สามี’หญิงท้อง’ตกรางแอร์พอร์ตลิงก์ปัดทะเลาะกัน แต่ภรรยาหน้ามืดวูบบ่อย ยังไม่แจ้งข้อหา พ.ข.ร.

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่กองบังคับการตำรวจรถไฟมี พล.ต.ต.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) แถลงกรณี น.ส.รสรินทร์ เปลี่ยนหล้า อายุ 31 ปี หญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน ที่พลัดตกลงในรางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีบ้านทับช้าง จนถูกรถไฟทับเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนว่า ในส่วนของการเรียกพยานมาสอบปากคำและการตรวจสอบสภาพแวดล้อม กล้องวงจรปิดเพื่อประกอบสำนวนคดี พร้อมกล่าวว่า จากการสอบปากคำสามีของผู้ตายให้การว่าตนและภรรยาอาศัยอยู่ที่บ้านพักย่านบ้านทับช้าง โดยในการเดินทางไปทำงานของภรรยาที่บริษัทย่านสาทรก็ใช้บริการการเดินทางโดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีบ้านทับช้างเป็นประจำทุกวัน โดยช่วงก่อนเกิดเหตุตนได้ขับรถจักรยานยนต์มาส่งภรรยาและไม่ได้มีเรื่องทะเลาะหรือมีปากเสียงกันแต่ภรรยามีอาการวูบหน้ามืดบ่อยครั้ง ก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

พล.ต.ต.สุรพงษ์กล่าวต่อว่า เบื้องต้นพนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำพยานไปแล้ว 6 คน คือ พนักงานรักษาความปลอดภัย 3 คน พนักงานขับรถไฟ 1 คน พยานผู้เห็นเหตุการณ์ 1 คน และสามีผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งจาการสอบสวนนายสุธี อินทาราม พนักงานขับรถไฟ ให้การว่า ตนเป็นพนักงานขับรถขบวนดังกล่าวมาจากสถานีสนามบินสุวรรณภูมิโดยจะนำขบวนรถไปเข้าโรงเก็บที่สถานีมักกะสันไม่มีการจอดที่สถานีบ้านทับช้าง แต่เมื่อมาถึงสถานีบ้านทับช้างประมาณ 100 เมตร มีสัญญาณเตือนให้หยุดรถแต่เนื่องตนขับมาด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงประกอบกับระยะทางไม่เพียงพอต่อการหยุดรถ ส่วนการสอบปากคำบุคคลอื่นให้การตรงกันว่า พบว่าผู้เสียชีวิตยืนรอรถไฟอยู่หลังเส้นปลอดภัย ก่อนจะมีการเซและเป็นลมตกลงไปในรางจนเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พยายามกดปุ่มฉุกเฉินและเป่านกหวีด ส่งสัญญาณให้หยุดรถแต่ก็ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน โดยขณะนี้ยังไม่แจ้งข้อหาใดกับคนขับ เพราะยังไม่เข้าข่ายกระทำการโดยประมาท

พล.ต.ต.สุระพงษ์กล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีที่มีผู้ให้ข้อมูลว่าพบผู้เสียชีวิตร้องไห้ก่อนเกิดเหตุนั่น ตำรวจยังไม่พบกระแสนี้ แต่ขอให้บุคคลดังกล่าวติดต่อเข้าให้ข้อมูลกับทางตำรวจรถไฟโดยด่วน จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดขณะที่สามีมาส่งผู้เสียชีวิตนั้นไม่พบว่ามีปากคำหรือลักษณะท่าทางที่เป็นการบ่งบอกว่าทะเลาะกัน และผู้ตายก็เดินขึ้นบันไดเลื่อนเพื่อไปรอรถไฟตามปกติก่อนที่จะเกิดเหตุ ในส่วนของการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับบริษัทรถไฟไทยนั้นยังไม่เข้าข่ายในข้อหาการกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพราะตามกฎหมายรถไฟมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า รางรถไฟเป็นเขตพื้นที่การเดินรถของรถไฟ หากมีเหตุการณ์การใดๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเสียชีวิตในรางรถไฟนั้นหากญาติผู้เสียชีวิตจะร้องขอความรับผิดชอบจากบริษัทรถไฟ และการจะทำให้รถไฟจะเข้าข่ายความผิดอาญานั้นต้องรอความชัดเจนของหลักฐานและผลการชันสูตรศพจากสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ และผลตรวจสอบระบบการทำงานของรถไฟ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยจากผู้เชี่ยวชาญ จึงจะสามารถสรุปสำนวนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image