เสียงสาขาพรรค ค้าน-หนุน ไพรมารีโหวตž

หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ซึ่งมีระบบ ไพรมารีโหวตŽ ที่ให้สมาชิกและสาขาพรรคเลือกสมาชิก เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ปรากฏว่ามีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน

ลองมาฟังเสียงจากอดีตประธานสาขาพรรค อดีต ส.ส.และกลุ่มการเมืองในท้องถิ่นดูว่าเห็นอย่างไรกับ ไพรมารีโหวตŽ

อุดมศักดิ์ นวลนุช อดีตประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า ระบบไพรมารีโหวตดี เนื่องจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชน และสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และคัดเลือกผู้สมัคร แต่เดิมจะเป็นหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นคนเลือก แล้วส่งลงมาให้สมาชิกดำเนินการต่อ บางครั้งบุคคลที่ข้างบนส่งมา เป็นคนที่ในพื้นที่ไม่รู้จัก เป็นใครก็ไม่รู้ ประชาชนเป็นผู้เลือกยังไม่รู้จัก ผลของการเลือกตั้งจึงออกมาไม่ดี

เมื่อพ่อเลือกไม่ได้ นำเสนอลูกก็เลือกไม่ได้ เลยเอาน้องมาแทน ระบบมรดกเขตจึงเกิดขึ้น ส่งต่อไม้ไม่จบ เมื่อเป็นแบบนี้คนใหม่ๆ ที่จะมาเป็นตัวแทนประชาชน จึงไม่มีโอกาส ไหนๆ จะปฏิรูปแล้วควรทำให้ดีไปเลย ให้พ้นจากแบบเดิมๆ อย่าให้มีอำนาจของบุคคลคนเดียว หรือกลุ่มคนที่สั่งแล้วสมาชิกต้องทำตาม เออออไปด้วย ผมหวังว่าการปฏิรูปประเทศจะเกิดสิ่งดีๆขึ้น ไม่ใช่เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ การเลือกตั้งต้องเกิดมิติใหม่ ที่จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุขŽ อุดมศักดิ์สรุป

Advertisement

บวร ศรีเปารยะ ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ จ.เชียงใหม่ ก็เห็นด้วยกับไพรมารีโหวต และเชื่อว่าจะเป็นผลดีระยะยาว แต่ระยะสั้นอาจเกิดปัญหาโกลาหล โดยเฉพาะพรรคเล็กที่ไม่มีเครือข่าย ไม่พร้อมรับสมาชิก ส่วนพรรคใหญ่ไม่น่ามีปัญหา โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ มีฐานสมาชิกแน่นอน มีทะเบียนรองรับ ไม่ใช่ทะเบียนผี จึงไม่เดือดร้อนกับเรื่องดังกล่าว

สาขาพรรคยังคงรับนโยบายจากพรรค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เน้นย้ำตลอดให้สาขาพรรคปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ให้ปฏิบัติตามนโยบายพรรคเป็นหลัก คงไม่สามารถฟังคำสั่งจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคได้ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯอีกสมัย เพราะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพรรคแล้วŽ บวรสรุป

ด้าน สันติ ตันสุหัช อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคความหวังใหม่ ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็เห็นด้วยกับระบบไพรมารีโหวต โดยระบุว่า ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกพรรค และอยู่ในพื้นที่ รู้ว่าใครทำงาน เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เป็นการให้โอกาสผู้เสนอตัว หรือผู้สมัคร ที่มีผลงาน ไม่ใช่นอมินีที่กรรมการบริหารพรรคส่งมา แต่ไม่เคยทำงานในพื้นที่ บางรายมีเงินและมีชื่อเสียงบ้าง พอได้เป็น ส.ส.ก็หายหน้าไปเลย ไม่ลงพื้นที่พัฒนาชุมชน พอเลือกตั้งก็แจกเงินซื้อเสียง เป็นปัญหาหมักหมมมากว่า 20 ปีแล้ว

Advertisement

อยากให้แก้กฎหมายพรรคการเมือง ให้อดีต ส.ส.หรือสมาชิกพรรค สามารถย้ายพรรคได้อย่างอิสระ ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และไม่เก็บค่าสมาชิกพรรคปีละ 100 บาท เพื่อให้ทุกพรรคมีโอกาสหาสมาชิกได้มากขึ้น เป็นการลดช่องว่างระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก เชื่อว่าระบบดังกล่าวให้โอกาส ความเท่าเทียมเสมอภาคผู้ที่เป็นตัวแทนพรรค มั่นใจว่าระบบใหม่ดีกว่าระบบเดิมแน่นอนŽ สันติแนะนำ

