‘เสกสรรค์’เหน็บ’ปัญญาชนยุคใหม่’ มีศักยภาพแค่โลกเสมือนจริง โต้กันเองมากกว่าผนึกกำลัง

ช่วงหนึ่งของการปาฐกถา “ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0” ในงานสัมมนา Direk’s Talk ที่ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดขึ้น นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.ได้กล่าวถึงปัญญาชนและนักวิชาการ ตอนหนึ่งว่า

“ผมอยากจะเอ่ยถึงด้วยความเกรงใจคือปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็นผศ. รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง เท่าที่ผมสังเกตเห็น ซึ่งอาจจะเป็นการมองผิดไปก็ได้ ผมรู้สึกว่าปัญญาชนที่ถือตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ค่อยคอนเน็กต์กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเท่าใด ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นในเฟซบุ๊ก กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชน โดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับเรื่องนี้ ผมเองค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจ ทั้งนี้เพราะสมัยทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 บรรดานักศึกษา ปัญญาชน และนักวิชาการ พากันเข้าหาประชาชนจนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน ครั้นเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ในการพ่ายแพ้ ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่เป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์ ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

เสกสรรค์ ระบุอีกว่า “การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงต้องหาทางเอา 10 สู้ 1 เสมอ เพื่อให้คนส่วนใหญ่อยู่ข้างเดียวกับตนไม่ใช่เอา 1 สู้ 10 แล้วนั่งภูมิใจอยู่ท่ามกลางความพ่ายแพ้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมสงสัยว่าปัญญาชนรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ได้คิดอะไรในแนวนี้อีกแล้ว และสำหรับหลายคน เสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งอาจจะเป็นความคิดก็ได้ หรือโดยไร้ความคิดก็ได้ นับเป็นจุดหมายสูงสุดในตัวของมันเอง มันเป็นไปได้หรือไม่ว่าลัทธิ neoliberal นั้นซึมลึกเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากกว่าที่เราคิด แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนที่ถือตนว่าหัวก้าวหน้า หรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น ระบบเฟซบุ๊กก่อให้เกิดสภาพ 1 คน 1 สำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนัก สิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกันมากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง”

เสกสรรค์ ทิ้งท้ายว่า “และถ้าจะให้พูดตรงๆ ยกเว้นนักวิชาการอาวุโสที่เป็นผู้นำทางความคิดกับนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ในท้องถิ่นแล้ว ผมเห็นว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไปแทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ เลย ด้วยเหตุดังนี้ พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความเห็นของตน matter ในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของพวกเขายังคงเป็นแค่ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image