‘ชำนาญ’ วิพากษ์ปาฐกถา ‘เสกสรรรค์’ แย้งความเคลื่อนไหวการเมืองเกิดจากพลังโซเชียล-ไม่หมดหวังสังคม ปวศ.ทั่วโลกให้บทเรียนเผด็จการมาแล้ว

จากที่ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แสดงปาฐกถาเรื่อง “การเมืองไทย กับ สังคม 4.0”

คลิกอ่าน เสกสรรค์ ชำแหละการเมืองไทย ชี้ ‘ชนชั้นนำภาครัฐ’ จะมีอำนาจนำต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า9-10 ปี

และ ‘เสกสรรค์’เหน็บ’ปัญญาชนยุคใหม่’ มีศักยภาพแค่โลกเสมือนจริง โต้กันเองมากกว่าผนึกกำลัง

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เผยแพร่ความเห็นแย้งต่อปาฐกถาดร.เสกสรรค์ในรายประเด็น ดังนี้

Advertisement

วิพากษ์ปาฐกถาเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ชำนาญ จันทร์เรือง

พลันที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถา เรื่อง “การเมืองไทย กับ สังคม 4.0” ในงานเสวนา “Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ” จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มิถุนายน 2560 จบลง การวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อนในโซเชียลมีเดีย และตามมาด้วยการเสนอข่าวในสื่อกระแสหลักในวันถัดมา

แน่นอนว่ามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งเห็นด้วยบางประเด็นไม่เห็นด้วยบางประเด็น ฯลฯ บ้างไปไกลถึงขนาดโจมตีว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นเสกสรรค์หายไปไหน ในฐานะที่เป็นนักวิชาการซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอาวุโสตามความหมายของอ.เสกสรรค์หรือเปล่าก็อดเสียไม่ได้ที่จะต้องออกมาให้ความเห็น เพราะมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบในฐานะนักวิชาการเช่นกัน แต่จะให้ความเห็นเฉพาะที่เห็นต่างเท่านั้นโดยไม่จำต้องให้ความเห็นในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแต่อย่างใด เพราะเป็นหลักวิชาทางรัฐศาสตร์ที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว เว้นเสียแต่ว่าจะตะแบงกันไปข้างๆคูๆของพวกเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการหรือนักวิชาการเครื่องซักผ้าน่ะครับ

1.เสกสรรค์ –ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญ2560 ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี แน่ล่ะ ถ้าพูดถึงตัวบุคคลหรือแม้แต่ คสช. การสืบทอดอำนาจอาจไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐแล้วการต้องการพื้นที่ถาวรและอำนาจนำทางการเมืองเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ความเห็นแย้ง ผมคิดว่า คสช.ไม่มีกึ๋นอะไรขนาดนั้นหรอกครับ คิดเป็นอยู่อย่างเดียวคือทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เสียของ ตอนนี้เลยเสียหมด กอปรกับสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ เมื่อผนวกเข้ากับภาวการณ์ที่รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากหรือเรียกได้ว่าแก้ไขไม่ได้เลยนั้นย่อมนำมาสู่ภาวะที่อึดอัดขัดข้องและนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุดด้วยวิธีการ 2 แบบ คือ 1.การทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง หรือ 2.การลุกฮือขึ้นมาของประชาชน ซึ่งอย่านึกว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะเมื่อถึงภาวะฟางเส้นสุดท้ายหรือpoint of no return แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้

อนึ่ง การวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยจะดูเฉพาะเพียงปัจจัยที่ปรากฏภายนอกไม่ได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เพราะแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วยังเปลี่ยนแปลงได้

2.เสกสรรค์ –  ดังนั้น การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทางคือ ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบเกี้ยเซียะ ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจผนึกกำลังทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ มีข้อเสนอแนะข้อโต้แย้งที่แตกต่างจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศเรา

ความเห็นแย้ง มีความเป็นไปได้เพียงทางเดียว คือ นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่ได้กุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งหมายความรวมถึงพรรคเพื่อไทยที่ถึงแม้จะถูกกระทำมาอย่างหนักก็ตาม เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมืองนั่นเอง

3.เสกสรรค์ –  “…ปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็น ผศ.รศ. คอลัมนิสต์หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง”

“…ปัญญาชนที่ถือตนว่าเป็นเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ค่อย connect กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเท่าใด ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นใน Facebook  กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชน โดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

“…หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกันมากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลัง”

“…ผมเห็นว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆเลย”

“ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความเห็นของตนmatterในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของเขายังคงเป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง

ความเห็นแย้ง

3.1 ปัญญาชนส่วนใหญ่อาจจะพอใจกับการออกความเห็นในFacebookนั้นไม่จริงเสมอไป เพราะปัญญาชนส่วนใหญ่ตามความหมายของ อ.เสกสรรค์ ที่ว่าคือ ผศ.รศ. คอลัมนิสต์หรือนักวิชาการอิสระ นั้นหลายคนไม่เล่นFacebookเลยก็ว่าได้ หรือบางคนอาจจะมีเพียงบัญชีเพื่อไว้ดูโดยแทบจะไม่ได้ออกความเห็นอะไรเลย ในทางกลับกันในคำกล่าวที่ว่าศักยภาพทางการเมืองของเขายังคงเป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริงนั้นก็ไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปัจจุบันนี้หลายๆครั้งก็เป็นผลมาจากพลังทางโซเชียลมีเดียเหล่านั้น

กาลเวลาผ่านไปสภาวะแวดล้อมย่อมเปลี่ยนไป การถวิลหาการเมืองในรูปแบบของการจัดตั้งในรูปแบบๆเดิมๆนั้นทำไม่ได้ แม้ในอดีตเองก็ตามที่นักศึกษาปัญญาชนหนีเข้าป่า การจัดตั้งก็มาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มิได้มาจากนักศึกษาปัญญาชนแต่อย่างใด

3.2 ส่วนที่ว่าหลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกันมากกว่าจะสร้างขบวนทางปัญญาที่มีพลังนั้นอาจจะจริงบ้างเพราะเป็นธรรมชาติของปัญญาชนทั้งหลายที่มักจะขัดแย้งและเสียดีกันเอง แต่เมื่อใดมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นเขาเหล่านั้นจะมารวมตัวกันออกแถลงการณ์หรือจัดกิจกรรมร่วมกัน แต่จะให้รวมตัวกันอย่างมั่นคงถาวรนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่ในอดีตก็ไม่เคยมีสิ่งที่ว่านี้เช่นกัน

นอกเหนือจากธรรมชาติของปัญญาชนหรือนักวิชาการที่รวมตัวกันอย่างถาวรยากแล้วเมื่อประกอบเข้ากับคำสั่งของ คสช.และการจับกุมคุมขังหรือการเรียกไปอบรมหรือข่มขู่(เรียกเพราะๆว่าการปรับทัศนคติ)รวมถึงการไปคุกคามถึงที่บ้านและครอบครัวด้วยแล้ว ผมเห็นว่าปัญญาชนหรือนักวิชาการไทยสายประชาธิปไตยทำได้ขนาดนี้ก็เก่งแล้ว

3.3 สำหรับประเด็นที่ว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆเลยนั้นก็เช่นเดียวกันเพราะตั้งในอดีตที่ผ่านมาปัญญาชนหรือนักวิชาการก็เข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือน้อยอยู่แล้ว เพราะมหาวิทยาลัยไทยนั้นตายสนิทมาหลายปีแล้ว ก่อนยุค 14 ตุลาเสียด้วยซ้ำไป

กล่าวโดยสรุปก็คือผมยังไม่หมดหวังสำหรับสังคมไทย เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองของทั่วโลกได้ให้บทเรียนที่เจ็บแสบแก่เหล่าเผด็จการทั้งหลายมาแล้ว อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image