

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการก.ค.ศ. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบ ร่างกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …ร่างฐานในการคำนวณและช่วงเงินเดือนสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละอันดับ ของข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นการเลื่อนเงินเดือนแบบร้อยละเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน สำหรับร่างฐานในการคำนวณและช่วงเงินเดือนในแต่ละอันดับ ดังนี้ ครูผู้ช่วย ช่วงเงินเดือน 15,050-19,900 บาท ฐานในการคำนวณ 17,480 บาท ช่วงเงินเดือน 19,910-24,880 บาท ฐานในการคำนวณ 22,330 บาท

เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวต่อว่า คศ.1 ช่วงเงินเดือน 15,440-24,880 บาท ฐานในการคำนวณ 22,780 บาท ช่วงเงินเดือน 24,890-34,310 บาท ฐานในการคำนวณ 29,600 บาท คศ.2 ช่วงเงินเดือน 16,190-30,200 บาท ฐานในการคำนวณ 30,200 บาท ช่วงเงินเดือน 30,210-41,620 บาท ฐานในการคำนวณ 35,270 บาท คศ3 ช่วงเงินเดือน 19,860-40,270 บาท ฐานในการคำนวณ 37,200 บาท ช่วงเงินเดือน 40,280-58,390 บาท ฐานในการคำนวณ 50,320 บาท คศ.4 ช่วงเงินเดือน 24,400-50,320 บาท ฐานในการคำนวณ 50,320 บาท ช่วงเงินเดือน 53,330-69,040 บาท ฐานในการคำนวณ 59,630 บาท และคศ.5 ช่วงเงินเดือน 29,980-60,830 บาท ฐานในการคำนวณ 60,830 บาท ช่วงเงินเดือน 60,840-76,800 บาท ฐานในการคำนวณ 68,560 บาท

“สำหรับคศ.3-คศ.5 ใช้ฐานในการคำนวณแต่ละช่วงเงินเดือนสำหรับการเลื่อนเงินเดือนแต่ละอันดับเหมือนกับการเลื่อนเงินเดือนประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และระดับผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากมีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำและสูงเหมือนกัน สำหรับการเลื่อนเงินเดือนแบบใหม่ของครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบมหม่จะต่างจากเดิมคือ เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละ โดยใช้ฐานเงินเดือนและช่วงเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในแต่ละรอบการประเมิน ได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ ส่วนที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาบางคนกังวลว่า ฐานการคำนวณบางช่วงจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบนั้น ผมมองว่าแต่ละช่วงมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบสลับกัน โดยผู้ที่อยู่ในช่วงเงินเดือนน้อย จะได้เปรียบกว่าผู้ที่ช่วงเงินเดือนสูงกว่า “นายพินิจศักดิ์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามศธ.จะต้องนำร่างกฎก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนฯ แบบใหม่ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ก่อนประกาศใช้ปีงบประมาณ2561 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image