“แอมเนสตี้” ชมไทยรองรับผู้ลี้ภัยมาหลายสิบปี วอนคุ้มครองทางกฎหมายเพิ่ม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่แถลงการณ์เนื่องใน “วันผู้ลี้ภัยโลก” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ระบุว่า ยินดีที่ไทยรองรับผู้ลี้ภัยมานานหลายทศวรรษ ชี้ยังมีการละเมิดสิทธิผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการส่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลตุรกีกลับประเทศเมื่อเดือนก่อน เรียกร้องคุ้มครองทางกฎหมายมากขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเนื่องใน “วันผู้ลี้ภัยโลก” ปี 2560 ระบุว่า ยินดีที่ประเทศไทยรองรับและให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยแม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 แต่ก็ยังให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่ทางการไทยไม่ได้บังคับส่งกลับ แต่ยืนยันให้มีการส่งกลับโดยสมัครใจแทน

นอกจากนี้ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัยเมื่อเดือนกันยายน 2559 และเวทีนานาชาติอีกหลายโอกาส ทางการไทยเน้นย้ำโดยตลอดว่าจะคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย พัฒนาระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย และปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัย (refugees) และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) ที่ลี้ภัยยังไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย ทำให้พวกเขาถูกปฏิบัติในฐานะ “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกจับติดคุกอย่างไม่มีกำหนดและบังคับส่งตัวกลับไปยังพื้นที่อันตราย

Advertisement

ปัจจุบัน คาดว่ามีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ราว 330 คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์กักตัวคนต่างด้าวซึ่งมีสภาพแออัดและเลวร้าย โดยบางคนถูกควบคุมตัวมานานหลายปีแล้ว นอกจากนี้มีรายงานว่าคนจากชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น ชาวม้งลาว ไม่สามารถขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ได้ เป็นเหตุให้พวกเขาไม่มีโอกาสถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเคยละเมิดหลักการไม่ส่งกลับซึ่งเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศ กรณีล่าสุดคือเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ทางการไทยส่งตัวนายเอ็ม ฟูรกาน เซิกเม็น (M. Furkan Sökmen) กลับตุรกีผ่านกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แม้ว่าสหประชาชาติจะเตือนแล้วว่าเขาเสี่ยงจะถูกคุกคามหากถูกส่งตัวกลับไปยังตุรกี กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยคนอื่นๆ ในประเทศไทยเกิดความหวาดกลัว

แอมเนสตี้จึงเรียกร้องทางการไทยให้รับประกันว่าจะไม่มีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย มีนโยบายและกรอบกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยมากขึ้น ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะพำนักชั่วคราวในประเทศไทยระหว่างที่รอการพิจารณาส่งตัวไปยังประเทศที่สาม

การให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่คู่กับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2513 โดยปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ประมาณ 100,000 คน และยังมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอีกราว 8,000 คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ผู้ลี้ภัยในไทยมาจากหลายที่ เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image