ขณะที่ วิทยา ทรงคำ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับระบบไพรมารีโหวต โดยให้เหตุผลว่า จะสร้างความแตกแยกภายในพรรคได้ เพราะมีการแข่งขันสูง หากเลือกนาย ก. เป็นตัวแทนลงสมัคร นาย ข. อาจไปช่วยพรรคอื่นหาเสียงแทน ทำให้พรรคการเมืองขาดเอกภาพ อ่อนแอลง

แต่หากเป็นกฎหมายออกมาก็ต้องปฏิบัติตาม ผู้เสนอตัวหรือผู้สมัครต้องพร้อมเลือกตั้ง ไม่ว่าแข่งในพรรคหรือนอกพรรค เชื่อว่าผู้สมัครไม่มีปัญหา หากมีผู้เสนอตัวคนเดียว ดังนั้นสมาชิกและสาขาพรรคแต่ละเขต อาจพูดคุยกันก่อน เพื่อพิจารณาคัดเลือกตัวแทนพรรคลงสมัครอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังŽ วิทยาให้ความเห็น

ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงเชียงใหม่ บอกว่า เคยเสนอให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนำร่องคัดเลือกผู้สมัครทั่วประเทศ แต่พรรคปฏิเสธแนวทางดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่จะใช้ระบบไพรมารีโหวต ให้สมาชิกและสาขาพรรคมีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับลักลั่นกันอยู่ ควรแก้กฎหมายพรรคการเมืองและเลือกตั้ง ให้สอดคล้องกันก่อน

ร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลกระทบพรรคเล็ก ที่จะหาสมาชิกได้ยาก เนื่องจากมีกฎหมายพรรคการเมืองบังคับให้ชำระค่าสมาชิกพรรคปีละ 100 บาท ดังนั้น พรรคเล็ก สมาชิกบางเขต อาจไม่มีผู้สมัครเลย ทำให้เสียโอกาสการพัฒนาการเมือง

ทางออกควรยืดหยุ่นกฎหมายให้ใช้บังคับเฉพาะเขตที่มีการแข่งขันสูง หรือมีประชากรจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา บางรัฐกำหนดให้มีไพรมารีโหวตแบบปิด และแบบเปิด หรือเปิดกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะแบบปิด ให้เลือกกันภายในพรรคเท่านั้น เพื่อสรรหาบุคคลมีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นตัวแทนพรรคแข่งกันพรรคอื่นŽ ด.ต.พิชิตแนะนำ

ขณะที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง อดีต ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย บอกว่า ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าไพรมารีโหวตจะดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่แบบเดิมผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และผู้บริหารพรรคจะเป็นผู้คัดเลือกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละพื้นที่ การคัดเลือกของพรรคจะดูว่าเป็นผู้ที่ประชาชนยอมรับ นับถืออยู่แล้ว ถือว่าเป็นการกลั่นกรองจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แต่หากนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ จะเป็นการคัดเลือกซ้ำซ้อน อีกทั้งยังไปสร้างข้อจำกัดของพรรคเล็กๆ ที่จะหาตัวบุคคลเข้ามาสมัคร ส.ส.แข่งกับพรรคใหญ่ๆ อีกด้วย

สิ่งที่กังวลมากที่สุดก็คือเรื่องระยะเวลา อย่างเช่นกรณียุบสภา จะให้เวลาเตรียมเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 60 วัน การสรรหาบุคคลมาสมัคร ส.ส.ตามระบบไพรมารีโหวต มีหลายขั้นตอน ถ้าพรรคต้องการสรรหาบุคคลผู้สมัคร ส.ส.ทั้งประเทศ อาจจะทำไม่ทัน

ถ้านำระบบไพรมารีโหวตมาใช้จริงในอนาคต นักการเมืองหน้าใหม่อาจจะเข้ามายาก เพราะนักการเมืองหน้าเดิมมีฐานคะแนนเสียงอยู่แล้ว แม้จะใช้ระบบอะไรประชาชนก็จะเลือกคนหน้าเดิมๆ ที่เข้าใจถึงความต้องการของพวกเขา ให้เข้ามาเป็นผู้แทนของพวกเขา

เป็นการมองกันคนละมุมกับ ไพรมารีโหวตŽ ด้วยเหตุผลต่างของแต่ละคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image